อรรถพร โรจนารักษ์ ชู “IOT” เสริมธุรกิจจัดการพลังงาน

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก และด้วยปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ซึ่งนับวันจะยิ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันแพง และหมดไป ทำให้ต้องตั้งคำถามถึงการรับมือกับความไม่มั่นคงเหล่านี้ว่า ควรต้องอาศัยเทคโนโลยีใดเข้ามาช่วยอนุรักษ์และประหยัดได้ “บริษัทจัดการพลังงาน หรือ ESCO (Energy Service Company)” เป็นกลไกสำคัญหนึ่งที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการอนุรักษ์พลังงานได้อย่างไร เพราะจะเห็นว่าตามแผนปฏิรูปพลังงานกำหนดชัดว่า ไทยต้องลดการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ และหันมาพึ่งพาพลังงานทดแทนเพิ่มปีละ 30% แต่ประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย “ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “นายอรรถพร โรจนารักษ์” นายกสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย

3 รูปแบบการลงทุน

ปกติแล้วมีการลงทุน 3 รูปแบบที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการหันมาลงทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน คือ 1.ผู้รับบริการจะเป็นผู้ลงทุนเอง โดย ESCO รับประกันผลดำเนินงานของโครงการ พร้อมกับทำสัญญาพลังงานระหว่างผู้รับบริการ ซึ่ง ESCO จะประกันผลประโยชน์สุทธิของโครงการ หากผลประโยชน์สุทธิของโครงการต่ำกว่าที่กำหนดในสัญญา แล้ว ESCO จะชดเชยส่วนที่ขาดให้ผู้รับบริการ แต่ในทางตรงกันข้าม หากผลประโยชน์สุทธิสูงกว่าสัญญากำหนด ผู้รับบริการต้องแบ่งผลประโยชน์สุทธิส่วนที่สูงกว่าการรับประกันให้ ESCO (ตามที่ตกลงกัน)

หรือ 2.ESCO เป็นผู้รับผิดชอบเงินลงทุน ตรงกันข้ามกับข้อแรกนิดหน่อย และรับความเสี่ยงค่าใช้จ่ายที่ได้ลงทุนก่อนแล้วนำเอาผลประโยชน์สุทธิของโครงการที่สามารถดำเนินการได้มาแบ่งผลประโยชน์ระหว่าง ESCO กับผู้รับบริการ ตามข้อตกลงในสัญญาพลังงาน หรือ 3.การประกันค่าพลังงาน หรือต้นทุนสาธารณูปโภค (guaranteed rebate/chauffage) รูปแบบนี้ผู้รับบริการหรือ ESCO เป็นผู้ลงทุนก็ได้ โดย ESCO จะเป็นผู้รับประกันการผลิตพลังงานตามราคาที่ตกลงให้กับผู้รับบริการ ซึ่ง ESCO จะเข้าไปปรับปรุงติดตั้งอุปกรณ์จ่ายพลังงานและเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบระบบการจ่ายพลังงานตลอดระยะเวลาในสัญญา ผู้รับบริการมีหน้าที่จ่ายเงินตอบแทนเป็นค่าพลังงานตามข้อตกลงในสัญญา ทั้งสามรูปแบบก็ล้วนแล้วแต่จะช่วยกระตุ้นการอนุรักษ์เซฟพลังงาน

สองข้อแรกไม่ค่อยมีปัญหา แต่ข้อที่ 3 shere saving รูปแบบนี้เหมาะกับองค์กร โรงงานที่เข้าถึงได้ยาก และไม่มั่นใจ เอสโกก็เข้าไปลงทุนให้ก่อนแล้วมาแบ่งสัดส่วน แต่ถ้าดูแล้ว ESCO มีส่วนช่วย 2 ส่วน ทั้งต้องเน้นเรื่องการอนุรักษ์พลังงาน และช่วยผู้ประกอบการติดตั้ง เพื่อยืนยันซึ่งกันละกันว่าถ้าทำแล้วจะประหยัดลงเท่าไร

ช่วง 9 ปีที่เอสโกดำเนินการมา ยึดหลักว่าหากไปลงทุนแล้วยังไม่ลดการใช้ หรือลดต้นทุนได้จริง เราจะจ่ายส่วนต่างให้ จะเห็นได้ว่ามีโรงงานกว่า 10,000 แห่ง ส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการก็สามารถลดการใช้พลังงานได้แล้ว 30% นั่นคือแนวทางที่เราต้องทำและเราทำได้

ภาพรวมและแนวโน้ม ESCO

ต้องยอมรับว่าปีนี้ที่เน้นเรื่อง IOT (internet of things) เป็นพิเศษ ซึ่งรัฐบาลกำหนดเป็นนโยบายหลัก ส่วนพลังงานทดแทนจะมุ่งเน้นการทำ smart grid ซึ่ง smart meter-smart grid ทั้งหมดนี้จะผนวกรวมโดยใช้เทคโนโลยี IOT มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้าให้ดีกว่าในอดีต และที่สำคัญคือการนำเอา energy storage เทคโนโลยีกักเก็บพลังงานขั้นสูงมาใช้ในไทยมากขึ้น และพลังงานแสงอาทิตย์

เอสโกเป็นกลไกของรัฐ สิ่งที่รัฐให้นโยบายมาทั้งหมดต้องจัดการให้ได้ แต่ทั้งหมดอาจต้องใช้เวลา ยกตัวอย่าง เรื่อง energy storage เป็นเรื่องใหม่มาก คุยกันเองในกลุ่มผู้ประกอบการว่าปัญหา ราคา ต้นทุน ถ้าจะนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ยังไม่คุ้มทุน มีความเสี่ยงที่จะลงทุน เหมือนกับโซลาร์เซลล์ในอดีต แต่พอเทคโนโลยีเปลี่ยนก็ส่งสัญญาณต้องปรับตามเทรนด์ การย้ายฐานผลิตมาไทย เชื่อว่าพอราคาลดลงจะเป็นคีย์หลักในการผลิตไฟฟ้า เพราะตอนนี้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีโครงการนำร่องออกมา เพื่อจูงใจให้โรงงานหรือภาคเอกชนมาใช้ แต่ถ้าโรงงานหรืออาคารพาณิชย์ ถามว่าวันนี้ให้ลงทุนเลยได้ไหม ก็ยังมองว่าไม่คุ้มค่า ราคาสูง นี่เป็นอีกโจทย์ที่ต้องคุยกัน

นโยบาย IOT รัฐมาถูกทาง

IOT ถือเป็นเทคโนโลยีหลักที่รัฐสนับสนุน คาดหวังว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยผลักดันอย่างจริงจัง จูงใจผู้ประกอบการมากขึ้น แม้ IOT พัฒนาจากต่างประเทศ คนเลยมองว่าเป็นเรื่องใหม่ ปกติแล้วโครงการอะไรก็แล้วแต่ที่เป็นเรื่องใหม่ ภาครัฐต้องลงไปทำก่อน ทั้ง พพ. หรือ กฟภ. กฟผ. กำลังผลักดัน

โครงการนี้อยู่ โดยพัฒนาระบบโครงข่ายส่งไฟฟ้าอัจฉริยะแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ยกตัวอย่าง เช่น โครงการนำร่องการอนุรักษ์พลังงานในหน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น โรงพยาบาลที่เชียงใหม่ ผลที่ออกมาดีมาก เพียงแต่สเกลน้อยและต้องใช้เวลาเกิน 10 ปี ถ้าลดลงมา 5 ปีก็ดี

เทรนด์อนุรักษ์พลังงานปี”62 


ทุกอย่างกำลังไปได้ดี IOT เป็นตัวแปรที่ดี เทคโนโลยีใหม่ ๆ สำคัญมาก ภาครัฐได้คิดและทำสิ่งใหม่ ๆ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ ทั้งกองทุนและมาตรการกระตุ้น แต่ถามว่า IOT เข้ามาแทนรูฟท็อปเลยไหม ส่วนตัวมองว่า การจะลงทุนอะไรก็ต้องดูปัจจัยเศรษฐกิจ ซึ่งปีนี้ยังนิ่ง ๆ ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาการเมือง แต่ปีหน้าจะดีขึ้นตามสถานการณ์และเศรษฐกิจที่น่าจะดีขึ้น แต่หลัก ๆ ธุรกิจก็จะล้อตามเทคโนโลยี ถ้าเทคโนโลยีขยายตัวการอนุรักษ์พลังงานก็จะสูงขึ้น และแน่นอนว่าเทคโนโลยีจะบีบให้ทุกคนต้องเร่งปรับตัว