
ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประมูลคลื่นวิทยุเอฟเอ็มประเภทธุรกิจ จำนวน 71 คลื่นความถี่ มูลค่าการประมูลรวมกว่า 700 ล้านบาท สูงกว่าราคาตั้งต้น 77% (ราคาตั้งต้นรวมอยู่ที่ 398 ล้านบาท)
โดย “กสทช.” ระบุว่า นับเป็นประวัติศาสตร์การจัดประมูลคลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงครั้งแรก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงรายใหม่เข้าสู่กระบวนการใช้คลื่นความถี่วิทยุกระจายเสียงได้ ตั้งแต่มีการอนุญาตในกิจการกระจายเสียงเกิดขึ้นของประเทศไทย ในรูปแบบการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ ระยะเวลาการอนุญาต 7 ปี
โดย บมจ.อสมท ได้ไปมากสุด 47 คลื่น จากที่ยื่น 55 คลื่น เป็นเงินกว่า 500 ล้านบาท หรือเกือบ 80% ของมูลค่ารวม ตามด้วย “ลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง” คว้าไป 13 คลื่น จากที่ยื่น 45 คลื่น
หากโฟกัสเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีการประมูล 8 คลื่น “อสมท” ได้ไป 6 อีก 2 แบ่งกันระหว่าง บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย และลูกทุ่งเน็ตเวิร์ค 24 ชั่วโมง ทั้งหมดมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวในแต่ละคลื่น ในแง่ราคาจึงต้องเสนอแข่งกับใคร แค่เคาะ 1 ครั้ง จากราคาตั้งต้นก็ได้แล้ว (เคาะครั้งละ 4-5 แสนบาท จากราคาขั้นต่ำของแต่ละคลื่น)
เมื่อไม่มีคู่แข่ง สนามประมูลในกรุงเทพฯและปริมณฑลจึงไม่ดุเดือด แต่เม็ดเงินที่ “กสทช.” ได้ก็ไม่น้อย เพราะราคาขั้นต่ำของแต่ละคลื่นเทียบกับในต่างจังหวัดสูงกว่าค่อนข้างมาก (ต่ำสุด 36 ล้านบาท สูงสุด 53 ล้านบาท)
ขณะที่การเคาะราคาชิงคลื่นวิทยุในต่างจังหวัดค่อนข้างดุเดือด ในบางจังหวัดเกินราคาตั้งต้นหลายเท่าตัว เพราะมีคู่แข่งจำนวนมาก เช่น ที่ขอนแก่น มีผู้เสนอตัวเข้าประมูลถึง 6 ราย เป็นต้น
การสร้างรายได้เพื่อให้คุ้มกับการลงทุนจึงนับเป็นโจทย์หินสำหรับ “ผู้ชนะ” ในพื้นที่ที่มีการแข่งราคากันดุเดือดมาก ๆ
รศ.เกษมศานต์ โชติชาครพันธุ์ ผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท หรือ MCOT กล่าวว่า สื่อเก่าทั้งทีวี วิทยุโดนดิสรัปชั่นจากหลายสาเหตุ สิ่งที่ อสมท ทำ คือ ปรับลดค่าใช้จ่ายลงให้ได้มากที่สุด ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมวิทยุค่อนข้างรุนแรงจากการเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ รวมถึงปัจจัยสำคัญอย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้รายได้จากธุรกิจวิทยุลดลง เนื่องจากไม่สามารถจัดกิจกรรมออนกราวนด์ได้
ดังนั้นเป้าหมายในธุรกิจวิทยุของ อสมท ทั้งในระยะสั้นและตลอดอายุใบอนุญาต 7 ปี คือ ปรับให้เร็ว พร้อมไปกับการเพิ่มรายได้
แนวทางในการบริหารคลื่นวิทยุมี 4 ส่วน คือ
1.ปรับโครงสร้างรูปแบบการบริหารจัดการใหม่
2.จัดผังรายการให้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ฟังมากขึ้น
3.จัดสรรช่วงเวลาการออกอากาศระหว่างส่วนกลางและภูมิภาคใหม่
และ 4.พัฒนาช่องทางดิจิทัลควบคู่กับการออกอากาศช่องทางเดิม และเร่งสร้างการรับรู้ให้กลุ่มผู้ฟัง เพื่อตอกย้ำถึงจุดแข็งของธุรกิจวิทยุที่มีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ
“ธุรกิจวิทยุมีสัดส่วน 24-25% ของรายได้รวม ในเบื้องต้นคาดว่าปีนี้จะยังคงสัดส่วนรายได้นี้ไว้ได้ ทำให้คลื่นที่ได้มา 47 จาก 55 คลื่น ไม่มีนัยสำคัญต่อแผนธุรกิจ ส่วนเม็ดเงินประมูลที่ต้องจ่ายกว่า 500 ล้านบาท ส่วนหนึ่งมาจากเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ซึ่ง อสมท มีศักยภาพในการชำระคืนใน 5 ปี ไม่ส่งผลกระทบสภาพคล่อง และความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจ”
สำหรับเม็ดเงินโฆษณาในสื่อวิทยุ 5 ปีย้อนหลัง อ้างอิงข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด พบว่าไม่หวือหวา โดยปี 2560 มีมูลค่า 4,476 ล้านบาท ปี 2561 อยู่ที่ 4,802 ล้านบาท ปี 2562 อยู่ที่ 4,735 ล้านบาท ปี 2563 อยู่ที่ 5,675 ล้านบาท และในปี 2564 อยู่ที่ 3,261 ล้านบาท
ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบว่ามีจำนวนผู้เล่นลดลงเรื่อย ๆ จากเดิมที่เคยเปิดศึกแย่งเม็ดเงินโฆษณาหนักหน่วง ปัจจุบันผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งตลาดระดับท็อปยังเป็น อสมท ถึง 47 คลื่นทั่วประเทศ
ถัดมาเป็น บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย เหลือ 2 คลื่น คือ 106.5 MHz (ที่เพิ่งประมูลเสร็จ) และ EFM 94.00 MHz (คลื่นกองทัพบก) ตามด้วยบริษัท คูลลิซึ่ม จำกัด (ของอาร์เอส) ในคลื่น 93.00 MHz (คลื่นกองทัพบก) และบริษัท อินดิเพ็นเดนท์ คอมมูนิเคชั่น เน็ทเวิร์ค จำกัด ผู้บริหารคลื่นวิทยุ 103.5 MHz (คลื่นกองทัพบก)
ด้าน พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำหนดราคาขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน โดยในกรุงเทพฯ ปริมณฑล เริ่มที่ 36 ล้านบาท ต่างจังหวัดเริ่มที่ 105,000 บาท โดยศึกษาแล้วว่าเป็นราคาที่ได้สอดรับกับทำเลที่ตั้ง ธุรกิจ และสภาพเศรษฐกิจของพื้นที่ให้บริการ
ที่ราคาประมูลในต่างจังหวัดพุ่งขึ้นไปมาก โดยเฉพาะรอบ 2 ในภาคเหนือและใต้ รวม 22 คลื่น ขึ้นไปถึง 20 เท่า จากราคาตั้งต้น 7.6 ล้านบาท เพิ่มไป 160 ล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการท้องถิ่นอาจมองว่านำคลื่นไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากกว่า และตอบโจทย์ความต้องการของท้องถิ่นได้
รวม 71 คลื่น จาก 30 บริษัท เป็นเงิน 710 ล้านบาท จากราคาตั้งต้น 398 ล้านบาท
“เป็นการประมูลวิทยุครั้งแรกให้รอบหลายปี ที่ไม่ใช่หน่วยงานรัฐ แต่ในฐานะผู้ประกอบการเอกชนที่ได้รับใบอนุญาตโดยตรงจาก กสทช. ไม่ผ่านระบบสัมปทาน เพื่อสร้างการแข่งขันเสรี ซึ่งเป็นการนำบทเรียนที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิทัลมาปรับใช้ พร้อมปรับราคาเริ่มต้นให้สอดคล้องสภาพตลาด”
พันเอกนทีย้ำว่า ปัจจุบันใบอนุญาตทีวีดิจิทัลเดินมาครึ่งทางแล้ว เมื่อครบอายุ 15 ปี ตามกฎหมายต้องมีการจัดประมูลใหม่ ซึ่งจะมีการประมูลใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ หากจะต่ออายุใบอนุญาตก็ต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจนจากการจัดประมูลคลื่นทั้งในฝั่งโทรคมนาคมและบรอดแคสต์ โดย “กสทช.” ผลักดันการเปลี่ยนผ่านธุรกิจจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตด้วยวิธี “ประมูล”