
ฟิลิปปินส์ เผชิญวิกฤตตลาดแรงงานเอาต์ซอร์ซ หลังเทคโนโลยี “เอไอ” มีเเนวโน้มเข้ามาทดแทนแรงงาน 1 ใน 4 ขณะที่แรงงานรุ่นใหม่ทักษะภาษาอังกฤษลดลง
วันที่ 7 สิงหาคม 2566 สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ฟิลิปปินส์กำลังพยายามปกป้องส่วนแบ่งในตลาดการจ้างงาน “เอาต์ซอร์ซ” (outsourcing) ที่ทั่วโลกมีมูลค่าเกือบ 300,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ท่ามกลางปัญหาความสามารถของแรงงานที่ถดถอยลง และพัฒนาการของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
รายงานข่าวระบุว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ให้บริการแรงงานเอาต์ซอร์ซอันดับสองของโลก เนื่องจากความแข็งแกร่งของประชากรที่มีทักษะภาษาอังกฤษ เป็นภาษาหลักของประชากร เมื่อถึงทศวรรษที่ 1990 เมื่อเทคโนโลยีโทรคมนาคมพัฒนาอย่างมาก ทั่วโลกต้องการแรงงานด้านการสื่อสาร โดยเฉพาะการให้บริการทางโทรศัพท์ หรือคอลเซ็นเตอร์ ที่สามารถทำงานข้ามโลกได้ ซึ่งการเป็นแรงงานด้านการให้บริการคอลเซ็นเตอร์ ทำให้ขนาดของชนชั้นกลางในฟิลิปปินส์เติบโตต่อเนื่อง ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ความได้เปรียบทางภาษากำลังลดลง จากข้อมูลธนาคารโลกแสดงให้เห็นถึงความถดถอยของคุณภาพการศึกษาในประเทศที่พบว่าเด็กฟิลิปปินส์ 9 ใน 10 คนไม่สามารถอ่านข้อความภาษาอังกฤษง่าย ๆ อย่างเข้าใจได้จนกระทั่งอายุ 10 ขวบ และในภาพรวมฟิลิปปินส์ผลิตบัณฑิตที่มีทักษะการสื่อสาร และเทคนิคที่จำเป็นได้ใน “อัตราส่วนที่ต่ำ” จนอาจสูญเสียโอกาสในการเพิ่มงาน 800,000 ตำแหน่ง ในอีก 5 ปีข้างหน้า
แนวโน้มดังกล่าวส่งผลให้ฟิลิปปินส์กำลังสูญเสียความได้เปรียบในการส่งแรงงานเอาต์ซอร์ซด้านคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวมีสัดส่วนประมาณ 8% ของ GDP และต้องเผชิญกับแรงงานจากผู้เข้ามาใหม่กำลังเสนอราคาเพื่อส่วนแบ่งทางการตลาดที่รุนแรงขึ้น
นอกจากนี้ การพัฒนาเอไอแชตบอตเพื่อทดแทนการใช้คนสื่อสารคำถามง่าย ๆ ทำให้เกิดการเลิกจ้างงานเอาต์ซอร์ซจำนวนมาก นับตั้งแต่การระบาดใหญ่ของโควิด-19
นายแจ็ก มาดริด หัวหน้ากลุ่มการค้า BPOs (Business process outsourcing) ประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า ผู้สมัครงานในฟิลิปปินส์ยังขาดแคลนทักษะพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น การเขียนโปรแกรมและการแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
“ความท้าทายที่ผมได้ยินบ่อยที่สุด คือความเข้าใจทางภาษาที่ล้มเหลวในระดับพื้นฐาน เมื่อก่อนเราพูดภาษาอังกฤษได้ดีกว่านี้ ควรเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาเปลี่ยนกลับไปใช้ภาษาอังกฤษในรูปแบบการเรียนการสอนในโรงเรียนแทนภาษาแม่ของผู้เรียน”
นายมาดริดกล่าวด้วยว่า ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 อุตสาหกรรมเอาต์ซอร์ซของฟิลิปปินส์ได้เพิ่มงาน 255,000 ตำแหน่ง คิดเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าการขยายตัวทั่วโลกอย่างน้อย 1% แสดงว่าประเทศนี้อาจสูญเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับอินเดีย เช่นเดียวกับผู้มาใหม่ เช่น แอฟริกาใต้ อียิปต์ โปแลนด์ โคลัมเบีย คอสตาริกา
ส่วนหนึ่งของปัญหาคือ ในการสมัครงานเอาต์ซอร์ซทุก ๆ 10 คน มีเพียงหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รับการว่าจ้างจากทักษะที่ไม่ตรง และกำลังกลายเป็นปัญหาเร่งด่วนมากขึ้นสำหรับแรงงานที่ใช้ภาษา เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์คุกคามอุตสาหกรรมทั่วโลก และคาดว่า AI และเทคโนโลยีที่คล้ายกันจะเข้ามาแทนที่คนเกือบ 1 ใน 4 ในอุตสาหกรรมเอาต์ซอร์ซของฟิลิปปินส์ภายในปี 2573 ตามรายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย
“ผลกระทบของ AI ต่ออุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และพนักงานต่าง ๆ ควรเริ่มเรียนรู้วิธีใช้เทคโนโลยีใหม่ เพื่อทำให้งานของพวกเขามีประสิทธิภาพมากขึ้น เวลาเตรียมตัว และอัพสกิล แต่เวลาสั้นลง”
อย่างไรก็ตาม ท่ากลางความท้าทายเหล่านี้ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มอุตสาหกรรมยังคงคาดการณ์ว่าจะมีพนักงาน BPO เต็มเวลาเพิ่มขึ้น 6-7% ในปีนี้ จาก 1.57 ล้านคนในปี 2565 ขณะที่รายได้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 7-8% เป็นประมาณ 3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1 ล้านล้านบาท
“กลุ่มอุตสาหกรรม BPO และคณะกรรมการการอุดมศึกษาของฟิลิปปินส์ กำลังริเริ่มโครงการต่าง ๆ รวมถึงการปรับปรุงโปรแกรมการศึกษาด้านไอที เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มปัจจุบันและพัฒนาศักยภาพในภาคส่วนนี้”
โดยมีแผนการขยายตัวของอุตสาหกรรมเอาต์ซอร์ซ ว่าต้องสร้างงานใหม่ 1.1 ล้านตำแหน่ง และกลายเป็นอุตสาหกรรมมูลค่า 5.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ที่มีพนักงาน 2.5 ล้านคน ภายในปี 2571 โดยพยายามเพิ่มการมีส่วนร่วมต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจให้ได้เกือบ 9% เนื่องจากมีเป้าหมายเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในภูมิภาคยุโรป