อ่านฉลากโภชนาการ หวาน มัน เค็ม กินอาหารแปรรูป-อาหารแช่แข็ง อย่างปลอดภัย

ปัจจัยหลายอย่างที่เกิดขึ้นบนโลก ทั้งการเพิ่มขึ้นของประชากร มลพิษ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม โรคระบาดทั้งในคนและในสัตว์ ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ ส่งผลให้ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพส่วนบุคคลมากขึ้น การมองหาอาหารเพื่อสุขภาพที่ดี ที่ช่วยส่งเสริมการดำเนินชีวิตประจำวันให้กินดี-อยู่ดี มีความสุข กลายเป็นปัจจัยและความจำเป็นในการเลือกซื้ออาหารมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตที่ต้องแข่งกับเวลาในยุคดิจิทัล อาจทำให้ผู้บริโภคละเลยความสำคัญของการอ่านฉลากโภชนาการ GDA  (Guideline Daily Amounts)  ที่ใส่ข้อมูลการตรวจวิเคราะห์ แสดงไว้ข้างบรรจุภัณฑ์ให้ผู้บริโภครับทราบถึงปริมาณพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่เหมาะสมในการเลือกอาหารสำเร็จรูปพร้อมทานอย่างปลอดภัย เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจและประโยชน์ของผู้บริโภค 

สำหรับคนไทยยังคุ้นชินกับการรับประทานอาหารรสจัด จึงมีการเติมเครื่องปรุงประเภท น้ำปลา น้ำตาล ซอส หรือ กระเทียมเจียว ซึ่งมีน้ำมันเป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร แม้อาหารที่แปรรูปแล้วก็มีการเติมเครื่องปรุงต่างๆ เพื่อให้ได้รสชาติที่ผู้บริโภคนิยม ทำให้เกิดการกินซ้ำๆ ทำให้อิ่มและไม่ได้บริโภคอาหารอื่นๆ และได้พลังงานเกินกว่าที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน เป็นสาเหตุให้เกิดการสะสมและเกิดโรคต่างๆ ได้ 

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) และองค์กรเพื่อสุขภาพต่างๆ ของไทย เช่น กรมอนามัย สถาบันโภชนาการ ได้นำเสนอรายงานด้านพฤติกรรมการบริโภคเกลือหรือโซเดียมของไทย พบว่าเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ 2 เท่า จากปริมาณที่ WHO แนะนำ คือ ไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม (1 ช้อนชา) ขณะที่คนไทยทานมากถึง 3,636 มิลลิกรัม ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวมีผลเสียและเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ทำให้ความดันโลหิตสูง นำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคอ้วน และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการปรุงอาหารให้มีรสชาติตามความนิยมและความชอบของผู้บริโภค 

ล่าสุด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กำลังพิจารณาร่วมกับกรมสรรพสามิตเพื่อเตรียมนำ “ภาษีความเค็ม” เข้ามากำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการบริโภคมากประกอบด้วย บะหมี่กึงสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นสำเร็จรูป และขนมกรุบกรอบ เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการบริโภคความเค็มต้องลดลง 30% ภายในปี 2568 และเป็นการส่งเสริมให้ทั้งผู้บริโภคทั่วไปและกลุ่มที่มีโรค NCDs ให้ความสำคัญกับการเลือกทานอาหาร รวมถึงต้องระมัดระวังการรับประทานอาหารที่มีไขมัน หรือรสหวาน มัน เค็ม มากเกินไป หรือกินไม่เหมาะสมและกินซ้ำ จะทำให้ขาดสารอาหารตัวอื่นๆ และโอกาสได้เส้นใยหรือวิตามินต่างๆ ไม่ครบถ้วน ซึ่งควรมีการปรับให้ตรงกับบริบทของสุขภาพ ต้องกินให้เหมาะสมในแต่ละวัน โดยการเพิ่มเครื่องเคียง ผัก ผลไม้ ที่ดีต่อระบบขับถ่าย

ในการเลือกทานอาหารความสะอาดปลอดภัย คุณค่าทางโภชนาการ และแหล่งผลิตและผู้ผลิต เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริโภคต้องคำนึงถึง สำหรับอาหารที่ได้รับความนิยม เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป ควรเลือกผู้ผลิตที่เชื่อถือได้ มีตราสัญญลักษณ์การรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สร้างหลักประกันความปลอดภัย และควรรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ตลอดจนออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยผู้บริโภคที่อยู่ในกลุ่มโรค NCDs ต้องอ่านฉลากโภชนาการก่อนเลือกซื้อ เพื่อลดอาหารที่จะมีผลต่ออาการของโรค  

ปัจจุบัน ภาคเอกชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับสูตรอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ ซึ่งผู้ผลิตอาหารชั้นนำของไทยมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ควบคู่กับการวิจัยและพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ที่เน้นคุณค่าทางโภชนาการเป็นหลัก ตอบโจทย์เทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพที่ดี หรือแม้แต่อาหารสำหรับผู้ป่วยเฉพาะโรค และอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดลล้อม มีการผลิตและวางจำหน่ายเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น หรือ อาจสังเกตุจากตราสัญญลักษณ์ Healthier Logo หรือ Healthier Choice เพื่อความมั่นใจในการบริโภคอาหาร

เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทั้งประเทศ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 374 พ.ศ.2559 กำหนดให้มีการแสดงฉลากโภชนาการและค่าพลังงาน น้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ตลอดจนต้องแสดงข้อความ “บริโภคแต่น้อยและออกกําลังกายเพื่อสุขภาพ” ด้วยตัวอักษรหนาทึบเห็นได้ชัดเจน บนฉลากอาหารบางชนิด เช่น ขนมขบเคี้ยว พวกมันฝรั่งทอดหรืออบกรอบ ข้าวเกรียบทอดหรืออบกรอบ ถั่วและสาหร่ายทอด หรืออบเกลือ หรือ เคลือบปรุงรส คุกกี้ เค้ก เวเฟอร์สอดไส้ อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น  เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและสนับสนุนมาตรการป้องกันปัญหาด้านโภชนาการ.

อาจารย์แววตา เอกชาวนา นักกำหนดอาหารวิชาชีพ