คุยกับ “ฐาปนา บุณยประวิตร” มือปั้น “บริษัทพัฒนาเมือง” ทั่วไทย

สัมภาษณ์

ในแวดวงการพัฒนาเมืองและการวางผังเมือง เชื่อว่าชื่อของ “ฐาปนา บุณยประวิตร” ติดอยู่ในลิสต์อันดับต้น ๆ โดยเฉพาะกับแนวคิด การเติบโตอย่างชาญฉลาด (smart growth) ของสหรัฐอเมริกา ที่นักพัฒนาเมืองผู้นี้นำมาเผยแพร่ นอกจากนี้ เขายังมีอีกหลายบทบาท ทั้งในฐานะกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเซีย สเปซ แพลนนิ่ง จำกัด บริษัทที่ปรึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมือง หรือนายกสมาคมการผังเมืองไทย

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ฐาปนา บุณยประวิตร” ถึงบทบาทในการปลุกปั้น “บริษัทพัฒนาเมือง” การพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ที่เกิดจากการรวมพลังของภาคเอกชนในหลายจังหวัด ดังนี้

“ฐาปนา” เริ่มการสนทนาว่า ย้อนไปการเกิดขึ้นของ “บริษัทพัฒนาเมือง” ต้องยกเครดิตให้กับภาคเอกชนท้องถิ่นจังหวัดขอนแก่นที่รวมตัวกันระดมเงินทุนจัดตั้ง “บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด” เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เป็นการลงทุนของเอกชน 100% เพื่อทำโครงการขนส่งมวลชน ด้วยการนำแนวคิด smart growth มาเป็นกรอบหลักของโครงการ

จุดเริ่มต้นของบริษัทขอนแก่นพัฒนาเมือง เกิดจากภาคเอกชนในขอนแก่นที่มองเห็นปัญหาของจังหวัด และไม่สามารถจะรอความหวังจากรัฐได้ ที่สำคัญคือ ปัญหาดังกล่าวมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านการจราจร จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนลำดับต้น ๆ ที่ต้องแก้ไข ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมทำโครงการรถไฟฟ้ารางเบา

นอกจากนี้ หลาย ๆ จังหวัดต่างก็ประสบปัญหาคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะปัญหาการจราจร เขานำโมเดล “บริษัทพัฒนาเมือง” ไปคุยกับภาคเอกชนจังหวัดภูเก็ต และสามารถตั้งบริษัท ภูเก็ตพัฒนาเมือง จำกัด ขึ้นมาได้ ภายในเวลาเพียง 4 เดือน ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และขณะนี้แตกบริษัทลูกออกมาถึง 6 บริษัท มีพนักงานราว 150 คน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินโครงการด้านพัฒนาเมืองแบบครบวงจร

และเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา บริษัทภูเก็ตพัฒนาเมือง ได้ลงทุนทำระบบขนส่งมวลชนเพื่อแก้ปัญหาการจราจรเป็นโครงการแรก ด้วยการเปิดให้บริการรถบัสขนส่งมวลชน “ภูเก็ต ทรานซิสท์”

จากภูเก็ต “ฐาปนา” ยังคงเดินหน้านำโมเดลนี้ไปคุยกับภาคเอกชนจังหวัดต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองของหลายจังหวัด ได้แก่ บริษัทสมุทรสาครพัฒนาเมือง, บริษัทสระบุรีพัฒนาเมือง, บริษัทระยองพัฒนาเมือง, บริษัทเชียงใหม่พัฒนาเมือง, บริษัทพิษณุโลกพัฒนาเมือง, บริษัทสุโขทัยพัฒนาเมือง, บริษัทชลบุรีพัฒนาเมือง, บริษัทสงขลาพัฒนาเมือง, บริษัทอุบลราชธานีพัฒนาเมือง

นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมจดทะเบียนอีก อาทิ จังหวัดอุดรธานี ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ยโสธร และอำนาจเจริญ คาดว่าภายในปีนี้จะมีบริษัทพัฒนาเมืองรวมไม่ต่ำกว่า 20 บริษัท หรือ 20 จังหวัด

“ฐาปนา” ย้ำว่า เป้าหมายหลักของการขับเคลื่อนบริษัทพัฒนาเมือง คือ แก้ไขปัญหาของเมืองหรือจังหวัดนั้น ๆ อย่างเร่งด่วน และเมื่อแก้ในสิ่งที่เป็นปัญหาเร่งด่วนนี้แล้ว ปัญหาอื่น ๆ จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย เนื่องจากปัญหาการจราจรเป็นเรื่องใหญ่ และทุกจังหวัดล้วนมีปัญหานี้เหมือนกัน และการจราจรก็จะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองในอนาคต

ดังนั้นการแก้ปัญหา จึงเริ่มที่ “ขนส่งมวลชน” และขนส่งมวลชนก็จะเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเมือง ตามแนวคิดของ smart growth หากลงมือทำขนส่งมวลชน สิ่งอื่น ๆ จะเปลี่ยนตามไปด้วย เช่น จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน เช่น มีศูนย์ธุรกิจเกิดขึ้นรอบ ๆ สถานี เป็นต้น

นอกจากนี้ ระบบขนส่งมวลชนยังจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเมืองในหลาย ๆ เรื่องเกิดตามมา เมื่อเมืองมีความกระชับ ก็จะทำให้เกิดเมืองคนเดิน เมืองคนปั่นจักรยาน เพราะเมื่อขนส่งมวลชนมาส่งคนที่สถานี คนเดินทางจะไปไหนต่อ ถ้าไปไม่ไกลมากเขาก็จะเลือกการเดิน หรือถ้าไกลมากก็อาจใช้จักรยาน ที่จะมีไบก์แชริ่งจอดอยู่ตามสถานีต่าง ๆ

หลังจากจุดประกายและปลุกปั้นบริษัทพัฒนาเมืองมาได้ 3 ปี สเต็ปต่อมา “ฐาปนา” ได้มีการต่อยอดมาสู่การจัดตั้งบริษัท รีเจียนนอล ทรานซิสท์ คอร์เปอร์เรชั่น จำกัด (RTC) เพื่อระดมทุนจากเครือข่ายกิจการพัฒนาเมืองในจังหวัดต่าง ๆ ด้วยทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 5 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 40 ล้านบาท ภายในเดือนเมษายนนี้ เป้าหมายสำคัญคือ การสนันสนุนและลงทุนเพื่อให้เกิดระบบขนส่งมวลชนขึ้นมาในเมือง

ล่าสุด เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา RTC เริ่มลงทุนทำโครงการแรก รถบัสขนส่งมวลชน (CM transit) ที่เชียงใหม่ ด้วยงบประมาณราว 40 ล้านบาท และยังมีแผนจะลงทุนทำระบบขนส่งมวลชนในอีกหลาย ๆ จังหวัด อาทิ อุดรธานี สระบุรี และระยอง

ส่วนรูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นบริษัทพัฒนาเมืองของแต่ละจังหวัดลงทุนเอง บริษัทพัฒนาเมืองของแต่ละจังหวัดร่วมทุนกับ RTC และ RTC เป็นผู้ลงทุนในกรณีที่จังหวัดนั้น ๆ ยังไม่มีความพร้อม

“เราตั้งเป้าจะนำ RTC เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายใน 3 ปี เพื่อระดมเงินทุนมาพัฒนาระบบขนส่งมวลชนให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น”

เขาย้ำในตอนท้ายว่า ปัจจุบันการพัฒนาเมืองของไทยยังเป็นการพัฒนาในรูปแบบเก่า ไม่มีการวางแผนที่รัดกุม ทำให้เกิดสภาพการกระจัดกระจายของเมือง ส่งผลให้เมืองโตแบบไร้ทิศทางและเป็นการบังคับให้คนต้องใช้รถยนต์

ส่วนบุคคลเป็นหลัก ซึ่งการพัฒนาเมืองรูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยบริษัทพัฒนาเมือง จะทำให้เมืองกระชับมากขึ้น
และเมื่อบริษัทพัฒนาเมืองเริ่มโตขึ้นในระดับหนึ่ง ก็จะต้องดึงภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เพื่อเอากระบวนการที่ขับเคลื่อนเป็นนโยบาย เพราะการพัฒนาเมืองที่จะสำเร็จได้ต้องร่วมกัน 2 ภาค คือ รัฐ และเอกชน

“การพัฒนาเมืองเป็นการสร้างความสัมพันธ์ของคนในเมือง คนที่มีเงิน 1 พันบาท 1 หมื่นบาท หรือ 1 ล้านบาท ก็ควรมีความเท่าเทียมกัน จ่ายค่ารถเมล์ 20 บาทเท่ากัน เป็นความเท่าเทียมเบื้องต้นที่ควรได้รับจากภาครัฐ และขนส่งมวลชนเป็นตัวเดียวที่จะทำให้ประชาชนเท่าเทียมกัน และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเมือง”

นี่คือ มุมมองและแนวคิดแบบ smart ของนักพัฒนาเมืองวัย 57 ปี มือปั้น “บริษัทพัฒนาเมือง” ทั่วไทย