“สวนผักฮักร้องขุ้ม” ฟาร์มเกษตรอินทรีย์ ตำบลบ้านแม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างเกษตรกรลำไยอินทรีย์ในพื้นที่ 5 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน อาจกล่าวได้ว่าเป็น “ลำไยอินทรีย์” แห่งแรกในประเทศไทย
โดยมี ศ.ดร.พวงรัตน์ แก้วล้อม อาจารย์ประจำภาควิชาสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้จัดการโครงการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างต้นแบบนิเวศเกษตรและชุมชนแห่งการเรียนรู้ระบบอาหารที่ยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพอย่างสมดุล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นผู้เข้ามาปลุกปั้นเกษตรกรจากวิถีเคมีสู่วิถีอินทรีย์ เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
พลิก 5 อำเภอสู่ “ลำไยอินทรีย์”
ศ.ดร.พวงรัตน์เล่าว่า ผู้บุกเบิกการทำเกษตรอินทรีย์ คือ คุณพ่อ ซึ่งเคยเป็น อบต.ในพื้นที่ เป็นผู้นำชุมชน ได้ร่วมทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ “สวนผักฮักร้องขุ้ม” บนพื้นที่ 11 ไร่กับเพื่อนที่เป็น อบต.ในพื้นที่เดียวกัน เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นต้นแบบและส่งเสริมเกษตรกรให้ปรับเปลี่ยนมาทำอินทรีย์มากขึ้น สำหรับตัวเอง ซึ่งเรียนจบวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จึงสืบทอดเจตนารมณ์จากคุณพ่อ
โดยใช้ความรู้ที่ได้เรียนมา นำมาพัฒนาต่อยอดและสร้างสวนผักฮักร้องขุ้ม เป็นพื้นที่เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ 100% โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เรียนจบด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมและหลากหลายสาขา รวมตัวกันจัดตั้ง “บริษัท ลิฟวิ่งซอยล์ จำกัด” เป็นกลุ่มสตาร์ตอัพ ที่เข้ามาเป็นทีมแล็บ เน้นลงลึกด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาและแก้ปัญหาการทำเกษตรอินทรีย์ทั้งระบบให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ
โดยเริ่มจากการขับเคลื่อนลำไย ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเชียงใหม่และลำพูน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีเกษตรกรต้นแบบ 5 อำเภอนำร่อง คือ อำเภอสันป่าตอง อำเภอแม่วาง อำเภอสารภี อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน จำนวน 24 แปลง โดยเกษตรกรจะเข้ามาอบรมทุกเดือนที่สวนผักฮักร้องขุ้ม เริ่มจากการเก็บดิน เก็บน้ำ ตรวจธาตุอาหารในดิน เพื่อเปลี่ยนพื้นที่สารเคมีให้เป็นพื้นที่อินทรีย์
ปัจจุบันมีเกษตรกรร่วมโครงการทั้งสิ้น 38 แปลง โดยมีบริษัท ลิฟวิ่งซอยล์ ขับเคลื่อนส่งเสริมลำไยและเกษตรผสมผสาน ทั้งด้านเทคโนโลยีและการตลาด เพื่อให้เกษตรกรมีความเชื่อมั่นที่จะปรับเปลี่ยนวิถีและมีความมั่นใจว่ามีตลาดรับซื้อแน่นอน ซึ่งจะเป็นระบบเกษตรที่มีความยั่งยืน ล่าสุดมีเกษตรกรขอเข้าร่วมโครงการเพิ่มอีก 12 แปลง รวมเป็น 50 แปลง ซึ่ง 12 แปลงที่เข้ามาใหม่จะต้องมาอบรมใหม่ตั้งแต่เริ่มต้น
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเดิมการปลูกลำไยมีการใช้สารเคมีค่อนข้างมาก และราคาตกมาตลอด หลายปีที่ผ่านมาพบว่าเกษตรกรตัดลำไยทิ้ง และถูกลดทอนลงไปเรื่อย ๆ ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งราคาสารเคมี ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ เกษตรกรอยู่อย่างหมดหวัง เพราะไม่ได้เป็นคนกำหนดราคาขายลำไย
จุดนี้จึงเป็น Pain Point ที่ต้องการนำความรู้มาช่วยทำให้ลำไยดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นทางออกให้เกษตรกรที่อยากปรับเปลี่ยนวิถีเป็นเกษตรทางเลือก ที่ลดต้นทุนการผลิตได้ แต่ขายได้ราคาสูงกว่า และดีต่อสุขภาพของเกษตรกร โดยนำเทคโนโลยีที่เราทำวิจัยมาลงพื้นที่จริงที่ไม่ใช่อยู่แค่ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัยเท่านั้น
“สวนลำไยที่เข้าร่วมโครงการเป็นเครือข่ายอินทรีย์ ในการรับรองอย่างมีส่วนร่วมของสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืน (SDG/PGS) และสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (TOCA) และสวนลำไยหลายแห่งในโครงการของเราได้การรับรองจาก Organic Thailand ด้วยผลผลิตจากทุกสวนผ่านการตรวจสอบสารเคมีตกค้าง จากภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ศ.ดร.พวงรัตน์กล่าว
เล็งขยายตลาด Future Food
ดร.ธีรศานติ์ บุญอุประ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลิฟวิ่งซอยล์ จำกัด เปิดเผยว่า เกษตรอินทรีย์ต้องเริ่มตั้งแต่มีดินที่ดี ให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพดินต้องมีธาตุอาหารมากเพียงพอ มีทีมตรวจธาตุอาหารในดิน ดูสภาวะแวดล้อม รวมถึงการทำน้ำหมัก การใช้ไบโอชาร์ (Biochar) จากแกลบ ช่วยเรื่องความโปร่งของดิน เรื่องธาตุอาหาร ขณะเดียวกันได้มุ่งเน้นการสร้างระบบนิเวศเกษตร เน้นการปลูกพืชที่มีความหลากหลาย ทั้งข้าวหอมมะลิอินทรีย์ หอมหัวใหญ่อินทรีย์ ผักสลัดอินทรีย์ หน่อไม้ฝรั่ง พืชผักสวนครัว และพืชผักตามฤดูกาล ที่เกษตรกรสามารถปลูกพืชชนิดอื่นได้ตลอดทั้งปี
ไม่เฉพาะลำไยเพียงอย่างเดียวเท่านั้น โดยสวนผักฮักร้องขุ้มเป็นพื้นที่ต้นแบบที่ทางบริษัทได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาและแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้เกษตรกรเข้ามาเรียนรู้และนำไปต่อยอดให้เกิดความยั่งยืน
สำหรับผลผลิตลำไยอินทรีย์ของเกษตรกร 38 แปลงในปี 2566 อยู่ที่ราว 40 ตัน ส่งให้กับโรงงานที่ทำส่งออก แต่ปีนี้บริษัทส่งออกหยุดกิจการ ทำให้เน้นการส่งในประเทศเพิ่มขึ้น แม้ผลผลิตปีนี้ลดลงจากสภาวะอากาศแปรปรวน คาดว่าจะได้ผลผลิตอยู่ที่กว่า 10 ตัน แต่ราคาค่อนข้างดี เกรด AA ราคากิโลกรัมละ 119 บาท เกรด A และ AA (คละกัน) กิโลกรัมละ 79 บาท
นอกจากจะช่วยเกษตรกรในเรื่องเทคโนโลยีการผลิตแล้ว ยังช่วยหาตลาดให้เกษตรกรด้วย โดยผลผลิตของเกษตรกรจะมีตลาดรับซื้อแน่นอน ทำให้เกษตรกรมีความมั่นใจและใส่ใจในคุณภาพผลผลิตมากยิ่งขึ้น
สำหรับตลาดปีนี้มีดีมานด์สูงมาก กลุ่มลูกค้าหลักคือ ผู้บริโภคทั่วไป อาทิ จังหวัดสงขลา พังงา กรุงเทพฯ นครราชสีมา เชียงใหม่ และอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเรายืนราคาให้เกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดทั่วไป โดยบริษัทเป็นผู้จัดหาตลาดรับซื้อให้ มีตลาดรองรับแน่นอน
ดร.ธีรศานติ์กล่าวต่อไปว่า เทรนด์ของผู้บริโภคยุคนี้ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพ ไม่ใช่เฉพาะตลาดในประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นเทรนด์ของโลก ดังนั้น ลำไยอินทรีย์ ถือเป็น Future Food ที่ตอบโจทย์ไม่เฉพาะเพียงการบริโภคลำไยสด แต่สามารถยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม Food Grade ที่เป็น Medical Grade ซึ่งลำไยไม่ได้เป็นอาหารที่มีแค่น้ำตาลสูงอย่างเดียว แต่มีคาร์โบไฮเดรตที่มีสารต้านมะเร็งด้วยทั้งเนื้อและเมล็ด ที่มีประโยชน์ในเชิงสุขภาพทั้งด้านอาหารและยา
โดยทิศทางตลาดลำไยอินทรีย์ค่อนข้างดีมาก ผู้บริโภคต้องการสินค้า แต่สินค้ายังมีไม่มาก เป็นโจทย์สำคัญที่ทางบริษัท และทีมวิจัยจะต้องเร่งพัฒนาทั้งคุณภาพและผลผลิตต่อไร่ให้ได้มากขึ้น ถือเป็นตลาดพรีเมี่ยมที่ผู้บริโภคยอมจ่ายเพื่อสุขภาพ ซึ่งในอนาคตจะยกระดับตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืน
จากวิถีเคมีสู่วิถีอินทรีย์
นายพิชาติ ชุ่มใจ เกษตรกรผู้ปลูกลำไยอินทรีย์ ตำบลดอนเปา อำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทำเกษตรแบบใช้เคมีมานานกว่า 20 ปี และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพ ละอองสารเคมีปลิวเข้าตา ส่งผลให้ตามองไม่เห็น 1 ข้าง เหลือตาเพียงข้างเดียว
นอกจากนี้ ผลการตรวจสารเคมีตกค้างในเลือดอยู่ในระดับสูง และอยู่ในกลุ่มเสี่ยง กระทั่งได้รู้จักกับ ศ.ดร.พวงรัตน์ และบริษัท ลิฟวิ่งซอยล์ ที่เข้ามาส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ จึงเข้าร่วมโครงการสวนผักฮักร้องขุ้ม ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรแบบเคมีมาเป็นวิถีอินทรีย์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งผลผลิตลดลง แต่ไม่มีต้นทุนค่าปุ๋ย ค่ายา ค่าสารเคมีต่าง ๆ และสุขภาพดีขึ้น
โดยในช่วงระยะ 3 ปีที่มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันคุณภาพดินภายในแปลงเกษตรของตนดีขึ้นมาก ผลผลิตลำไยดก คุณภาพดี เนื้อกรอบ หวานธรรมชาติ และได้ราคาดีทุกปี
ลำไยอินทรีย์ เป็นระบบเกษตรกรรมทางเลือกที่สามารถเชื่อมโยงไปสู่สังคมระบบเกษตรยั่งยืน ทั้งความยั่งยืนด้านสังคม ระบบนิเวศ เศรษฐกิจ และอนาคตที่สามารถยกระดับสู่ตลาด Future Food ที่จะเกิดมูลค่าอย่างมหาศาล