เช็ก 13 แอป รีบลบ มีมัลแวร์อันตราย ดูดเงิน อ่านข้อความ ในมือถือ

มัลแวร์
Photo by Sora Shimazaki from Pexels

กรมประชาสัมพันธ์เผย Kaspersky เตือนรีบลบ 13 แอป มีโฮสต์มัลแวร์อันตราย ดูดเงิน อ่านข้อความ และสอดแนมการทำงานในโทรศัพท์ได้ 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศฯ กรมประชาสัมพันธ์ แจ้งว่า เมื่อไม่นานนี้ มีรายงานจาก Kaspersky บริษัทรักษาความปลอดภัยด้านไอที ว่า พบแอปพลิเคชั่น Joker หรือแอปที่มีโฮสต์มัลแวร์อันตราย ที่สามารถขโมยเงินสดของผู้ใช้ อ่านข้อความ และสอดแนมการทำงานต่าง ๆ ภายในเครื่องได้ โดยมีทั้งสิ้น 13 แอปฯ และแนะนำให้ผู้ใช้ลบทิ้งทันที สำหรับแอปดังกล่าว มีดังนี้

  • Classic Emoji Keyboard
  • Battery Charging Animations Bubble Effects
  • Easy PDF Scanner
  • Dazzling Keyboard
  • Halloween Coloring
  • EmojiOne Keyboard
  • Smart TV remote
  • Flashlight Flash Alert On Call
  • Volume Booster Hearing Aid
  • Now QRcode Scan
  • Volume Booster Louder Sound Equalizer
  • Super Hero-Effect

ทั้งนี้ ตามการรายงานข้อมูล แอปทั้งหมดถูกลบออกจาก Google Play Store แล้ว ทำให้ไม่สามารถดาวน์โหลดใหม่ได้ แต่บางคนที่มีแอปเหล่านี้อยู่ ก็ควรลบออกในทันที พร้อมเปิดใช้งานการสแกนไวรัสเพื่อดูว่าเกิดความเสียหายในเครื่องหรือไม่

สำหรับอาการที่จะพบ คือ แอปต่าง ๆ อาจหยุดทำงานโดยไม่มีเหตุผล อีกประการหนึ่งคืออุปกรณ์ทำงานช้าลงกว่าเดิมมาก รวมทั้งผู้ใช้อาจรู้สึกว่าแบตหมดเร็วกว่าปกติมาก เพราะมีการเรียกใช้งานทรัพยากรในเครื่องพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ มัลแวร์ยังสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อส่งข้อความอื่น ๆ ไปยังบุคคลภายในรายชื่อผู้ติดต่อของอุปกรณ์และแพร่ระบาดในเครือข่ายของผู้ใช้ ฉะนั้น ใครเป็นผู้ใช้ Android หากมีแอปข้างต้นให้รีบลบออกโดยด่วน

ทั้งนี้ รายงานดังกล่าวอ้างอิงรายงานข่าวจาก Techtimes ที่รายงานว่า ทัลยานา ชิโควา นักวิเคราะห์มัลแวร์ของ Kasoersky ทวีตเผยแพร่รายงาน 13 แอปพลิเคชั่น ในบัญชีทวิตเตอร์ของเธอว่า มี 13 แอปพลิเคชั่น ที่ผู้ใช้งานควรลบออกจากอุปกรณ์สื่อสารต่างๆ

ขณะที่ เดอะ ซัน สื่อในอังกฤษ รายงานว่า หากพบการเจาะเข้าข้อมูลผู้ใช้งานหรือทำให้การใช้งานแบตเตอรี่ลดลงรวดเร็ว ให้สันนิษฐานว่า มัลแวร์กำลังทำบางอย่างที่ส่งผลต่อการทำงานของอุปกรณ์ของคุณ และควรตรวจสอบว่า เพื่อนของคุณมีใครได้รับข้อมูลลึกลับจากเบอร์โทรศัพท์ของคุณ โดยเฉพาะข้อความที่มีลิงก์แปลกๆ ทั้งที่คุณไม่ได้ส่งบ้าง

เพราะมัลแวร์ตัวนี้จะทำงานโดยใช้โทรศัพท์มือถือของคุณส่งข้อความไปให้คนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อผู้ติดต่อในโทรศัพท์เครื่องนั้นๆ และกระจายวงออกไปเป็นเครือข่าย


ดังนั้นทางเลือกของการรป้องกันที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ การติดตั้งซอฟแวร์ป้องกันไวรัสและตรวจสอบสถานะการป้องกันทางไซเบอร์ รวมถึงอัพเดตระบบปฏิบัติการล่าสุด การใช้บราวเซอร์ที่เป็นส่วนตัว การตั้งระบบความปลอดภัยป้องกันมัลแวร์ เป็นต้น