61 แพลตฟอร์มดิจิทัลเข้าระบบภาษีอีเซอร์วิส โยนผู้บริโภครับภาระแวต 7%

REUTERS/Regis Duvignau/File Photo

ดีเดย์ภาษีอีเซอร์วิส 1 ก.ย. หวังดึงยักษ์แพลตฟอร์มข้ามชาติเข้าระบบ คาดปีแรกโกยรายได้ 5,000 ล้าน ยักษ์ต่างชาติทยอยขึ้นทะเบียนแล้วกว่า 60 ราย “เฟซบุ๊ก” แจ้งลูกค้าที่ลงโฆษณาประเทศปลายทางเป็น “ไทย” ต้องจ่ายแวตเพิ่ม 7% ขณะที่ “Viu” วิดีโอสตรีมมิ่งเกาหลีกัดฟันยอมรับส่วนต่างแทนลูกค้า ฟากมีเดียเอเยนซี่หวั่น “เอสเอ็มอี-พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์” ต้นทุนโฆษณาเพิ่ม

ต่างชาติยื่นจด VAT 61 ราย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ภาษีอีเซอร์วิส (e-Service) มีการดำเนินการในขั้นตอนของกฎหมายมากว่า 2 ปี จนได้รับการอนุมัติเมื่อเดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา และให้เริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ก.ย. โดยกฎกระทรวงกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย

และมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบงานภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ (VAT for Electronic Service : VES) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร พร้อมกับยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มVAT 7% และชำระภาษีเป็นรายเดือนภายในวันที่ 23 ต.ค.นี้

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการต่างประเทศลงทะเบียนเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มบนเว็บไซต์กรมสรรพากรแล้วกว่า 61 ราย ซึ่งไทยเป็น 1 ใน 60 กว่าประเทศทั่วโลกที่เริ่มดำเนินการเก็บภาษีประเภทดังกล่าว

สำหรับธุรกิจที่ต้องมาจดทะเบียน และดำเนินการทางภาษี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย 1.ธุรกิจให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับขายของออนไลน์ 2.ธุรกิจให้บริการโฆษณาออนไลน์

3.ธุรกิจให้บริการจองโรงแรมที่พักและการเดินทาง 4.ธุรกิจให้บริการเป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย และ 5.ธุรกิจให้บริการสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ เกม และแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ

คาดรายได้เข้ารัฐปีแรก 5 พันล้าน

นายอาคมกล่าวว่า ภาษี e-Service ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

นอกจากนี้ ภาษี e-Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศด้วย คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท ภายในปีงบประมาณ 2565 อีกทั้งยังทำให้มีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติที่จะนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่น่าจะเป็นรายได้อีกทางของประเทศในอนาคตด้วย

สรรพากรหวั่นผู้บริโภครับภาระ

ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศที่จดทะเบียนตามกฎกระทรวงนี้ จะมีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากฐานการให้บริการแก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทยที่ไม่ได้จดทะเบียน VAT

(สำหรับผู้ใช้บริการในไทยที่จดทะเบียน VAT อยู่แล้ว ให้ดำเนินการโดยยื่นแบบและชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามแบบ ภ.พ.36 และสามารถนำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรมาหักเป็นภาษีซื้อได้เช่นเดิม)

นอกจากนั้น ผู้ประกอบการ e-Service จากต่างประเทศยังไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษี และไม่มีสิทธินำภาษีซื้อมาหักออกจากภาษีขาย

ส่วนประเด็นที่มีผู้เป็นห่วงว่าจะมีการผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภคหรือไม่นั้น จากการติดตามข้อมูลการเก็บภาษี e-Service จาก 60 ประเทศ พบว่ามีทั้งการผลักภาระและไม่ผลักภาระภาษีให้ผู้บริโภค

เช่น หากเป็นธุรกิจที่แข่งขันกันสูง บริษัทอาจยอมเสียภาษีเองเพราะกลัวเสียลูกค้า แต่ถ้าธุรกิจรายใหญ่ที่ไม่มีคู่แข่งก็อาจให้ผู้ซื้อ และผู้ใช้บริการเป็นคนเสียภาษีเอง หรือบางรายอาจแบ่งเสียภาษีกันคนละครึ่ง ซึ่งทั้งหมดขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท รวมถึงสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ

แพลตฟอร์มดังแห่จดทะเบียน

รายงานข่าวจากกรมสรรพากรระบุว่า จากการสำรวจมีผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีทั้งหมดกว่า 100 ราย และล่าสุดมีแพลตฟอร์มรายใหญ่หลายรายดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านภาษี e-Service แล้ว

ได้แก่ 1.เครือข่ายสังคมออนไลน์ Facebook, LINE, Twitter 2.เว็บไซต์ให้บริหารค้นหาข้อมูล Google 3.บริการดูหนังออนไลน์และความบันเทิง Netflix, Viu, TikTok, OnlyFans, DISNEY, Twitch, Spotify

4.ผู้ให้บริการด้านการทำงาน Zoom, Amazon, Microsoft, LinkedIn, HubSpot, TeamViewer และ 5.ให้บริการจองโรงแรม AGODA เป็นต้น

“เฟซบุ๊ก” เก็บค่าโฆษณา 7%

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” สอบถามไปยังเฟซบุ๊ก ประเทศไทย ได้รับการชี้แจงว่า ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กดำเนินการชำระภาษีตามที่แต่ละประเทศกำหนดในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจ

โดยในส่วนของประเทศไทยที่มีการบังคับใช้กฎหมายใหม่ด้านภาษีอีเซอร์วิส ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.นั้น ทางบริษัทได้ประสานกับทางกรมสรรพากรมาโดยตลอด และมีการสื่อสารไปยังผู้โฆษณาของเฟซบุ๊กแล้วเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

โดยตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.เป็นต้นไป การลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กในประเทศไทยจะกำหนดให้มีการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวมีผลบังคับใช้กับผู้โฆษณาที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศปลายทางในบัญชีธุรกิจหรือบัญชีส่วนตัว

ซึ่งผู้โฆษณาไทยที่ได้มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วจะไม่ถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเฟซบุ๊กอีก แต่ผู้โฆษณาต้องยื่นประเมินและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแก่กรมสรรพากรย้อนหลังเอง

เมื่อสอบถามไปยังผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” ได้คำตอบว่า ช้อปปี้ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดเพื่อให้มั่นใจว่าได้ดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับกฎระเบียบ และข้อบังคับของหน่วยงานรัฐ

Viu ยอมรับส่วนต่างไม่ปรับราคา

ด้าน นายอคิรากร อิกิติสิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท พีซีดับเบิลยู โอทีที (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ให้บริการวิดีโอสตรีมมิ่งภายใต้แบรนด์ Viu กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า

Viu ยังไม่มีนโยบายในการปรับราคาค่าบริการแต่อย่างใด แม้ภาครัฐจะเรียกเก็บภาษีอีเซอร์วิส 7% จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ โดยผู้ใช้บริการของ Viu จะยังจ่ายค่าบริการราคาเดิม

ซึ่งบริษัทรับผิดชอบส่วนนี้ไว้เอง ไม่มีการบวกเพิ่ม 7% เช่น มีการจัดโปรโมชั่นกับค่ายมือถือต่าง ๆ ทั้งทรูและเอไอเอส เมื่อสมัครใช้บริการ Viu พรีเมี่ยมคิดค่าบริการ 119 บาทต่อเดือน ก็ยังเป็นราคาเดิม

หรือลูกค้าบัตร PLANET SCB ที่สมัครบริการ Viu ราคา 69 บาทต่อเดือน(ระยะเวลา 6 เดือน) ก็ยังจ่ายราคาเดิมเช่นกันเนื่องจากมองว่าเป็นราคาที่เหมาะสมกับตลาดในปัจจุบัน อีกทั้งผู้บริโภคยังจดจำราคาดังกล่าวไปแล้วขณะเดียวกันมีแผนจะจัดโปรโมชั่นต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้าสมัครใช้บริการ Viu นานขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปผู้ให้บริการวิดีโอออนดีมานด์รายใหญ่ “เน็ตฟลิกซ์” แต่ยังไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด

หวั่นกระทบ “เอสเอ็มอี”

นายภวัต เรืองเดชวรชัย ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือเอ็มไอ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเก็บภาษีอีเซอร์วิส ไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของเอเยนซี่โฆษณาและบริษัทที่ซื้อโฆษณาออนไลน์รายใหญ่

เนื่องจากที่ผ่านมา มีเดียเอเยนซี่เก็บภาษี 7% จากบริษัท หรือแบรนด์ที่ซื้อโฆษณาผ่านเอเยนซี่ส่งให้กรมสรรพากรอยู่แล้วเช่น ถ้าแบรนด์ลงโฆษณาบนเฟซบุ๊กและกูเกิล จำนวน 100 บาท

ก็จะเก็บเพิ่มอีก 7% เป็น 107 บาท โดยเอเยนซี่เก็บส่วนต่างนี้ส่งให้ภาครัฐ โดยคาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายเล็กและเอสเอ็มอี หรือบรรดาพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ซื้อโฆษณาตรงจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ

ทั้งเฟซบุ๊ก, กูเกิล และ TikTok เป็นต้น โดยที่เห็นชัดเจนคือ ประสิทธิภาพการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายลดลง เนื่องจากจำนวนเงินที่ซื้อโฆษณาโดนหัก 7% เพื่อส่งให้รัฐ หากผู้โฆษณาในไทยไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

เช่น เดิมเคยซื้อโฆษณา 100 บาทและเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้ทั้งหมดเต็มจำนวนเงิน แต่หลังมีการเก็บภาษีอีเซอร์วิส จำนวนเงินเท่าเดิมจะหักไป 7% เหลือเงินสำหรับการลงโฆษณา 93 บาท ส่งผลให้ประสิทธิภาพการลงโฆษณาหรือการเลือกกลุ่มเป้าหมายลดลง ซึ่งหมายถึงต้นทุนโฆษณาของผู้ประกอบการจะเพิ่มขึ้นด้วย

“เมื่อต้นทุนโฆษณาออนไลน์เพิ่มขึ้น สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ กำไรก็จะลดลง ดังนั้นบางรายอาจเลือกปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ เพื่อลดการหายไปของกำไร หรือบางรายตัดสินใจแบกต้นทุนนี้ไว้เนื่องจากการแข่งขันสูง หากปรับราคาขึ้นอาจส่งผลต่อยอดขายโดยรวม”