กฟภ. ร่วม BCPG เปิดตัวบริษัทลูก TDED ตั้งเป้าประชาชนติด Solar Rooftop พร้อมเชื่อมบล็อกเชน

PEA Income จับมือ BCPG ดึงพันธมิตรออสเตรเลีย Power Ledger วางแพลตฟอร์มครัวเรือนผลิตและจำหน่ายพลังงานสะอาด พร้อมเชื่อมระบบบล็อกเชน ตั้งเป้า 5 ปี รายได้ 1,000 ล้านบาท ปักหมุดเชียงใหม่-สมาร์ทซิตี้เพิ่ม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า วันนี้ (25 เมษายน 2562)​ บริษัท PEA INCOME จำกัด บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แถลงข่าวเปิดตัวบริษัท Thai Digital Energy Development หรือ TDED ขึ้นที่อาคาร LED การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสำนักงานใหญ่

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการณ์กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท PEA INCOME จำกัด กล่าวว่าธุรกิจไฟฟ้าในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงหลัก คือ 1.การคำนึงถึงพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือกมากขึ้น 2.เทคโนโลยีกำลังจะทำให้ทุกบ้านผลิตไฟได้ผ่านระบบโปรซูมเมอร์ที่ผู้บริโภคผลิตไฟเองได้ในครัวเรือน และอาจขายได้ในอนาคต 3.ความทันสมัยของเครื่องใช้ประจำวันที่เพิ่มมากขึ้น

นำไปสู่แนวทางการก่อตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development หรือ TDED เป็นไปเพื่อดำเนินการในการวางแพลตฟอร์มการจัดทำพลังงานสะอาดในระดับชุมชนหรือครัวเรือน โดยบริษัทดังกล่าว มีอัตราการร่วมทุนเป็น PEA Income 25% BCPG 75% คาด 5ปีแรก รายได้ 1,000 ล้านบาท

โดยการร่วมทุนเพื่อก่อตั้ง TDED คือการนำเทคโนโลยีที่มีแพลตฟอร์มในการบริการลูกค้าของการไฟฟ้ามารวมเข้ากับการผลิตพลังงานสะอาดและการอนุรักษ์พลังงาน รวมไปถึงการต่อยอดไปสู่อนาคต

“เราเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค ซึ่งจะอำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตให้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านระบบที่ดีขึ้น” นายเขมรัตน์กล่าว

ทั้งนี้ที่ผ่านมามีการลงทุนด้านอุปกรณ์การผลิตพลังงานทางเลือกที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในรูปแบบ Solar Rooftop บนตึกเรียน โรงพยาบาล และสเตเดี้ยม มูลค่า 300 ล้านบาท โดยยังไม่รวม Smart Meter และ Power Storage ซึ่งจะนำไปสู่การขยายแนวทางพลังงานทางเลือกที่ผลิตเองได้ในพื้นที่จังหวัดที่มีโครงการ Smart City เพราะมีศักยภาพในดำเนินการต่อ

ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท BCPG จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าที่ผ่านมา บีซีพีจีได้ดำเนินการในเรื่องพลังงานทางเลือก ทั้งพลังงานลม พลังงานใต้พื้นพิภพ และพลังงานแสงอาทิตย์

ซึ่งระยะต่อไปเป็นการมุ่งสู่ถึงตลาดรีเทลที่สามารถผลิตพลังงานสะอาดให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น นำไปสู่การร่วมทุนในวันนี้

นอกจากนี้การที่มีบริษัทพาวเวอร์ เลดเจอร์ จากประเทศออสเตรเลีย ที่ดำเนินงานด้านคริปโตเคอเรนซี่ร่วมเป็นพันธมิตรอยู่ด้วยนั้น ถือได้ว่าจะทำให้เกิดการจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำพลังงานที่เหลือจากการผลิตของครัวเรือนมาขายต่อแทนที่จะปล่อยทิ้งให้สูญเปล่าพลังงานจากโซลารูฟ ซึ่งทางพาวเวอร์ เลดเจอร์เองมีศักยภาพในการจัดการระบบพลังงานด้วยบล็อกเชน ซึ่งมีผลงานในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และสหรัฐอเมริกา เป็นต้น

“เราเชื่อว่าทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของพลังงาน แบ่งขาย ใช้เอง หรือขายกลับให้ภาครัฐ เป็นการพลิกบทบาทภาคประชาชนจากผู้บริโภค เป็นผู้ผลิตด้วย โดยบริษัทนี้จะนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ให้เกิดความเป็นจริงขึ้นในไทย” นายบัณฑิตกล่าว