กว่า 30 ปีที่หลายภาคส่วนพยายามแก้ปัญหา “ทุเรียนอ่อน” หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อการส่งออก “ทุเรียน” มูลค่ากว่าแสนล้านบาทของไทย แต่จนแล้วจนรอดยังไม่สามารถจัดการขั้นเด็ดขาดได้ ทำให้ทุกปีมีทุเรียนอ่อนถูกส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศจำนวนมาก
นายชลธี นุ่มหนู อดีตหัวหน้า “ทีมพญาเหยี่ยว” กรมวิชาการเกษตร วันนี้กลับมาลุยแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนอีกครั้ง ในบทบาทที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและประธานเครือข่ายทุเรียนไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เนื่องจากทุเรียนสร้างมูลค่าปีละกว่า 100,000 ล้านบาท และปริมาณทุเรียนยังเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก
ขณะที่ต้องเผชิญกับคู่แข่งจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จาก เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย กัมพูชา สปป.ลาว ทุเรียนไทยต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดผู้บริโภคด้วยคุณภาพ ไม่มีทุเรียนอ่อนออกไปตลาดต่างประเทศ
โดยเฉพาะตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ ที่ผ่านมามีประกาศของจังหวัดเป็นตัวควบคุม เพิ่งจะมีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวม และโรงคัดบรรจุ ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่จะทดลองใช้ 1 ปี ในฤดูกาลผลิต ปี’66/67 และปี 2567 จะประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ
ปัญหาทุเรียนอ่อนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในวงการทุเรียนไทย การแก้ปัญหาที่ผ่านมาดำเนินการป้องกัน โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหลัก มีบุคลากร งบประมาณจำกัด และควบคุมได้เฉพาะโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ในส่วนภาคเอกชนมีการจัดตั้งเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทย เพื่อเฝ้าระวังทุเรียนอ่อนออกสู่ตลาด แต่การควบคุมจากสวนที่เป็นต้นน้ำยังไม่มีการดูแลอย่างทั่วถึง สวนของเกษตรกร กระดุมเม็ดแรกไม่มีหน่วยงานมาดูแลได้ทั่วถึง
นายศักดินัย นุ่มหนู สส.จ.ตราดประธานคณะกรรมาธิการการเกษตรและสหกรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้มีแนวคิดจัดทำ “หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน” ร่วมกับภาคเอกชน คือ สภาเกษตรกร สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย
เพื่อควบคุมดูแลไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อนออกจากสวน เป็นการทำงานเชิงรุกให้ทันฤดูกาลผลิต 66/67 นี้ เริ่มนำร่องใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ จันทบุรี ระยอง ตราด จากนั้นจะขยายผลไปภาคอื่น ๆ โดยจะนัดปรึกษาหารือเครือข่ายแต่ละพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดเพื่อวางแผน ระยะเวลาการทำงาน
เริ่มที่ จ.ตราดก่อน เพราะมีผลผลิตออกก่อน รูปแบบการทำงานจะนัดปรึกษาหารือ เครือข่ายร่วมกัน ระดับตำบล หมู่บ้าน จัดทำข้อมูลดูแลการตัดทุเรียน และมีการติดตามผล ถ้าหมู่บ้านใดไม่มีทุเรียนอ่อน จะประกาศเกียรติคุณมอบรางวัลให้
ช่วงฤดูกาลปีนี้ 66/67 พื้นที่ปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น จากกระแสราคาทุเรียนแรงมากในปี 2560-2562 ผลผลิตจะเริ่มให้ผลปี 2566-2567 ทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอาจจะหลายแสนตัน และความผันผวนของอากาศ ทำให้ทุเรียนภาคตะวันออกนอกฤดูจะล่าช้าไปชนกับทุเรียนที่ออกตามธรรมชาติ
ทำให้ปริมาณทุเรียนช่วง peak เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ประกาศควบคุมโรงคัดบรรจุตามกฎหมายเป็นปลายทาง และโรงคัดบรรจุมีจำนวนมาก ทีมเล็บเหยี่ยวและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ดูแลไม่ทั่วถึง ยังมีการหลบซ่อน ตบตาเจ้าหน้าที่มีผลผลิตทุเรียนอ่อนหลุดออกไปตลาดต่างประเทศ การควบคุมต้นทางจากสวน จะช่วยให้ควบคุมคุณภาพได้ดีอีกทางหนึ่งและช่วยแบ่งเบาภาระเจ้าหน้าที่
“การแก้ปัญหาทุเรียนอ่อนด้วยโมเดลติดกระดุม 3 เม็ดให้ครบ คือ ชาวสวน มือตัดและโรงคัดบรรจุ ต้องดำเนินการไปด้วยกันทั้ง 3 ส่วน ที่ผ่านมามีการควบคุมโรงคัดบรรจุ อบรมและขึ้นทะเบียนมือตัด แต่ในส่วนของชาวสวนเป็นกระดุมเม็ดแรก ต้องดูแลกันเองไม่ให้ตัดทุเรียนอ่อน
รวมทั้งภาคประชาสังคม กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในท้องที่มีความรับผิดชอบโดยตรง เพื่อควบคุมคุณภาพทุเรียนระดับพื้นที่จัดทำ ‘หมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน’ ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวทางของเครือข่ายพิทักษ์ทุเรียนไทยที่นำร่องไปแล้ว และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : หลักปฏิบัติในการตรวจและรับผลทุเรียนสำหรับโรงรวบรวมและโรงคัดบรรจุ ที่ทดลองใช้ในฤดูกาล 66/67
และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2567 ปัญหาคุณภาพทุเรียน โดยเฉพาะทุเรียนอ่อน ต้องเตรียมการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนที่เป็นตลาดใหญ่ที่สุดและยังมีปริมาณความต้องการสูง เป็นหนทางเดียวที่จะรักษาตลาดทุเรียนในอนาคตไว้เพื่อส่งต่อให้ลูกหลาน การสูญเสียตลาดโอกาสที่จะกลับคืนยาก”
นายธัญญา ขาวเกลี้ยง นายก อบต.อ่าวใหญ่ อ.เมืองตราด จ.ตราด กล่าวว่า ตอนนี้ใน ต.อ่าวใหญ่กำลังรวบรวมจัดตั้งกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อ่าวใหญ่ เพื่อพัฒนาคุณภาพผลผลิตและสร้างอำนาจต่อรองทางการตลาด เพราะทุเรียนเป็นอาชีพหลัก ที่ชาวบ้านหวังพึ่ง ชาวสวนจะไม่ขายทุเรียนอ่อนเพราะทุเรียนที่อ่าวใหญ่ให้ผลผลิตก่อนพื้นที่อื่น ๆ ของไทยได้ราคาสูง ทุเรียนหมอนทองตั้งแต่ระยะดอกบานถึงทุเรียนแก่ ใช้ระยะเวลาเพียง 95-100 วัน
ในขณะที่ทั่วไป 120 วัน ส่วนใหญ่ชาวสวนจะเหมาให้พ่อค้า แต่มีการโยงเชือกต่างสีกับลูกทุเรียนบอกชัดเจน จะไม่มีการตัดข้ามรุ่นถ้าเจ้าของสวนไม่ยอม ซึ่งได้มีการรณรงค์สร้างจิตสำนึกให้ชาวสวนไม่ขายทุเรียนอ่อน และหากพ่อค้าจะตัดเจ้าของสวนตรวจสอบได้เพราะพ่อค้าต้องโอนเงินเข้าบัญชีให้เจ้าของสวนให้เรียบร้อยก่อนจึงจะออกจากสวนได้
“2-3 ปีเคยมีพ่อค้ารับออร์เดอร์จากล้งมาซื้อเหมาใบ วางเงินมัดจำและตกลงให้ราคาขึ้น-ลง ตามตลาด แต่จริง ๆ ไม่เป็นไปตามข้อตกลง ส่วนใหญ่เป็นชาวสวนรายย่อยที่ต้องการเงินทุนมาหมุนเวียน ตอนนี้ไม่มีใครขายใบกันแล้ว หากจะมีการทำหมู่บ้านปลอดทุเรียนอ่อน เป็นผลดีกับคุณภาพทุเรียนไทยแน่นอน และยินดีที่จะให้ความร่วมมือเพราะตอนนี้เศรษฐกิจหมู่บ้าน ยางพารา ผลไม้อื่นถูกตัดโค่นปลูกทุเรียนกันเกือบหมด ประมงพื้นบ้านแทบจะสูญหายไป เหลือทุเรียนพืชชนิดเดียวเป็นอาชีพหลัก”
ทั้งนี้ นายถาวร ถวิลวงษ์ นายก อบต.ห้วงน้ำขาว เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ต.ห้วงน้ำขาว เป็นพื้นที่ที่ทุเรียนออกก่อนเช่นเดียวกับ ต.อ่าวใหญ่ ปัญหามือตัด ที่เป็นผู้เหมาทุเรียน ที่ต้องการทุเรียนเต็มเที่ยวรถ บางครั้งจะตัดผลอ่อนมาผสมกับที่ตัดผลแก่
ทำให้ทุเรียนของ จ.ตราดที่ออกมาเป็นทุเรียนจังหวัดตราดอ่อน ที่ ต.อ่าวใหญ่ ต.ห้วงน้ำขาว จ.ตราด ปกติทุเรียนจะออกก่อน ปกติมีรุ่น 1-2 ราคาทุเรียนสูง ลักษณะทุเรียนหมอนทองแก่ดูง่ายและชาวสวนดูเป็นจะตัดแก่อยู่แล้ว
ปัญหา คือ มือตัดที่รับเหมาจะตัดทุเรียนอ่อนติดไปชาวสวนจะไม่ขายเหมาให้นายหน้า จะขายให้พ่อค้าโดยตรงมากกว่า ที่ต้องระวังคือ ทุเรียนที่ออกรุ่นหลัง ๆ ของ ต.ห้วงน้ำขาว ต.อ่าวใหญ่มีจำนวนน้อยไม่เต็มเที่ยวรถ พ่อค้าจะซื้อทุเรียนอ่อนที่เริ่มออกจากที่อื่น ๆ ของ จ.ตราดรวมกับทุเรียนที่นี่