ควักจ่าย 12,974 ล้าน ค่าเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล

เคาะตัวเลขเป็นที่เรียบร้อย สำหรับเงินชดเชยที่ 7 ช่องทีวีดิจิทัล ซึ่งถอดใจขอคืนใบอนุญาต ตามคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เปิดทางไว้ให้

โดยช่อง “3 SD” หมายเลข 28 แจ้งคืนช่องเป็นรายสุดท้ายแบบเซอร์ไพรส์สุด แต่ได้เงินติดกระเป๋าจาก กสทช. กลับไปมากที่สุด 680.08 ล้านบาท ขณะที่ช่อง “3 Family” ได้เงินชดเชย น้อยสุด 162.54 ล้านบาท

ควักอุดหนุนก่อนนี้ 7.6 พันล้าน 

ย้อนไปเมื่อการประมูลทีวีดิจิทัลปลายปี 2556 ปิดราคา 24 ช่องธุรกิจที่ 50,862 ล้านบาท ซึ่งตามประกาศ คสช. ที่ 80/2557 ระบุให้ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ยกเว้นงวดแรกที่ให้ใช้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล โดย “กทปส.” เป็นผู้บริหาร

แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตามบัญชี “รายรับ-รายจ่าย” ในส่วนที่ใช้สนับสนุนทีวีดิจิทัล จะมีรายรับ 11,841 ล้านบาท แยกเป็น จากเงินประมูลทีวีดิจิทัลงวดแรก 11,162.2 ล้านบาท มีดอกผล 678.83 ล้านบาท

ขณะที่ “รายจ่าย” เบิกไปแล้ว 7,662 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการแจกคูปองมูลค่า 690 บาท ให้ประชาชนนำไปแลกซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณทีวีดิจิทัล (Set-top-box) ในเฟสแรก 5,785.93 ล้านบาท เฟส 2 อีก 1,195.32 ล้านบาท

กับค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม (Must Carry) ซึ่ง กสทช.จะอุดหนุนให้ 100% ตามคำสั่ง คสช. ก่อนหน้านี้ที่ระบุให้อุดหนุนจนถึง ธ.ค. 2562 รวมถึงค่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (MUX) จะครบกำหนดอุดหนุน มิ.ย. 2563 ณ ปัจจุบันเบิกไปแล้ว 681.03 ล้านบาท

คาดส่งเข้าคลังอีก 1.5 พันล้าน

และเมื่อก่อนหน้านี้ “กสทช.” ได้นำเงินส่งคืนกระทรวงการคลังเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว 1,200 ล้านบาท คงเหลือเงินในโครงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัล 2,978.74 ล้านบาท

“แต่มีส่วนที่กำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเบิกจ่าย 1,385.89 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเบิกจ่ายตามคูปองที่ใช้สิทธิ์แล้วและเงินวางประกันที่ต้องจ่ายให้ผู้ประกอบการ Set-top-box 108.52 ล้านบาท ค่า MUX ค้างจ่ายอีก 1,277.36 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่คาดว่าจะส่งคืนคลังได้อีกราว 1,592 ล้านบาท”

อ่อนประชาสัมพันธ์ ?

ส่วนการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิทัลในรูปแบบของโครงการภายใต้งบประมาณของสำนักงาน กสทช.เองนั้น ที่ผ่านมาทั้งฝั่งผู้ประกอบการช่องทีวีและ Set-top-box จะระบุว่า “ทีวีดิจิทัล” ล้มเหลวเพราะขาดการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจเกี่ยวกับการรับชมทีวีดิจิทัล แม้แต่ในคำพิพากษาศาลปกครองกลาง

คดีที่ “ติ๋ม ทีวีพูล” นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ผู้รับใบอนุญาต 2 ช่องทีวีดิจิทัล อย่างช่องไทยทีวี และช่อง MVTV Family (Loca เดิม) ยื่นฟ้อง “กสทช.” ยังระบุถึงการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนไม่ทั่วถึง ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจวิธีการเปลี่ยนผ่านระบบโทรทัศน์วิธีการใช้คูปอง ทำให้เกิดความสับสน ไม่สนใจที่จะเปลี่ยนสู่ระบบทีวีดิจิทัลเท่าที่ควร 92 โครงการ 465 ล้าน

แต่จากการรวบรวมข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างของสำนักงาน กสทช. ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 พบว่า มี 92 โครงการที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิทัล อาทิ การจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ อบรมให้ความรู้แก่ประชาชน จ้างผลิตสื่อประชาสัมพันธ์ จ้างผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์ ฯลฯ รวมเป็นงบประมาณ 465.329 ล้านบาท

โดยปี 2557 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทีวีดิจิทัลแพร่ภาพและเริ่มแจกคูปอง มีการจัดซื้อจัดจ้างมากที่สุด 41 โครงการ 163 ล้านบาท และรองลงไปคือปี 2560 อยู่ที่ 108 ล้านบาท

ขณะที่ในปีนี้ยังมี 6 โครงการที่ของบประมาณไว้รวมกว่า 55 ล้านบาท อาทิ โครงการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนเพื่อการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 12 ล้าน โครงการเสริมสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล 11.77 ล้านบาท

โครงการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาของผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล 4.1 ล้านบาท และยังมีโครงการที่ขอผูกพันงบประมาณไว้ถึงปี 2563 คือ โครงการ ASO-Get Ready การสื่อสารสร้างความพร้อมและตื่นตัวต่อการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบแอนะล็อก 20 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประมาณปีนี้ 16 ล้านบาท และปี 2563 อีก 4 ล้านบาท

ทีวีดิจิทัล 12,974 ล้านบาท

เมื่อรวมกับการเยียวยาตามคำสั่ง คสช.ที่ 4/2562 ซึ่ง “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า ได้ทำเรื่องขอยืมเงินจาก “กทปส.” กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไว้แล้ว 4,847 ล้านบาท

ซึ่งแบ่งเป็นเงินชดเชยช่องทีวีที่คืนใบอนุญาต 2,962 ล้านบาท เงินเยียวยาค่าเช่าโครงข่าย (MUX) 552.8 ล้านบาท ค่าปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ของ MUX 345 ล้านบาท และเงินประมูลงวด 5 และ 6 ที่ต้องจ่ายคืน ช่อง 7 HD ช่องเวิร์คพอยท์ และช่องสปริงนิวส์ ซึ่งจ่ายล่วงหน้ามาก่อน 986.6 ล้านบาท เท่ากับว่า “กสทช.” ต้องควักจ่ายเงินสนับสนุน “ทีวีดิจิทัล” 12,974 ล้านบาท


โดยไม่รวมกับเงินประมูล “ค่างวด 5-6” ที่คำสั่ง คสช. เอื้อเฟื้อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอีก 13,622.4 ล้านบาท