“ทรู” ชำระค่าคลื่น 900 MHz งวดที่ 3 พร้อมบอก กสทช.พิจารณาต้นทุนคลื่นความถี่สำหรับ 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (บริษัทฯ) ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 เมกกะเฮิรตซ์ คลื่นความถี่ 905 – 915 เมกกะเฮิรตซ์ คู่กับ 950 – 960 เมกกะเฮิรตซ์ ได้นำเงินค่าประมูลงวดที่ 3 จำนวน 4,301.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) พร้อมกับหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 64,433.26 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) มามอบให้แก่สำนักงาน กสทช. ตามเงื่อนไขของการชำระเงินประมูล โดยเงินค่าประมูลดังกล่าว สำนักงาน กสทช. จะรีบนำส่งกระทรวงการคลังเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

“ที่ผ่านมาทรูได้ชำระเงินค่าประมูลแล้ว 2 งวด โดยงวดที่ 1 เป็นเงิน 8,602.80 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) และงวดที่สอง จำนวน 4,301.40 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) สำหรับการชำระเงินประมูลงวดสุดท้าย (งวดที่ 4) บริษัทฯ จะต้องชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ส่วนที่เหลือทั้งหมดจำนวน 60,218 ล้านบาท พร้อมภาษีมูลค่าเพิ่ม 4,215.26 ล้านบาท รวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 64,433.26 ล้านบาท ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2563 และในอีกประมาณ 2 เดือน คาดว่าเอไอเอสจะมาจ่ายค่าประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์งวดที่ 3”

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ เช่น การขยายงวดชำระ จะมีหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ ต้องรอดู เพราะทำเต็มที่แล้ว แต่มีผลกับการไป 5G แน่นอน โดยตนนั้นได้เตรียมพูดเกี่ยวกับ 5G ในงานเสวนา “5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 3 เมษายน.2562 นี้ อาทิ มาตรการการเก็บภาษี OTT และความท้าทายในยุค 5G, การเป็นที่ 1 ของอาเซียนด้าน 5G เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การมีรัฐบาลใหม่ที่เข้ามา เชื่อว่าไม่มีผลกับเรื่อง 5G เพราะทุกคนอยากผลักดัน

นายวิเชาวน์ รักพงษ์ไพโรจน์ รองประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์เปอเรชั่น กล่าวว่า ทิศทางธุรกิจโทรคมนาคมไม่ได้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม อยากให้ภาครัฐช่วยดูเรื่องของต้นทุนค่าคลื่นความถี่ เพราะตอนนี้ธุรกิจโทรคมนาคมกำลังมุ่งไป 5G ในขณะที่ต้นทุนค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ เพียง 10 เมกกะเฮิรตซ์ยังมีค่าประมูลกว่า 7 หมื่นล้านบาท แต่ 5G มีบล็อกไซส์ 100 เมกกะเฮิรตซ์ ดังนั้นถ้าประมูลได้คงต้องปิดบริษัท อย่างประเทศจีนภาครัฐให้ใช้งานคลื่นความถี่ฟรี เพราะต้องการเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจและเป็นตัวเปลี่ยนเกมเศรษฐกิจ ดังนั้นอาจจะต้องขอให้ กสทช.และรัฐใหม่พิจารณาเรื่องต้นทุนคลื่นความถี่ เพราะถ้าเหมือนเดิมจะไปไม่รอด ซึ่งตอนนี้ทรูที่พยายามทดลองยูซเคสต่าง ๆ แต่เชื่อว่า 4G และ 5G จะไปคู่ขนานกัน ไม่ได้มาทดแทนกันในเร็วๆ นี้ แต่ 5G จะมาเมื่อไหร่นั้นอาจจะต้องรอดู