ส่อง กม. “ห้ามทำแท้ง” เทกซัส ทำ Uber-Lyft โดนหางเลข

FILE PHOTO: REUTERS/Mike Blake
TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งสิทธิในการทำแท้งจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการของ Uber หรือ Lyft ยักษ์ใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์ม ride sharing ได้

แต่วันนั้นก็มาถึงเมื่อเทกซัสประกาศบังคับใช้กฎหมาย “ห้ามทำแท้ง” ในสตรีที่มีอายุครรภ์เกิน 6 สัปดาห์ขึ้นไป และคาดโทษทุกคนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่หมอ พยาบาล เจ้าของคลินิก ไปจนถึงคนช่วยออกค่าใช้จ่ายและคนที่พาคนไข้ไปส่ง รวมถึงแท็กซี่และคนขับ Uber หรือ Lyft ด้วย

ตั้งแต่กฎหมายนี้มีผลบังคับใช้เมื่อต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา คนขับรถก็พานั่งไม่ติดเพราะไม่รู้จะโดนหางเลขเมื่อไหร่ร้อนถึงต้นสังกัดเจ้าของแพลตฟอร์มต้องเทกแอ็กชั่น

โดย Lyft เป็นเจ้าแรกที่ออกมาปกป้องคนขับและประกาศว่าจะช่วยออกค่าใช้จ่ายทางกฎหมายทั้งหมดหากมีการฟ้องร้องเกิดขึ้น บริษัทบอกว่าคนขับไม่มีหน้าที่ไปมอนิเตอร์จุดหมายปลายทางและวัตถุประสงค์ในการเดินทางของลูกค้าเช่นเดียวกับตัวลูกค้าเองก็ไม่จำเป็นต้องมาแจกแจงอธิบายเหตุผลในการเดินทางไปไหน

ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ของบริษัทไปไกลถึงขั้นบอกให้ลองจินตนาการดูว่า หากเรากำลังท้องและอยากเรียกรถไปตรวจครรภ์แต่โดนคนขับแคนเซิลเสียก่อนเพราะไม่อยากเสี่ยงโดนจับ เราจะรู้สึกอย่างไร

หลังจากปล่อยให้คู่แข่งนำร่องไปก่อนไม่นาน ผู้นำตลาดอย่าง Uber ก็แถลงว่าจะช่วยออกค่าใช้จ่ายในการสู้คดีให้กับคนขับ หากโดนฟ้องข้อหาละเมิดกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน

ส่วนยักษ์ไฮเทครายอื่นยังค่อนข้างสงวนท่าที แม้กระทั่งอีลอน มัสก์ เจ้าของ Tesla ที่ขึ้นชื่อเรื่องฝีปากคมกริบในการวิจารณ์นโยบายของรัฐ ก็บอกแค่ว่าไม่อยากคอมเมนต์เรื่องการเมือง แม้ชื่อของเขาจะถูกเอ่ยถึงจากผู้ว่าการรัฐเทกซัสว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่เห็นด้วยกับกฎหมายห้ามทำแท้งดังกล่าวก็ตาม

กฎหมายห้ามทำแท้งของเทกซัสกลายเป็นประเด็นร้อนแรงทั้งในแวดวงการเมือง และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิสตรีในอเมริกา โดยกลุ่มผู้สนับสนุนสิทธิในการทำแท้งมองว่า กฎหมายฉบับนี้ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ

ตามคำตัดสินเมื่อปี ค.ศ. 1973 ที่ระบุว่า ผู้หญิงมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะยุติการตั้งครรภ์ได้โดยโต้แย้งว่า ผู้หญิงจำนวนมากยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองท้องในช่วง 6 สัปดาห์แรก

ปกติการนับอายุครรภ์จะเริ่มจากวันที่ประจำเดือนไม่มาหมายความว่า หากใครประจำเดือนไม่มาหนึ่งครั้งก็มีสิทธิตั้งครรภ์ไปแล้ว 4 สัปดาห์ ทำให้เหลือเวลาแค่ 2 สัปดาห์ในการเตรียมตัวทำแท้งซึ่งไม่มีทางพอ

โดย ดร.แดเนียล กรอสแมน จาก University of Californiaบอกว่า ผู้หญิงต้องการเวลามากกว่านั้นในการเตรียมพร้อม ตั้งแต่การเข้าตรวจเพื่อยืนยันการตั้งครรภ์ไปจนถึงการตัดสินใจมองหาคลินิก จองนัด ทำเรื่องลางาน หรือลาเรียน ยังไม่รวมเวลาที่ต้องใช้ในการหาเงินค่าทำแท้ง ซึ่งประกันสุขภาพในเทกซัสไม่ครอบคลุม

นอกจากนี้ กฎหมายนี้ยังปฏิเสธการทำแท้งแม้เป็นการตั้งครรภ์เพราะโดนข่มขืน หรือการมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัวหรือพี่น้อง (incest) ทำให้การทำแท้งกลายเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้เลย

แถมยังมีการถ่ายอำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐไปสู่มือประชาชนทั่วไปในการฟ้องใครก็ได้ที่คิดว่ามีส่วนช่วยให้เกิดการทำแท้งขึ้น เพื่อแลกกับเงินรางวัลนำจับถึง 10,000 เหรียญเป็นเครื่องล่อใจอีกด้วย

หัวหน้าคณะทำงานของ UN ว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีและเด็กอย่าง Melissa Upreti ประณามกฎหมายนี้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิสตรีขั้นรุนแรงที่สุด

พร้อมเตือนว่าการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะผลักให้ผู้หญิงจำนวนมากต้องหันไปใช้บริการทำแท้งเถื่อนที่มีความเสี่ยงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยสตรีที่อยู่ในกลุ่มเปราะบางอย่างกลุ่มคนผิวสีและผู้มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุด

แต่กลุ่มผู้สนับสนุนกฎหมายฉบับนี้มองว่า กฎหมายนี้ออกมาเพื่อช่วยชีวิตเด็กให้มีโอกาสลืมตาขึ้นดูโลก และยืนยันจะเดินหน้าผลักดันกฎหมายคล้ายกันในรัฐอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งหากทำได้จริงการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการพื้นฐานก็คงยิ่งเกี่ยวพันกันจนแทบแยกไม่ออก