“โกลเด้น คอสเมติก” ตราด บุก CLMV ตั้งเป้าปี 2566 โต 40%

คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมระบุว่า ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง (cosmetics) ของไทยมีมูลค่าสูงถึง 200,000 ล้านบาท เฉพาะตลาดในประเทศกว่า 100,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดส่งออกไปต่างประเทศอยู่ที่ 80,000 ล้านบาท โดยกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) ถือเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ที่น่าสนใจ และคาดว่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

“ดร.นพ.อัฐพล อรุณวุฒิพงศ์” หรือ “หมอมาร์ช” กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลเด้น คอสเมติก จำกัด จังหวัดตราด หนึ่งในผู้ประกอบการรายเล็กของไทยที่ผลิตสินค้าคอสเมติกขายตลาดภายในประเทศ และส่งออกไปขายตลาด CLMV

ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โกลเด้น คอสเมติก เป็นโรงงานผลิตเครื่องสำอางแห่งเดียวในภาคตะวันออก ผลิตสินค้า 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงผิว (skincare) กลุ่มผลิตภัณฑ์บำรุงเส้นผม (haircare) กลุ่มสบู่และดูแลอนามัยส่วนบุคคล (soap&toiletries) และกลุ่มผลิตภัณฑ์ตกแต่งสี (color cosmetics) กลุ่มเป้าหมายลูกค้าคือตลาดแมส (mass) ราคาขายส่งตั้งแต่ 10-50 บาทต่อชิ้น แล้วแต่ชนิดของสินค้า

“เราไม่ใช่บริษัทมหาชน ธุรกิจนี้มาจากพื้นเพครอบครัวที่ในอดีตคุณแม่เปิดร้านขายเครื่องสำอางที่ตลาดในตัวเมือง ส่วนตัวผมเมื่อเรียนจบด้านการแพทย์ได้รับราชการอยู่ 3 ปี กระทั่งเห็นว่าการผลิตเครื่องสำอางมีโอกาสเติบโต

จึงลาออกมาเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง (Cosmetic Science) และด้านบริหารธุรกิจ (Master of Business Administration : MBA) และปริญญาเอก สาขาธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม เพื่อพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐาน ปลอดภัย และเพิ่มทักษะในด้านธุรกิจ ก่อนจะเริ่มตั้งโรงงานขนาดเล็กผลิตเครื่องสำอางที่ได้มาตรฐานรับรองทั้ง GMP ISO 9001 2015 และฮาลาล ส่งขายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”

โกลเด้น คอสเมติก

เวียดนามยอดขายสูงสุด

“ดร.นพ.อัฐพล” บอกว่า สัดส่วนการจำหน่ายสินค้าสูงสุดของบริษัทอยู่ในประเทศเวียดนามกว่า 70% ในประเทศไทย 20% ส่วนอีก 10% เป็นกัมพูชา และอินโดนีเซีย โดยเริ่มบุกตลาด CLMV ตั้งแต่ก่อนตั้งบริษัทเมื่อปี 2548 ที่การแข่งขันธุรกิจคอสเมติกยังไม่สูงมากนัก

และผู้คนใน ASEAN ค่อนข้างนิยมสินค้าไทย เปิดตัวครั้งแรกด้วยการออกบูทร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ตามเมืองใหญ่ อาทิ พนมเปญ โฮจิมินห์ ฮานอย ย่างกุ้ง แล้วได้คอนเน็กชั่น มีตัวแทนจำหน่ายในประเทศนั้น

เวียดนามถือเป็นหนึ่งในตลาดที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูง ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะสินค้าประเภทครีมทาหน้าในชื่อแบรนด์ว่า Golden Korean หรือ ครีมไข่มุกโกลเด้น เกาเหลียน ส่งออกเดือนละ 350,000 ชิ้น และแบรนด์ Kociety

ซึ่งแต่งตั้งผู้จัดจำหน่ายเพียงผู้เดียว (sole distributor) เหมือนการขายส่งให้ และให้ผู้จัดจำหน่ายไปช่วยกระจายสินค้า ไม่ยุ่งยากแต่ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ตัวแทน ต้องผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐาน มีห้องแล็บทำวิจัยและพัฒนาสินค้า และผลิตเดือนต่อเดือนไม่มีสินค้าตกค้าง แม้สินค้าจะมีอายุ 2 ปี แต่บริษัทสต๊อกนานสูงสุดไม่เกิน 6 เดือน

โกลเด้น คอสเมติก

ถัดมาเป็นตลาดกัมพูชา มีสินค้าในชื่อแบรนด์ Only ส่วนใหญ่เป็นโฟมล้างหน้า ค่อนข้างเป็นตลาดขนาดเล็ก ไม่ขยายตัว ใช้ผู้จัดจำหน่ายเพียงคนเดียวเช่นกัน แต่ต้องคงสินค้าราคาถูกเอาไว้ตลอด ถัดมาเป็นแบรนด์ Kociety มาจากคำว่า Korean+Society เริ่มทำตลาดมาได้ประมาณ 10 ปี เพื่อเจาะกลุ่มวัยรุ่นเป็นหลักในช่วงที่เครื่องสำอางเกาหลีบูมในไทย ทั้งนี้ แบรนด์ Kociety ใช้จำหน่ายสินค้าภายในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ Colorcute ผลิตภัณฑ์ตกแต่งเปลี่ยนสีผม ปิดผมขาว แชมพู ครีมนวดผม กำลังทำการตลาดไปประเทศอินโดนีเซีย ใช้วิธีการรับจ้างผลิต (OEM) ถือว่ามีอัตราการเติบโตค่อนข้างสูง เช่นเดียวกับสินค้ากลุ่มสกินแคร์ ครีมบำรุงผิวหน้า

“ในเมืองไทยมีโรงงานทำผลิตภัณฑ์สีผมไม่มากนัก เป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์แฮร์คัลเลอร์ทำสีผม ที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนของรายได้ของบริษัทให้เติบโตขึ้น โดยวางเป้าหมายเจาะตลาดเป็นกลุ่ม ๆ เช่น สมาคมช่างผมมืออาชีพแห่งประเทศไทย ที่เป็นลูกค้าทำ OEM กลุ่มนี้ช่วยกำหนดให้ผลิตสินค้าตามความต้องการของตลาด ส่วนผลิตภัณฑ์ สกินแคร์ มาสก์หน้า (mask)

เป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายดีในเมืองไทย ภายใต้แบรนด์ Kociety มีการพัฒนาสูตรที่ใช้ส่วนผสมจากสารสกัดจากธรรมชาติ ที่สร้างความเชื่อมั่นของคุณภาพและความปลอดภัยเป็นจุดขายของการทำตลาด กำลังเริ่มทำตลาดในเวียดนาม ตัวแทนเริ่มนำไปวางขายในห้าง”

ความได้เปรียบตลาด CLMV

ในกลุ่มประเทศ CLMV “ดร.นพ.อัฐพล” เล่าว่า ทำการตลาดง่ายกว่าในประเทศไทย เพราะการขายตลาดในประเทศไทยต้องผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มีปัญหาหลายเรื่อง และลูกค้าไม่รู้จักแบรนด์ ไม่เชื่อมั่นคุณภาพ ทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์ทำมาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น เครื่องสำอางจากสาหร่ายทะเลที่ต้นทุนสูงมาก ช่วยลบริ้วรอย ทำให้ผิวขาว

ถือเป็นสินค้าพรีเมี่ยมอีก 1 ตัวของบริษัท ผลตอบรับดี แต่เมื่อหมดสัญญากับมหาวิทยาลัยก็ต้องเลิกผลิต มีเพียงแบรนด์ Kociety และ Colorcute ที่ยังคงวางขายได้ดีในตลาดโมเดิร์นเทรด อย่างบิ๊กซี โลตัส ซีเจ เป็นต้น

“การทำตลาดในประเทศมีข้อจำกัดหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายวางสินค้าบนเชลฟ์ การทำยอดขาย ภายใน 1-2 ปีต้องเปลี่ยนสินค้า และในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาต้องแข่งขันกับสินค้าเกาหลีที่มาแรงมาก ซึ่งกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นจะชอบทดลองแบรนด์ใหม่และราคาถูกกว่า เช่น มาสก์หน้าเราขายชิ้นละ 39-49 บาท ของเกาหลีดัมพ์ราคาขาย 19 บาท

ทางออกคือต้องผลิตสินค้าให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันสูง จึงมองว่าตลาดในประเทศไทยมีโอกาสเติบโตได้ประมาณ 5-10% ส่วนในกลุ่ม CLMV มีโอกาสเติบโตสูง แม้ว่ามีคู่แข่งขันอย่างประเทศจีน เกาหลี แต่ข้อได้เปรียบของเรา คือ คนกัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม มีความนิยมวัฒนธรมไทย อาหารไทย รวมทั้งยังเชื่อมั่นในสินค้าไทย”

โกลเด้น คอสเมติก

สำหรับผู้ประกอบการ SMEs แบรนด์ใหม่ ทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ ดัง หรือไม่ดัง การทดลองตลาด CLMV ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะแข่งขันน้อยกว่าการทำตลาดในไทย กฎหมายควบคุมการผลิต การรับรองมาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ใช้เหมือนกัน และได้รับสิทธิพิเศษความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภาษีนำเข้า 0%

แต่ต้องระวังความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะกลุ่มประเทศเหล่านี้ใช้เงินสกุลดอลลาร์ หากค่าเงินบาทอ่อนลงจำเป็นต้องประกันความเสี่ยง ทำสัญญาประกันความเสี่ยงกับธนาคาร ล็อกค่าเงินบาทล่วงหน้า ไม่ให้ขาดทุน ไม่เช่นนั้นกำไร 5-10% จะหายไปในวันเดียว

คาดปี 2566 ขยายตัว 30-40%

“ดร.นพ.อัฐพล” บอกว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2565 บริษัท โกลเด้น คอสเมติก จำกัด ได้รับผลกระทบช่วงการล็อกดาวน์ ประมาณ 1-2 เดือน ทำให้ยอดขายลดลงจากปีก่อน ๆ เหลืออยู่เพียง 25 ล้านบาท เพราะต้องเลื่อนการส่งสินค้าออกไป

ปัจจุบันเริ่มฟื้นตัวขึ้น ตอนนี้อยู่ที่ 30 ล้านบาท หากลูกค้าจากอินโดนีเซียออร์เดอร์ OEM Haircoulor แชมพูปิดผมขาวที่เป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวหนึ่งของบริษัทเพิ่มขึ้น คาดว่าช่วงไตรมาส 3-4 ปี 2566 จะสามารถทำยอดขายได้ประมาณ 35 ล้านบาท ตลาดจะขยายตัวได้ถึง 30-40%

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตของโรงงานเกือบเต็มกำลัง 100% แล้ว คิดว่าในอนาคตจะขยายโรงงานเพิ่มกำลังการผลิต แยกไลน์การผลิตอีก และบริษัทมีโปรดักต์ใหม่ล่าสุดใช้น้ำมันสกัดจาก “เมล็ดกัญชง” ทำเครื่องสำอาง มาสก์หน้า รอระยะเวลาเปิดตลาดในไทย