ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้เกิด “ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น” โดยเฉพาะในองค์กรใหญ่ที่ต้องการนำข้อมูล และเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการแข่งขัน ในฝั่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีก็คิดไม่ต่างกันแต่อาจติดขัดเรื่องงบแต่มีเทคโนโลยี และข้อมูลที่ดียังไม่พอต้องมี “โค้ช” หรือที่ปรึกษา ไม่ต้องลองผิดลองถูกเสียเงิน เสียเวลา ล่าสุด “ไวซ์ไซท์” ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า), Etailligence และ ZWIZ.AI เปิดตัว “ZOCIAL EYE” สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และทีม “ZOCIAL EYE TRAINER” เป็นพี่เลี้ยงสอนการใช้ “ข้อมูล”
ดีป้าร่วมด้วยช่วย “เอสเอ็มอี”
“ดร.ปรีสาร รักวาทิน” ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า ธุรกิจขนาดเล็กในไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มการบริโภคและการแข่งขัน ที่มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีดิจิทัลไปมาก เอสเอ็มอีมีความพยายามใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับปรุงกระบวนการ ลดต้นทุน สร้างสินค้า หรือบริการใหม่แสวงหาวิธีการเข้าถึงลูกค้า แต่มีทุนน้อย ดีป้าจึงมีโครงการสนับสนุน เช่น Digital Transformation Fund และ Mini Transformation Voucher อุดหนุนเทคสตาร์ตอัพไทยทำซอฟต์แวร์ให้คนไทยใช้ช่วยบริษัทที่ต้องการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น
ตื่นตัวเกาะเทรนด์ AI
“ชนกานต์ ชินชัชวาล” ซีอีโอ ZWIZ.AI เล่าว่า ZWIZ.AI เป็นเทคสตาร์ตอัพที่พัฒนาเอไอแชตบอต ซึ่งในระยะแรกได้รับทุนรอบ seed round จากดีแทคจนพัฒนาซอฟต์แวร์แชตสำเร็จแต่ก็ยังไม่มั่นใจว่าจะขายได้ไหม กระทั่งมีเอสเอ็มอีรายหนึ่งติดต่อมาว่าอยากได้ AI Chatbot จึงเริ่มรู้ว่ามาถูกทาง และเอสเอ็มอีต้องการใช้งานจริง ๆ
“ปี 2019 เรามีผู้ใช้ 6 พันคน เมื่อดีป้าสนับสนุน และไวซ์ไซท์มาร่วมลงทุน และเป็นพันธมิตรด้วย ทำให้มีลูกค้าเข้ามาใช้เพิ่มขึ้นมาก ปัจจุบันมีกว่า 6 แสนคนแล้ว และตั้งเป้าไว้ว่าต้องการสร้าง social media automation ให้ธุรกิจไทย และขยายไปในอาเซียนในปี 2567”
ล่าสุด เปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ ZWIZ Social Media Automation Platform ช่วยให้การทำงานบนโซเชียลมีเดียเป็นอัตโนมัติ ตั้งแต่การตอบแชต การขาย และทำการตลาด และกำลังจะเปิดตัว ZOZ (สด) ระบบไลฟ์สดแบบใหม่ และ Zerva (เซอร์ว่า) ระบบจองออนไลน์ผ่านโซเชียล
สแกนจุดอ่อนเอสเอ็มอีไทย
“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีทรานส์ฟอร์มธุรกิจมีจุดอ่อนตรงที่เอสเอ็มอีไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกิดขึ้นในการทำธุรกรรมได้
“ถ้ามองภูมิทัศน์อีคอมเมิร์ซปัจจุบันจะเห็นว่ามีมูลค่า 8.18 แสนล้านบาท ในปี 2565 และปี 2566 จะเป็น 9.32 แสนล้านบาท และใน 4 ปี จะไปถึง 1.6 ล้านล้านบาท ธุรกรรมทิ่เกิดขึ้นบนระบบนิเวศอีคอมเมิร์ซจึงเป็นข้อมูลมหาศาลที่ใช้ต่อยอดต่อได้ และเอสเอ็มอีส่วนใหญ่เอาของไปขายบนแพลตฟอร์มอีมาร์เก็ตเพลซ ซึ่งเหลือเจ้าใหญ่ 2 ราย ช้อปปี้ และลาซาด้า ในฝั่งโซเชียลคอมเมิร์ซก็เริ่มโตขึ้นแต่ข้อมูลพฤติกรรมในธุรกรรมมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ไม่เคยกลับมามีประโยชน์กับผู้ขายหรือเอสเอ็มอีเลย”
ทั้งที่ร้านค้าในไทยมีปริมาณธุรกรรมมหาศาล และเป็น “ก้อนข้อมูล” ที่มีนัยสำคัญ ไม่ใช่แค่ว่าลูกค้าเป็นใคร แต่เห็นลึกถึงขั้นว่า “สินค้าอะไรที่คนซื้อ” ทำให้เอสเอ็มอีออกแบบสินค้า และบริการให้เหมาะสมได้ และคิดต่อว่าทำอย่างไรจะทำให้ “ข้อมูล” เหล่านั้นเป็นสินทรัพย์ เป็นหลักประกันการเงินให้ธนาคารให้เงินมาลงทุนต่อ
แนะเปลี่ยนข้อมูลเป็นสินทรัพย์
ในส่วนของโครงการ Etailligence มีฟังก์ชั่นการใช้งานหลัก เป็นข้อมูลภาพรวมตลาดอีคอมเมิร์ซไทย แบ่งเป็น 3 โมดูล 1.shop analysis ทำให้ผู้ใช้เห็นยอดขาย จำนวนร้านค้า สินค้า เจาะลึกไปถึงสินค้าที่ขายดีทำให้วางแผนการตลาดได้แม่นยำขึ้น 2.market insight แสดงข้อมูลบนอีคอมเมิร์ซ และ 3.finance center แสดงความสามารถทางการเงินของร้านค้า ใช้เป็นข้อมูลให้ธนาคารใช้ประกอบการตัดสินใจด้านสินเชื่อได้
“คนขายของออนไลน์แอสเสทอยู่บนอากาศ ซึ่งก็คือฐานลูกค้า จะทำอย่างไรถึงจะนำข้อมูลอินไซต์เหล่านั้นไปแมตชิ่งกับธนาคารหรือน็อนแบงก์ ทำให้ เอสเอ็มอีกู้เงินได้ง่ายขึ้น”
เกาะเทรนด์โซเชียลมีเดีย
“กล้า ตั้งสุวรรณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า ธุรกิจขนาดเล็กมีบทบาทสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโต และพัฒนาเศรษฐกิจมีสัดส่วนกว่า 35% ของ GDP รวมในปี 2565 แต่มีข้อจำกัดด้านการเงิน และคน ซึ่งในฐานะบริษัทเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเข้าใจและเห็นถึงข้อจำกัดนี้ และมองว่า “ข้อมูล” เป็นกุญแจสำคัญในการสร้างข้อได้เปรียบทางธุรกิจ และการฟังเสียงผู้บริโภคบนโลกออนไลน์เป็นทางลัดที่ทำให้เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น
“เรารวบรวมทีมผู้ฝึกสอนที่มีความเชี่ยวชาญมาฝึกอบรม แนะนำการใช้ ZOCIAL EYE ให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กขับเคลื่อนธุรกิจด้วยข้อมูลในราคาที่เข้าถึงได้ เราอาจไม่รู้ว่าอีก 10 ปี โซเชียลมีเดียจะเปลี่ยนไปอย่างไร แต่ที่แน่ ๆ บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีข้อมูลมหาศาล เป็นแหล่งข้อมูลใหม่ ที่มีค่าจึงต้องหาวิธีเก็บข้อมูล และนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้”