เอฟเฟ็กต์ควบรวมทรูดีแทค กับการปรับโครงสร้างพนักงาน 2 ค่าย

ศาลปกครองนัดไต่สวนคดีควบรวมทรูดีแทค

หลังมติควบรวม ทรู-ดีแทค อาจมีการปรับโครงสร้างพนักงาน 20-30% แหล่งข่าวคาด “ไม่มีเลย์ออฟ” ด้าน กสทช. เตรียมรับมือภาคประชาชนยื่นฟ้อง 

วันที่ 22 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) เมื่อค่ำคืนวันที่ 20 ตุลาคมที่ผ่านมา ให้ “รับทราบ” การควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่าง “ทรู-ดีแทค” พร้อมออกเงื่อนไขให้ปฏิบัติตาม

หลายภาคส่วนเริ่มขยับตัวแสดงความคิดเห็นขานรับอภิมหาดีลแสนล้านนี้ ประการสำคัญ คือ ด้านกำลังคนหรือโครงสร้างองค์กรของทรูและดีแทคที่มีอัตรากำลังคนรวมกันปรัมาณ 20,000 คน

การปรับโครงสร้างคน-องค์กร

นายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ถ้าทั้งทรู-ดีแทคมีพนักงานในตำแหน่งที่มีความซ้ำซ้อนกันค่อนข้างมาก คงต้องมีการปรับย้ายตำแหน่งงานนั้น ๆ อย่างแน่นอน แต่ทั้งนั้นคงต้องมาดูผลการดำเนินการของธุรกิจ (business performance) ด้วยว่าผู้บริหารจะให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างไร และเมื่อไหร่”

“ผมจึงมองว่าในระยะสั้น ปรากฏการณ์ของการสับเปลี่ยนกำลังคนยังไม่เกิดขึ้น คงต้องรอให้เกมธุรกิจผ่านไปเสียก่อน แต่ระยะยาวภายใน 1-2 ปี คงเป็นเรื่องของ HR ของทั้ง 2 บริษัทเพื่อจะมาตรวจสอบดูว่า manpower utilization จะไปตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในระยะยาวอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เพราะทุกครั้งที่เกิดการควบรวมกิจการ การสื่อสารภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก กรณีนี้ก็เช่นกัน ต้องสื่อสารให้ดี ไม่เช่นนั้นพนักงานจะเกิดความระส่ำในที่สุด”

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เช่นกัน ว่า ทั้งดีแทคและทรูอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท โดยจะมีการรวมทีมงานในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการคืบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว

และต้องยอมรับว่าการรวมกันจะมีบางส่วนงานที่ซ้ำซ้อน หรือมีจำนวนคนมากไปก็จะต้องมีการปรับให้เหมาะสม โดยปัจจุบันดีแทคมีพนักงานราว 4,000 คน ขณะที่กลุ่มทรูมีราว 16,000 คน เมื่อรวมกันก็จะเกือบ 20,000 คน ขณะที่จำนวนพนักงานที่เหมาะสมน่าจะลดลง 20-30% แต่โดยนโยบายจะไม่มีการเลย์ออฟ

ทั้งนี้ นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบอร์ด กสทช.ให้ TRUE และ DTAC ควบรวมกิจการพร้อมกำหนดเงื่อนไขปฏิบัติตามเพื่อเยียวยาและรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการนั้น

ขั้นตอนต่อไปทาง TRUE และ DTAC จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้เตรียมตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถึงกระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งระหว่างทางก็จะมีการฟ้องศาลฯ โดยศาลฯน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะรู้ว่าคุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง ดังนั้นประเด็นของศาลฯจะเสร็จก่อนการเริ่มซื้อหุ้น

ทั้งนี้ หากศาลฯไม่คุ้มครอง การทำเทนเดอร์หุ้นจะเกิดขึ้นและมีจัดประชุมร่วมกันระหว่าง TRUE และ DTAC โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนหุ้นเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะ แต่ดูแนวโน้มแล้วคาดว่าน่าจะเสร็จประมาณต้นปี 2566