แล้วคุณเลือกสายไหน iPhone VS Android (1)

(Photo by Saeed KHAN / AFP)

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

 

ต้องบอกก่อนว่าตอนนี้เวลาเจอใครมักถามก่อนว่า คุณอยู่สายไหน สาย iPhone หรือ Android จริง ๆ ส่วนตัวผมอยู่ฝั่ง Android มาตลอด เพราะเป็นคนใช้ Google Suite ทั้ง Gmail, Calendar, Google Drive ที่ใช้ทั้ง Docs, Sheets, Slides และอื่น ๆ อีกหลายตัว แต่มีมือถืออีกเครื่องอยู่ฝั่ง Apple ผมใช้ iPad เป็นเครื่องมือหลักในการทำงาน ฉะนั้น จึงเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้ Android กับ iOS

โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายเทคโนโลยีจะอยู่ในสายใดสายหนึ่งเลยไม่ได้ บางครั้งก็ปวดหัวเวลาที่ต้องเป็นลูกครึ่งระหว่าง Android กับ iPhone ทำให้ทำอะไรบางอย่างเป็นลูกครึ่งด้วยเหมือนกัน

ปัญหาการใช้งานแบบลูกครึ่งสำหรับบางคน คือการส่งรูปภาพระหว่างเครื่องมือ เช่น รูปจากมือถือส่งไปไอแพด หรือไอแพดมามือถือหรือคอมพิวเตอร์ ต้องส่งไปมาหลายทอด ต้องอัพขึ้นคลาวด์ก่อน ฯลฯ

หรือปัญหาอีกอย่าง คือ บางครั้งอยากใช้ Apple Watch แต่มือถือหลักเป็น Android คุยกันไม่ได้ ซึ่งตัว Apple Watch ตัวใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาน่าสนใจมาก

ตัวนี้เหมาะมากกับผู้ใหญ่ที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป เพราะมีความสามารถที่จะจับได้ว่าผู้ที่สวมใส่อยู่มีการล้มหรือไม่ หากมีการล้มลงลูกหลานหรือคนใกล้ชิดจะทราบได้ในทันที

ผมอยากแนะนำให้ลองใช้ แต่ติดอยู่ที่แค่ว่าต้องเชื่อมกับมือถือระบบ iOS เท่านั้น

เมื่ออุปกรณ์ต่าง ๆ รอบตัวเราแบ่งเป็น 2 ค่ายหลัก ๆ คือ iPhone กับ Android และ iPhone เองก็เพิ่งเปิดตัวออกมาใหม่ 3 รุ่น คือ iPhone Xs, iPhone Xs Max และ iPhone Xr

iPhone X รุ่นก่อนหน้าได้เลิกผลิตไปแล้วด้วย ถ้าใครต้องการอยากใช้คงต้องมาใช้ iPhone Xs หรือ iPhone Xs Max แทน หรือจะใช้ iPhone Xr เลยก็ได้ ซึ่งโดยส่วนตัวผมว่าน่าสนใจมาก แต่การขยับของ Apple ครั้งนี้จะเห็นได้ชัดว่าเป็นการเข้า process ปกติของ Apple คือ minor change เป็นการเปลี่ยนที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเยอะมาก

ข้อดีของ minor change คือฝ่ายการผลิต value chain จะผลิตอุปกรณ์ต่าง ๆ เคส หน้าจอ ฯลฯ คล้ายของเดิมได้ ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยถูกลงไปมาก ดังนั้น การออกเป็นรุ่นย่อย ๆ ออกมาถือเป็นการต่อยอดให้สินค้ามีอายุต่อได้อีก 1 ปี ทำให้ระบบนิเวศของมือถือตัวนั้นอยู่ต่อได้

Samsung เองเริ่มที่จะมาในแนวทางนี้ด้วยเหมือนกัน สังเกตจากฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่ซัมซุงออกมาแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันนิดเดียว เมื่อก่อน Samsung จะเปลี่ยนแบบ major change ในทุก ๆ ปี ซึ่งก็จะพบปัญหาว่าอุปกรณ์ใช้กับตัวเดิมไม่ได้ นี่คือความชาญฉลาดของการคำนึงถึงระบบ supply chain ในการผลิตว่าทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมีกำไรมากที่สุด ซึ่ง “ทิม คุก” เก่งมากในเรื่องพวกนี้