“กะตะธานี” วืดพันล้านไฮซีซั่น ถนนป่าตองพัง กระทบทั้งภูเก็ต

สมบัติ อติเศรษฐ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ผ่านมาครึ่งเดือนหลังพายุเนสาทพัดผ่านจังหวัดภูเก็ต แต่ผลพวงอันใหญ่หลวงที่ทิ้งไว้ให้คนภูเก็ตเผชิญยังสาหัสไม่น้อย หากย้อนไปตั้งแต่วันที่ฝนเริ่มตกหนักสุดในรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 65 จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ในย่านเมืองเก่า เและกลับมาท่วมซ้ำ

เมื่อ 18-19 ต.ค. 65 และฝนที่ตกหนักต่อเนื่องหลายวัน ทำให้เกิดดินสไลด์กระทบต่ออาคาร และบ้านเรือนที่ปลูกบนเนินเขาเคลื่อนตัวพังลงมากว่า 18 จุด ซ้ำร้ายสุดถนนสายหลักที่ไปป่าตองพังถล่มประมาณ 500 เมตร ช่วงแรกทางจังหวัดบอกต้องใช้เวลา 5-6 เดือนจะซ่อมเสร็จ

ร้อนถึง 15 องค์กรภาคเอกชนในวงการธุรกิจท่องเที่ยวต้องทำหนังสือถึง พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สั่งการเป็นกรณีพิเศษให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดหางบประมาณและเร่งรัดดำเนินการซ่อมแซมถนนสายดังกล่าวให้กลับมาสัญจรได้ตามปกติโดยเร็วที่สุดเพราะเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นการก้าวเข้าสู่ช่วง “ไฮซีซั่น” แรกที่มีโอกาสจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำ หลังเผชิญโควิด-19 มา 3 ปีเต็ม

ล่าสุดทางจังหวัดบอกจะซ่อมถนนให้เสร็จภายใน 45 วัน พร้อมกำลังทำถนนเส้นทางลัดอื่นเพิ่มเติม “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามถึงผลกระทบดังกล่าวกับ “สมบัติ อติเศรษฐ์” ประธานกรรมการ โรงแรมเครือกะตะธานี คอลเลคชั่น และประธานมูลนิธิรักภูเก็ต

Q : ผลกระทบปิดถนนขึ้นป่าตอง

ปกติการเดินทางไปหาดป่าตอง มี 3 เส้นทาง โดยเส้นหลักคือ ทางหลวงหมายเลข 4029 ที่เชื่อมระหว่างป่าตองกับตัวเมืองภูเก็ต และเป็นเส้นหลักที่ไปสนามบินภูเก็ต เมื่อดินถล่ม เหลืออีก 2 เส้นทาง โดยเส้นทางแรกจากตำบลเชิงทะเล-หาดกมลา-หาดกะหลิม

และอีกเส้นทางจากตำบลฉลอง-หาดกะรน แต่ทั้ง 2 เส้นทางต้องอ้อมไกล ทำให้เกิดความล่าช้าในการเดินทาง ทำให้ตอนนี้รถติดหนักกระทบไปทั่วภูเก็ต การเดินทางแต่ละครั้งนานเป็นชั่วโมง สมมุตินักท่องเที่ยวมาลงสนามบินภูเก็ต จะเดินทางไปป่าตอง กะตะ กะรน ถ้าถนนป่าตองยังปิดใช้เวลาเดินทาง 2-3 ชั่วโมง เกิดผลกระทบแน่นอน

Q : คนจะยกเลิกมาภูเก็ตไฮซีซั่นนี้

พฤศจิกายนเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น แต่นักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นสูงช่วงเดือนธันวาคมถึงเมษายน ตอนนี้ผลกระทบยังไม่เกิด แต่หากเดือนธันวาคมปัญหารถติดหนักในภูเก็ตมีภาพออกไปให้นักท่องเที่ยวเห็น คนที่จะเดินทางมาภูเก็ตอาจจะเปลี่ยนใจได้

Q : เดิมเครือกะตะฯ ตั้งเป้ารายได้ไฮซีซั่นปีนี้ 1,000 ล้านบาท

ตอนสถานการณ์โควิด-19 จังหวัดภูเก็ตนำร่องทำโครงการภูเก็ตแซนด์บอกซ์ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา มีมาตรการป้องกันทางด้านสาธารณสุขดูแลนักท่องเที่ยวที่เข้ามาอย่างดี ทำให้ได้ภาพที่ดีมาก ส่งผลทำให้ยอดตัวเลขนักท่องเที่ยวของโรงแรมเครือกะตะธานี คอลเลคชั่นขยับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ยอดการจองห้องพักต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาก

ดังนั้น ไฮซีซั่นนี้คาดว่าจะมีรายได้ประมาณกว่า 1 พันล้านบาท แต่พอเกิดน้ำท่วมย่านเมืองเก่า และถนนสายหลักขึ้นป่าตองดินถล่ม วันนี้รถติดหนักทั่วเมืองภูเก็ต เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะคาดคะเนยากแล้วว่าคนจะมาเที่ยวหรือจะยกเลิก ถ้าไม่มีเรื่องน้ำท่วม ดินสไลด์ ถนนขาด ผมคิดว่าหน้าไฮซีซั่นนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวจองห้องพักเข้ามาในภูเก็ต 80-90% ตอนนี้รายได้คงไม่ถึงเป้าหมายพันล้านบาท

Q : ตอนนี้มียอดจองห้องพักกี่ %

สถานการณ์ตอนนี้ยอดจองห้องพักเพิ่งขยับขึ้นมาได้ 50-70% แต่ถ้ารถติดมากและมีการแชร์ภาพไปทั่วโลก นักท่องเที่ยวที่รับทราบปัญหารถติดก็จะยกเลิกการเดินทางมาภูเก็ต และไปท่องเที่ยวประเทศอื่น ผมกลัวอย่างนี้

ผมไม่กลัวนักท่องเที่ยวไปจังหวัดอื่นที่มีทะเลเหมือนกัน เช่น เขาหลัก จ.พังงา หรือไป จ.กระบี่ เพราะเงินยังเข้าประเทศไทย แต่ถ้ามีความไม่สะดวกเกิดขึ้น ผมกลัวนักท่องเที่ยวต่างชาติไปประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านที่มีโปรโมชั่นดึงดูดนักท่องเที่ยวไปเที่ยวทะเลมีชายหาด มีเกาะเหมือนเรา และปัจจุบันสายการบินเชื่อมต่อได้หมดแล้ว

Q : เทศบาลบอกถนนซ่อมเสร็จไม่ถึงสิ้น พ.ย. 65

เวลาพูดคาดคะเนว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อนั้นเมื่อนี้ ใครก็พูดได้ แต่จะเสร็จจริงหรือเปล่า ต้องดูว่ากระบวนการที่ทำเป็นอย่างไร ความพร้อมมีหรือไม่ทั้งการออกแบบ โดยเฉพาะผู้รับเหมามีความเชี่ยวชาญชำนาญพอหรือไม่ และเวลาทำเสร็จแล้ว ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาใครรับผิดชอบ

Q : อยากให้ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างไร

เท่าที่ทราบล่าสุดทางนายกฯได้สั่งการลงมาว่า ให้ดำเนินการซ่อมถนนเส้นนี้อย่างเร่งด่วน หากติดขัดอะไรตรงไหน นายกฯนจะช่วยดูแลให้ หวังว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามที่เราคิดว่า จะต้องได้รับความรวดเร็วและทันการ ไม่ใช่กว่าจะสร้างซ่อมแซมปรับปรุงถนนเสร็จลากยาวไป 6 เดือนไม่ทันการหน้าไฮซีซั่นนี้แน่

ปัจจุบันถนนเส้นนี้อยู่ในความรับผิดชอบของเทศบาล ซึ่งอาจจะไม่มีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญพอ การซ่อมถนนครั้งนี้ทางกรมทางหลวงจะต้องมาช่วยดูแลทางด้านวิศวกรรมขั้นสูงมาแก้ปัญหา เพราะเป็นงานยาก เราเป็นห่วงว่า ถ้าทำเสร็จภายใน 1 เดือนแล้วเกิดมีปัญหาพังลง ใช้เวลาซ่อมอีก 2 เดือน อันนี้คือปัญหาใหญ่ ส่วนเส้นทางชั่วคราวที่กำลังดำเนินการจะเป็นอย่างไรยังไม่ชัดเจน ต้องขอความชัดเจนตรงนี้

Q : น้ำท่วมย่านเมืองเก่า-ดินสไลด์หลายจุดระยะยาวควรแก้อย่างไร

ผมอยู่ภูเก็ตมานาน ที่ผ่านมาในรอบ 30 ปี ภูเก็ตไม่เคยเกิดปัญหาน้ำท่วมเลย แต่เดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เกิดน้ำท่วมใหญ่ 2 รอบ ผมคิดว่าทางจังหวัด กรมโยธาธิการและผังเมือง ทางเทศบาลต้องส่งคนไปสำรวจข้อมูลทั้งเกาะดูว่า ตรงไหนหมิ่นเหม่ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วม หมิ่นเหม่ที่จะทำให้เกิดดินสไลด์ เราต้องป้องกันไว้ก่อน

แต่บ้านเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ เราก็มาซ่อมแซมกัน เราต้องเน้นการป้องกัน ตรงไหนที่เป็นทางน้ำไหลมีอะไรกีดขวางจะหาทางแก้ไขอย่างไร อย่างสมัยก่อนทางไหลของน้ำลงทะเลกว้าง 5-6 เมตร

ตอนนี้ทำไมเหลือเพียง 3 เมตร โดยเฉพาะย่านเมืองเก่า อนาคตถ้าไม่ไปสำรวจ และแก้ปัญหา ต่อไปฝนตกน้ำท่วมอีกแน่ เราไม่โทษใคร ทุกคนอยากทำให้บ้านเมืองสวยงาม บ้านเมืองน่าเที่ยว บางครั้งลงทุนเป็นระดับพันล้านบาท แต่ลืมคิดถึงว่า มันไปขวางทางไหลของน้ำ