ปาล์มสุราษฎร์ฯ รุก RSPO ขายคาร์บอนเครดิตเพิ่มรายได้

ทองหล่อ ปานบำรุง

ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับ 3 ของโลก รองจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย ข้อมูลจากสำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดสุราษฎร์ธานีระบุว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่ปลูกมากที่สุดอันดับ 1 ของประเทศรวมกว่า 1.3 ล้านไร่ มีโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันกว่า 36 โรงงาน

คาดว่ามีผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ย 4 ล้านตัน/ปี ขณะเดียวกัน ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนกำลังรวมตัวกันผลักดันทำมาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) เพื่อนำไปสู่การทำเกษตรแบบยั่งยืนและสามารถสร้างรายได้โดยการกักเก็บก๊าซ CO2 เพื่อขายคาร์บอนเครดิต

“สุรเดช ทองมาก” เกษตรอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี และ “ทองหล่อ ปานบำรุง” เกษตรกรเจ้าของสวนปาล์ม จากตำบลคลองน้อย อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ร่วมทำเกษตรแปลงใหญ่ เปิดเผยว่า เกษตรกรทั่วไปไม่เข้าใจการขายคาร์บอนเครดิตเพราะเป็นเรื่องใหม่ หลายปีผ่านมาเพียงศึกษาการปลูกปาล์มให้เหมาะสมกับพื้นที่

เริ่มตั้งแต่ได้พันธุ์ปาล์มจากศูนย์วิจัยสุราษฎร์ธานี เกษตรอำเภอ หลายหน่วยงาน รวมทั้ง RSPO เข้ามาช่วยเหลือให้ความรู้ เพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น จากปกติค่าเฉลี่ย 2.5-3 ตัน/ไร่/ปี เมื่อมีระบบการจัดการดี น้ำดี ดินดีให้ผลผลิตมากถึง 4-6 ตัน/ไร่/ปี ขณะที่ปริมาณผลผลิตมากที่สุดในจังหวัดอยู่ที่ 12 ตัน/ไร่/ปี

“การปลูกปาล์มถือเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรตำบลคลองน้อย เมื่อปีที่ผ่านมาราคาเฉลี่ย 4-5 บาท/กก. เมื่อเทียบปริมาณ 3 ตัน/ไร่/ปี พีกสุดอยู่ที่ 11 บาท/กก. แต่ตลาดขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางเป็นหลัก การปลูกปาล์มคืนทุนได้ประมาณ 5-7 ปี

แต่หากจะเพิ่มมูลค่าให้ยั่งยืนต้องสร้างคุณภาพให้ได้ตามมาตรฐาน แต่ก่อนจะขอมาตรฐาน GMP แต่ปาล์มน้ำมันต้องผ่านการแปรรูปจึงต้องปรับมาใช้มาตรฐาน RSPO ที่ทั่วโลกยอมรับ และการขายคาร์บอนเครดิตเป็นอีกแนวทางในการเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต”

ทั้งนี้ เกษตรกรตำบลคลองน้อยเริ่มรวมกลุ่มกันเมื่อปี 2559 หลังจากปี 2560 ได้รับนโยบายและรับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้มีเครือข่ายมากขึ้น ปัจจุบันปลูกปาล์มทั้งตำบล 500 กว่าราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยเฉลี่ย 7 ไร่/ราย รวมตัวกันเป็นแปลงใหญ่แล้ว 99 ราย เข้าร่วมกลุ่มเพื่อนำร่องทำมาตรฐาน RSPO รวม 53 ราย รวมประมาณ 700 ไร่

และมีเป้าหมายสร้างมาตรฐานให้กับสมาชิกเพิ่มอีก 50% เพื่อให้ได้พื้นที่ 1,500 ไร่ ภายในอีก 2 ปีถัดไป แต่ต้องทยอยส่งเสริมและสร้างความเข้าใจให้กับเกษตรกรรายอื่น ๆ ในพื้นที่อื่นอย่างเป็นระบบต่อไป

เริ่มแรกในการทำมาตรฐาน RSPO คืออบรมเจ้าหน้าที่ตลอดจนเกษตรกรให้ความรู้ในกลุ่ม หลังจากนั้นมีหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนเรื่องงบประมาณ ด้านเอกสารต่าง ๆ เกษตรกรในกลุ่มจะช่วยกันเตรียมพร้อมร่วมกับการใช้ระบบ i-PALM บันทึกการซื้อขายและข้อมูลทั้งหมดในการจัดการตั้งแต่การใส่ปุ๋ย การตัด

โดยเริ่มมาแล้ว 4 ปี ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอผู้ตรวจเข้ามาตรวจรับรองมาตรฐาน ซึ่งจะมีผลต่อรายได้ในอนาคต ด้านราคาซื้อขายจะเพิ่มขึ้น 30 สต./กก. และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปเป็นเครดิตเพื่อขายต่อได้อีกผ่านระบบ PalmTrace ได้

สำหรับการรับรองมาตรฐาน RSPO จะมีการรับรอง 3 ขั้นตอนคือ ขั้นต้น หากผ่านการรับรองจะขายคาร์บอนเครดิตได้ 40% ของผลผลิตทั้งหมดของกลุ่ม ขั้นถัดไปจะขายได้ 70% ถ้าผ่านขั้นสุดท้ายจะสามารถขายได้ 100% ตอนนี้รอหน่วยงานผู้รับผิดชอบเข้ามาประเมิน คาดว่าจะผ่านการประเมินและขายคาร์บอนเครดิตได้เร็วที่สุดต้นปี 2566

“ชาญณรงค์ เซ่งใจดี” รองประธานกลุ่มสหกรณ์นิคมพนม จำกัด อำเภอพนม จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า สหกรณ์นิคมพนมเป็นกลุ่มผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอย่างยั่งยืน ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกลุ่มใหญ่ เริ่มตั้งกลุ่มมาตั้งแต่ปี 2559

และได้รับใบรับรองมาตรฐาน RSPO ในปี 2561 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน มีสมาชิกทั้งหมด 1,074 ราย และรวมสมาชิกใหม่ที่ได้รับใบรับรองล่าสุด 1,129 ราย รวมพื้นที่ 2 หมื่นกว่าไร่ ในปี 2564 สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 10 ล้านบาท ซึ่งจะตรวจมาตรฐาน RSPO ต่อเนื่องตลอดทุกปี

จุดเด่นของสหกรณ์คือ ผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ตั้งแต่ศูนย์วิจัยมาให้ความรู้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายของเกษตรกรแปลงใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องปุ๋ยที่เป็นต้นทุนสูงถึง 60% ปริมาณผลผลิตก่อนเข้าร่วมโครงการเฉลี่ยประมาณ 2,800 กก./ไร่/ปี

เมื่อจัดการผสมปุ๋ยเองได้ตามลักษณะดิน ปัจจุบันให้ผลผลิตอยู่ที่ 3,360 กก./ไร่/ปี ซึ่งขึ้นอยู่กับอายุของต้นปาล์ม นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับอายุที่ให้ผลผลิตสูงสุดคือ 6-10 ปี

“พัฒนพงศ์ ทิพย์เดช” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเกษตรกรชาวสวนปาล์ม สมาชิกสหกรณ์นิคมพนม เปิดเผยว่า ตนเองเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่ได้รับการรับรองจาก RSPO ได้เริ่มปรับเปลี่ยนการทำสวนปาล์มหลายอย่างมาก ส่งผลให้ปาล์มมีคุณภาพดี

ผลผลิตมากขึ้นประมาณ 30% จาก 3 ตัน/ไร่/ปี เพิ่มขึ้นเป็น 5 ตัน/ไร่/ปี รายได้จากประมาณ 3 แสนบาท/ปี ตอนนี้ 4 แสนบาท/ปี ทั้งระบบการจัดการยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีเกษตรกรชาวสวนปาล์มน้ำมันของจังหวัดสุราษฎร์ธานีอีกหลายรายที่ยังต้องพัฒนาการทำสวนปาล์มหลายด้าน นอกจากเรื่องผลผลิตและรายได้ และต้องร่วมมือกับหลายหน่วยงานเพื่อยกระดับสู่มาตรฐาน RSPO ให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นเมืองต้นแบบการจัดการเมืองปาล์มน้ำมันยั่งยืนของประเทศไทยต่อไป