ส่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด-เมียวดี เร่งโครงสร้างพื้นฐาน รับลงทุนเต็มสูบ !

อำเภอเล็ก ๆ กลางหุบเขา แต่เป็นหมุดหมายของนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่กำลังพาเหรดข้ามป่าข้ามดอย มุ่งหน้าสู่ “แม่สอด” อำเภอตอนกลางของจังหวัดตาก เมืองการค้าชายแดนเชื่อมโยงเมืองเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศเมียนมา

พร้อมกับแรงส่งของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ที่รัฐบาลประกาศให้จัดตั้งมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2558 ยิ่งเพิ่มแรงดึงดูดการลงทุนให้แม่สอด หนึ่งในสามอำเภอของจังหวัดตาก คือ แม่สอด แม่ระมาด และพบพระ ที่ถูกวางให้เป็นพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในช่วงระยะ 2 ปี แม่สอดได้ถูกพลิกโฉมอย่างน่าจับตา

ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 (เชียงใหม่) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ลงพื้นที่สำรวจการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก และเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ระหว่างวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่ออัพเดตความเคลื่อนไหวด้านการลงทุน

“สมชัย กิจรุ่งโรจน์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เปิดเผยว่า ศักยภาพของเขตพัฒนาเศรษฐกิจ
พิเศษตาก เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศไทย อยู่บนเส้นทางสำคัญ 2 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางเชื่อมเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) และเส้นทางหลวงสายเอเชียสาย 1 (Asian Highway : AH1) ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานทั้งระบบ รัฐบาลได้ทุ่มงบประมาณจำนวนหลายพันล้านบาท พัฒนาทั้งโครงข่ายถนน สะพานมิตรภาพไทย-พม่าแห่งที่ 2 การปรับปรุงขยายสนามบิน ด่านศุลกากรแห่งที่ 2 ระบบไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต เป็นต้น ซึ่งการวางระบบโครงสร้างพื้นฐานจะพร้อมสมบูรณ์ภายในปี 2562

ด้วยศักยภาพของแม่สอดเป็นพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อีกทั้งตลาดเมียนมามีศักยภาพสูงขึ้น ขนาดตลาดที่ใหญ่ขึ้น และกำลังซื้อที่มีมากขึ้น รวมถึงรสนิยมชอบสินค้าไทย ทำให้เส้นทางจากแม่สอด-ย่างกุ้ง ระยะทางราว 493 กิโลเมตร มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากภูมิประเทศของเมียนมาที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศที่มีตลาดขนาดใหญ่ ได้แก่ จีน อินเดีย และบังกลาเทศ เท่ากับว่าการเชื่อมโยงกับเมียนมาจึงเป็นประตูสำคัญในการระบายสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอินเดียที่เป็นตลาดขนาดใหญ่ ประชากรราว 1,324 ล้านคน

ทุนญี่ปุ่น ขยายฐานแม่สอด 100 ล้าน

“อรพิน สวัสดิ์พานิช” ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 1 (เชียงใหม่) กล่าวว่า อำเภอแม่สอดถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงมากด้านการลงทุน ซึ่งเมื่อถูกยกระดับให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ยิ่งเพิ่มแรงบวกให้เมืองแห่งนี้ ด้วยมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ อาทิ กิจการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอก็จะได้รับสิทธิประโยชน์หลายด้าน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี การยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร และการใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ เป็นต้น

โดยเฉพาะกิจการที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น จะมีความได้เปรียบเพราะมีโอกาสในการเข้าถึงแรงงานจากประเทศเมียนมาจำนวนมากที่ต้องการเดินทางเข้ามาทำงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด

ล่าสุด บริษัท ซาคาเอะเลซ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการผลิตผ้าลูกไม้ของนักลงทุนญี่ปุ่น มีฐานการผลิตใหญ่ในนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ได้ขยายฐานการผลิตมายังอำเภอแม่สอด ตั้งอยู่ภายในเขตนิคมอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท โดยใช้แรงงานจากประเทศเมียนมา 100% เนื่องจากเป็นกิจการที่ผลิตผ้าลูกไม้สำหรับชุดชั้นในสตรีและเครื่องแต่งกาย ซึ่งต้องใช้แรงงานเข้มข้น การย้ายฐานมาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงมีโอกาสเข้าถึงแรงงานจากประเทศเมียนมา

เขตเศรษฐกิจเมียวดีคึกคัก

สำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี ขณะนี้ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย ศูนย์บริการศุลกากรเบ็ดเสร็จด้านการลงทุน (one stop service : OSS) เป็นจุดที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการสินค้าส่งออกและนำเข้าระหว่างไทยและเมียนมา จุดพักสินค้านำเข้าและส่งออก จุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า (logistic park) นิคมอุตสาหกรรม และโซนธุรกิจบริการ เป็นต้น

“พงค์ชัย ตันอรุณชัย” รองเลขาธิการหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า ภาคเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของเมืองเมียวดี ในขณะนี้นับว่าเติบโตสูงมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านธุรกิจโรงแรม ธนาคารขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดีก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีการลงทุนโครงการนิคมอุตสาหกรรม เพื่อรองรับการลงทุนจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ

ค้าชายแดนพุ่ง 20%

“กฤดิพรรธน์ สิงห์อุบลปิติกุล” ผู้อำนวยการส่วนบริการศุลกากร ด่านศุลกากรแม่สอด กล่าวว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก มีหลายมิติที่ด่านศุลกากรแม่สอดเข้าไปเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ซึ่งในช่วงระยะ 2 ปี การขนส่งสินค้ามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก สถิติรถบรรทุกสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี นับจากปี 2555 ที่มีรถผ่านด่านศุลกากรแม่สอดไปยังประเทศเมียนมาเพียง 58 คันต่อวัน และในปี 2560 เพิ่มขึ้นถึง 316 คันต่อวันโดยมูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ปี 2558 ล่าสุดปี 2560 มีมูลค่ากว่า 83,806 ล้านบาท เป็นสัดส่วนมูลค่าส่งออก 79,272 ล้านบาท

และมูลค่าการนำเข้า 5,300 ล้านบาท ซึ่งแนวโน้มการค้าชายแดนจะเพิ่มปริมาณสูงขึ้นกว่านี้ ด้วยปัจจัยเร่งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านการขนส่ง-โลจิสติกส์ คาดว่าปี 2561 มูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้น 20%

ทั้งนี้เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ด่านศุลกากรแม่สอดจึงมีโครงการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการสำคัญ คือ การก่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งที่ 2 บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 2 บนเนื้อที่ 120 ไร่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการค้าชายแดน งบประมาณการก่อสร้างกว่า 393 ล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างราวกลางปี 2561 แล้วเสร็จราวปี 2562

เร่งโครงสร้างพื้นฐานรับลงทุน

“สนิท ทองมา” ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงตากที่ 2 (แม่สอด) กล่าวว่า ความก้าวหน้าการดำเนินงานเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก ด้านโครงสร้างพื้นฐานมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 12 สายตาก-แม่สอด แล้วเสร็จตอนที่ 1-2 ตอนที่ 3 ผลงาน 95% ตอนที่ 4 ผลงาน 36.37% โดยเส้นทางนี้จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2562

ส่วนโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 130 และการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย (สะพานมิตรภาพไทย-พม่า) แห่งที่ 2 พร้อมโครงข่ายขณะนี้ผลงาน 100% ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ ขณะที่ถนน ผลงาน 91.95% และการก่อสร้าง border facility control : BCF ผลงาน 15.61% โดยโครงการจะแล้วเสร็จปี 2562

ด้านโครงการปรับปรุงขยายท่าอากาศยานแม่สอด ในปี 2561 โครงการก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ ผลงาน 86.65% โครงการก่อสร้างทางวิ่ง ลานจอดอากาศยาน และเสริมผิวทางวิ่งเดิม ผลงาน 82.66% จัดซื้อที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง พืชผล จำนวน 306 ไร่ จัดซื้อแล้ว 65% ของพื้นที่ที่ต้องการ (ปัจจุบันอยู่ระหว่างออก พ.ร.ฎ.เวนคืน) งานก่อสร้างต่อเติมความยาวทางวิ่งขนาด 45×2,100 เมตร ผลงาน 0.98% โดยโครงการก่อสร้างทั้งหมดจะแล้วเสร็จปี 2562

วันนี้คลื่นการลงทุนกำลังไหลเข้าสู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากอย่างคึกคัก และแรงดึงดูดมุ่งมาที่แม่สอด เกตเวย์การค้าของไทยเชื่อมเมียนมาและเอเชียใต้