สระแก้ว เตรียมรับมือภัยแล้งปี’66 หลังปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสระแก้ว

สระแก้ว เตรียมรับมือภัยแล้ง ปี’66 หลังปริมาณน้ำรวมเหลือ 140 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปี’65 ประมาณ 22.30 ล้าน ลบ.ม. 

วันที่ 17 มีนาคม 2566 นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เรียกประชุมคณะกรรมการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2566 ณ ห้องประชุมบูรพา ชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสระแก้ว

ตามที่กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในเดือนมีนาคมเป็นต้นไป จะมีอากาศร้อนถึงร้อนจัด อาจก่อให้เกิดการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ จึงได้มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อม ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล สาธารณภัยของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว เปิดเผยว่า จังหวัดสระแก้ว ได้มีการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2566 ทั้งกำลังเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกลสาธารณภัยของหน่วยงานฝ่ายพลเรือน หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง อาทิ โครงการชลประทานสระแก้ว เตรียมเครื่องสูบน้ำ หน่วยงานทหาร

ซึ่งมี มทบ.19 กอ.รมน.สระแก้ว หน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 12 จัดเตรียมกำลังพล รถบรรทุกน้ำ ขนาด 6,000 ลิตร บริการพื้นที่ได้รับผลกระทบ เช่น อ.ตาพระยา อ.โคกสูง กองบิน 3 เตรียมประสานการทำฝนหลวง การประปาส่วนภูมิภาค เตรียมบริการน้ำดื่ม เป็นต้น

ด้านโครงการชลประทานสระแก้ว รายงานปริมาณน้ำในแหล่งเก็บน้ำ จำนวน 16 แห่ง ว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำรวม 140 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52.93 น้อยกว่าปี 2565 ประมาณ 22.30 ล้าน ลบ.ม. หรือน้อยกว่าประมาณ 8.38% แต่มีปริมาณเพียงพอในการอุปโภค บริโภคแน่นอน ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบภัยแล้งในปีนี้ อาทิ อำเภอตาพระยา และอำเภอโคกสูง

ด้านนายอวิรุทธ์ วรกิตติ์ไพศาล หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสระแก้ว กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางในการช่วยเหลือประชาชนเมื่อเกิดภัยแล้ง ของจังหวัดสระแก้ว ตั้งแต่ระดับปกติ จนถึงสถานการณ์รุนแรง โดยในช่วงสถานการณ์ปกติไม่รุนแรง ขอให้หน่วยงานในพื้นที่ อาทิ อบจ.สระแก้ว อปท.ทุกแห่ง เข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ตามปกติ


ถ้าเกินศักยภาพของหน่วยงาน จำเป็นต้องใช้แผนเผชิญเหตุภัยแล้ง ให้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือเข้าช่วยเหลือ และหากเกิดสถานการณ์รุนแรง น้ำแห้งขอด จะต้องมีการประกาศเป็นเขตภัยแล้ง และต้องใช้งบประมาณในการช่วยเหลือเยียวยาต่อไป