5G+AI ตัวช่วยสู้โควิด กำจัดไวรัสพยุงกิจกรรมเศรษฐกิจ

การระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ทั้งในแง่ของสังคม พฤติกรรมผู้คน ผู้ประกอบการ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT ได้กลายเป็นรากฐานที่สำคัญในการต่อสู้กับโควิด-19

รายงานสมุดปกขาว “เทคโนโลยีต้านโรคระบาด : ความเข้าใจและวิธีปฏิบัติสำหรับเครือข่ายโทรคมนาคม” ของหัวเว่ย รวมถึงวงเสวนา 5G+, Better World Summit ได้วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงนี้

โดยระบุว่า ไวรัสโควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่สู่ออนไลน์ ในจีนผู้คนใช้เวลาออนไลน์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เวลาว่างที่มากขึ้น ทำให้มีส่วนร่วมกับเนื้อหาออนไลน์ เกม วิดีโอ แอปพลิเคชั่นสั่งอาหาร ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งยังเปลี่ยนวิธีการทำงานที่ ทำให้ การทำงานจากที่บ้านโดยใช้การประชุมทางไกลผ่านวิดีโอเพิ่มจาก 3 แสนคน เป็น 4 ล้านคน ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่

Digital China

ขณะที่เด็กนักเรียนได้หันไปสู่การศึกษาออนไลน์ โดยมีผู้ใช้งานแอปพลิเคชั่นการเรียนรู้ออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า

ฝั่งรัฐบาลเองใช้กลยุทธ์ “Digital China” เพื่อต่อสู้กับโควิด-19 นำชุดเครื่องมือการกำกับดูแลระบบดิจิทัล รวมถึง cloud computing ข้อมูลขนาดใหญ่ และ AI เพื่อเสริมระบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาด มีการใช้หน่วยงานภาครัฐระดับชุมชนทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการควบคุมโรคผ่านแพลตฟอร์ตดิจิทัลเปลี่ยนบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาทดแทน

การสัมผัสเพื่อใช้งานทั้งยังมีนโยบายเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มของ ICT ในด้านการดูแลสุขภาพและการศึกษา อาทิ การประยุกต์ใช้บิ๊กดาต้า ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาใช้ในด้านการแพทย์ ลดอุปสรรคในการเข้าถึงการรักษา และติดตามผู้ป่วยเรื้อรัง ทั้งยังส่งเสริมการลงทุนในระบบ 5G ระบบสุขภาพอัจฉริยะ เพื่อรับมือกับเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการผ่าตัดทางไกล

การใช้โครงข่ายเปลี่ยนไป

“Bob Cai” ประธานฝ่ายการตลาด กลุ่มธุรกิจด้านเครือข่ายของหัวเว่ย กล่าวว่า เครือข่ายโทรคมนาคมที่เสถียรจะเป็นปัจจัยสำคัญรองรับการใช้งานแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการบริหารจัดการกับการแพร่ระบาดของไวรัส

ขณะที่ “Shaun Collins” ซีอีโอจากบริษัท CCS Insight กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า การแพร่ระบาดของไวรัส ทำให้การใช้เครือข่ายและปริมาณการดาวน์โหลดบนเครือข่ายของผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมทั่วโลก แม้แต่เคนยา เปลี่ยนรูปแบบและมีปริมาณมากขึ้นอาทิ “Verizon Wireless” ผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสหรัฐอเมริกา นอกจากจะมีการใช้งานเครือข่ายมากขึ้นแล้ว ยังพบการดาวน์โหลด collaboration tools เพิ่มขึ้นกว่า 47% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาด ฉะนั้นการมีโครงข่ายที่มีคุณภาพทั้ง 4G, 5G จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรองรับการใช้งานจำนวนมาก และยังควรมีเทคโนโลยี AI และ cloud ที่ต้องนำมาใช้ควบคู่กับ 5G เพื่อบริหารข้อมูลจำนวนมากที่จะเกิดขึ้นจากการ remote working

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ Su Yu รองคณบดีสถาบัน CMCC R&D Institute กล่าวว่า ในประเทศจีน โรงพยาบาลหลายแห่งได้นำ 5G มาใช้อย่างรวดเร็ว เพื่อเสริมศักยภาพของเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโดยเฉพาะในเรื่องของ telemedicine ที่มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมาก

จีนลงทุนเพิ่ม 40 ล้านล้านหยวน

“จำนวนผู้ใช้งาน 5G ในจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัย สู่ระดับ 70 ล้านรายในปัจจุบัน บนสถานที่กว่า 250,000 แห่ง ทั่วทั้ง 300 เมืองของจีน จากระดับเดิมเมื่อ ก.พ. 2563 มีเพียง 15 ล้านราย จาก 50 เมืองทั่วประเทศจีนเท่านั้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลจีนเล็งเห็นความสำคัญในส่วนนี้ และได้ประกาศการลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเครือข่ายโทรคมนาคม เช่น 5G เมื่อ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเม็ดเงิน

สูงถึง 40 ล้านล้านหยวน

ด้าน “Su Xiaoming” ซีอีโอจากบริษัท YITU Technology กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสส่งผลให้โรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุขเผชิญกับความท้าทาย เช่น จำนวนซีทีสแกนที่เพิ่มขึ้น การวินิจฉัยโรคที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการติดตามอาการคนไข้ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น ซึ่งเรื่องพวกนี้ทำให้เกิดปริมาณข้อมูลจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยี 5G และ AI เข้ามาช่วย

“care.ai ที่นำมาใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพตรงนี้ เนื่องจากสามารถยกระดับการสกรีนผู้ป่วยได้ถึง 99% ด้วยการประเมินแบบ specificity ทั้งยังลดระยะเวลาการตรวจวินิจฉัยโรคเหลือเพียง 2-3 วินาทีเท่านั้น”

นอกจากนี้ยังมีการประเมินอาการเบื้องต้นผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งจะช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ได้จำนวนมาก และยังลดความเสี่ยงจากการติดไวรัสอีกด้วย

โดยการใช้เทคโนโลยีได้ช่วยลดระยะเวลาการคัดกรองและการตรวจผู้ป่วยได้ถึง 3 ชั่วโมงต่อคน ถือเป็นการยกระดับการจัดการและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส ด้วยเทคโนโลยี 5G และ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ