CONNEXT ED ชูนวัตกรรมสร้างวิถีเรียนรู้ตลอดชีวิต

“พลังประชารัฐ” คือ แนวทางขับเคลื่อนประเทศที่รัฐบาลปักธงจะดึงความร่วมมือของภาคเอกชนชั้นนำของประเทศมาเสริมทัพให้ประเทศไทยก้าวไปสู่”ไทยแลนด์ 4.0″ โดยแยกเป็นแต่ละสาขาการพัฒนา หนึ่งในนั้น คือ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ซึ่งมีโครงการ CONNEXT ED โครงการผู้นำเพื่อการพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน ที่เป็นแกนหลักในการพัฒนาคน

“พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งพัฒนาประเทศด้วยแนวทางขับเคลื่อนประชารัฐ ที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทุกวันนี้ประเทศต้องต่อสู้กับความไม่รู้ ทั้งในด้านการดำรงชีวิต การเรียนรู้ การทำอาชีพ ขณะที่โลกกำลังก้าวสู่การปฏิรูปอุตสาหกรรมในยุคที่ 4 ซึ่งรัฐบาลใช้คำว่า “ไทยแลนด์ 4.0” ที่มุ่งจะพัฒนาให้พร้อมรับกับโลกกำลังเปลี่ยนไปทุกวัน ลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม สร้างวิธีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม

“การพัฒนาการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องผลิตคนให้เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และไม่ใช่แค่ปริมาณ แต่ต้องพร้อมทำงาน มีกระบวนการคิด มีทักษะ ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอย่างที่เห็น มีสถาบันการศึกษาก็เยอะ นักศึกษาจบออกมาก็เยอะ แต่อุตสาหกรรมบอกว่าคนยังขาดแคลน”

“CONNEXT ED เป็นโครงการพัฒนาในวันนี้ที่จะสร้างประวัติศาสตร์ที่ดีในวันข้างหน้า เดิมมี 12 บริษัท วันนี้มี 33 บริษัทเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษาของประเทศ เราจะกระจายไปทุกจังหวัดให้มีส่วนร่วมได้หรือไม่ แผ่นดินของเรา ให้ทุกคนเกิดทุกคนตายก็ต้องเผื่อแผ่แบ่งปันช่วยกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมของโอกาส สร้างหลักคิด หลักการที่ถูกต้อง สร้างภูมิคุ้มกัน ภายใต้องค์ความรู้และคุณธรรม สร้างคนดีคนเก่งมีคุณธรรม เพื่อผลักดันศักยภาพของประเทศ ซึ่งทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยแรงศรัทธาความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำ จึงขอให้ทุกคนในโครงการเดินหน้าด้วยความมั่นใจ 5 ปีข้างหน้า จากการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าทำทุกอย่างตามแผนที่วางไว้ เราจะเข้มแข็งมั่นคงต่อไปในอนาคต”

ด้าน “นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ปีนี้ย่างเข้าปีที่ 3 ของพลังประชารัฐ ที่หลายคนคิดว่าเป็นแค่งาน CSR ของภาคเอกชน แต่ ณ เวลานี้ได้พิสูจน์แล้วว่า มี 4,700 โรงเรียนที่ภาคเอกชนเข้ามาช่วยอย่างมืออาชีพ มีการนำมืออาชีพระดับโลกเข้ามาประเมินเกณฑ์ของโรงเรียนต่าง ๆ เพื่อให้มีการผลักดันการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม และเกิดผลเชิงระบบจริง ๆ ด้วยระบบประเมินการประกันคุณภาพยุคใหม่ที่กำลังจะเริ่มขึ้น จะใช้เกณฑ์นี้กับอีก 40,000 โรงเรียนทั่วประเทศ ที่สำคัญคือ เดิมมี 12 บริษัทเข้าร่วมโครงการ แต่วันนี้มีถึง 33 บริษัทเข้ามาช่วยสนับสนุนแล้ว

“ปัจจุบันโรงเรียนไฮสปีดอินเทอร์เน็ต 99.99% แล้วจากเดิมกว่า 2 ใน 3 โรงเรียนเป็นโลว์สปีดอินเทอร์เน็ต ตอนที่ผมพยายามเข้ามาเปลี่ยนก็ถูกขู่ว่าระบบอินเทอร์เน็ตโรงเรียนจะล่มทั้งประเทศ แต่มีภาคประชารัฐเข้ามาซัพพอร์ตให้ จนผมกล้าลุยต่อ”

โดยมีเป้าหมายจะเป็นกลไกการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นระบบในทุกมิติ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ

“ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน กล่าวว่า โครงการสานพลังประชารัฐด้านการศึกษามีเป้าหมายจะลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างคุณภาพคน และเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

“คาดหวังในการก้าวไปสู่การเปลี่ยนแปลงใน 5 เรื่อง คือ 1.ความโปร่งใสในการชี้วัด ซึ่งเดิมใช้เวลาถึง 6 เดือนเพื่อหารือกับกระทรวงศึกษาฯเพื่อวาง KPI 42 ข้อร่วมกับแมคเคนซี่ แบ่งโรงเรียนเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่เพิ่งพัฒนา จนถึงโรงเรียนที่มีโมเดลยอดเยี่ยม มีนวัตกรรมในการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นกระจกสะท้อนในการปรับตัวและวางแผนที่จะนำไปสู่ข้อ 2. คือ ผู้ปกครอง ชุมชน และกลไกตลาดในการเชื่อมโยงความต้องการของบุคลากรกับระบบเศรษฐกิจ ที่คาดหวังกับระบบการศึกษาไทย 3.ผู้นำโรงเรียนและครู ที่จะร่วมพัฒนากับจิตอาสาภาคเอกชน 4.การมีเด็กนักเรียนเป็นศูนย์กลาง ที่จะมีการปรับตัวชี้วัดของครู นอกจากผลการสอบแล้วยังต้องมีมิติอื่น ๆ อาทิ สมุดพกดิจิทัล ที่ทำให้เกิดความโปร่งใสชัดเจน มีครูให้ความเห็นต่อนักเรียนหลายคน และแชร์ข้อมูลไปสู่ผู้ปกครอง 5.การแชร์ด้านเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลคอนเทนต์ การนำคอมพิวเตอร์ไปถึงทุกห้องเรียนและเด็กทุกคน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงความรู้และพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการสร้างวิถีการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับนักเรียนและชุมชน”

ฟาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น “นพปฎล เดชอุดม” รองประธานคณะกรรมการบริหาร กล่าวว่า ได้เข้าร่วมสนับสนุนในโครงการ ICT Connectivity เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงกับโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ 1,294 โรงเรียน เพื่อให้มีโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่เท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ และโครงการอุปกรณ์และสื่อ ICT เพื่อการศึกษา ที่เข้าไปช่วยติดตั้งอุปกรณ์และสื่อ ICT เพื่อการเรียนรู้ 39,829 ห้องเรียน ใน 3,351 โรงเรียน ติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมพร้อมช่องรายการสาระความรู้ทั้งในและต่างประเทศกว่า 80 ช่อง รวมถึงโครงการ ICT Talent โครงการผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ที่จะคัดเลือกบุคลากรเข้ามาเผยแพร่ความรู้ด้านไอซีทีให้กับนักเรียน ครู และขยายสู่ชุมชน ให้นำไอซีทีไปใช้ในการเรียนรู้และประกอบอาชีพ ทั้งยังมีการตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนในภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงกลไกการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนสู่การพัฒนาทักษะวิชาการและวิชาชีพ ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง