เกษตรเมืองจันท์ ตั้งกลุ่มแปรรูป ทางออกผลไม้ตกเกรด-ออร์แกนิก

แม้ว่าราคาผลไม้ภาคตะวันออกจะดีดตัวสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น หมดปัญหาราคาตกต่ำแบบอดีตแล้ว แต่เกษตรกรเมืองจันท์ยังต้องหาทางแปรรูปเพื่อความยั่งยืน ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มมากขึ้น ร่วมกันคิด และทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ ทั้งนี้ยังเป็นการแก้ไขปัญหาผลไม้ตกเกรด และออร์แกนิกที่ยังมีปัญหาเรื่องตลาดอีกด้วย

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า จังหวัดจันทบุรีมีการจดทะเบียนตั้งวิสาหกิจชุมชน ประมาณ 58 แห่ง หากเจาะจงเฉพาะแปรรูปผลไม้มีประมาณ 30 กว่าแห่ง

“อนงค์ กุลเว่” ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกุลเว่ไวน์ผลไม้ จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า เริ่มแรกตนและสามีชาวสวีเดนมาซื้อที่สวน 6 ไร่ของจังหวัดจันทบุรี เพราะชอบธรรมชาติ ปลูกผลไม้ผสมผสาน ทั้งเงาะ ลองกอง มังคุด มัลเบอรี่ สับปะรด สละ เป็นต้น โดยตั้งใจจะขายผลไม้ออร์แกนิก แต่ปรากฏว่าคนไม่ซื้อ ติว่าผิวไม่สวย ลูกเล็ก เราจึงเริ่มกลับมาคิดว่าจะทำอย่างไรถึงจะเพิ่มคุณค่าให้กับผลไม้ออร์แกนิกแล้วมีตลาดรองรับ

“ถ้าทำของเหมือนกันการแข่งขันจะสูง ดังนั้นเราต้องคิดนอกกรอบว่าเราชอบอะไร มุ่งมั่นจะทำอะไร สุดท้ายมาเกิดไอเดียว่าสามีซึ่งมีบรรพบุรุษอยู่ฝรั่งเศส มีความรู้การทำไวน์ เราจึงลองเอาความรู้มาประยุกต์กับผลไม้เมืองร้อนที่เมืองไทย ด้วยการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น เริ่มจากสวนหลังบ้านของเราก่อน จนขยายต้องใช้เครือข่ายในกลุ่ม ขณะนี้มีสมาชิก 8 ราย จดในนามวิสาหกิจชุมชนกุลเว่ไวน์ผลไม้”

จากนั้นทั้งคู่ได้เริ่มทดลองทำไวน์เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา ลงทุนโรงเรือน 1.5 ล้านบาท เป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากใช้วัตถุดิบในสวนเล็ก ๆ กำลังการผลิต 10 ลิตร ปัจจุบันขยายกำลังการผลิตเป็น 6,000 ลิตร ซึ่งยังคงเป็นโรงงานขนาดเล็ก จ่ายภาษีสรรพสามิตถูกต้อง

สำหรับราคาขายปลีกขวดละ 250 บาท ตั้งราคาไม่สูงมาก เพราะกลุ่มเป้าหมายคนไทย 90% และอีก 10% นักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่วนมากเป็นยุโรป ปัจจุบันมีรายได้ตกเดือนละ 5 หมื่นบาท-1 แสนบาท หรือปีละประมาณ 1 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความถี่ในการไปเปิดบูทขายด้วย

“ตลาดของเราส่วนใหญ่ตลาดในประเทศ เน้นขายตามร้านขายของฝาก มีเปิดบูท และขายในเว็บไซต์ ไลน์ แต่เริ่มจะส่งออกเพื่อนบ้าน ล่าสุดได้ไปออกบูทที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี เรามีจุดเด่น คือ ผลไม้เรารับที่เป็นออร์แกนิกเท่านั้น ถ้าคนในกลุ่มไม่ทำออร์แกนิกเราก็ไม่รับ ขณะเดียวกันถ้าคนไม่อยู่ในกลุ่มทำออร์แกนิกเราก็รับ ตอนนี้มีไวน์หลากหลาย ตั้งแต่ไวน์มังคุด ลูกหม่อน กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ สับปะรด สละ และล่าสุด คือ ลองกอง ตัวนี้ทดลองมานานถึง 3 ปี คิดว่าถ้าปีนี้ทำไม่ได้ก็จะเลิก แต่ปรากฏว่าทำได้”

จุดขายของไวน์กุลเว่ คือ ใช้วัตถุดิบจากสวนหลังบ้าน ดังนั้นจึงมั่นใจในความสดใหม่ รวมทั้งองค์ความรู้เรื่องการทำไวน์ให้โดนใจ ที่สำคัญขายความเป็นออร์แกนิก

อนงค์มองว่า การแปรรูปเป็นทางออกผลไม้ไทย แต่จะทำด้านไหนเท่านั้น เพราะแต่เดิมขายผลไม้สด สมมุติได้ 1 หมื่นบาท แต่เมื่อแปรรูปขายได้ถึง 1 แสนบาท แต่ว่ากลุ่มก็ต้องมีการสร้างแบรนด์ และสร้างความน่าเชื่อถือด้วย

ด้านนภัทร สุขะปิณฑะ ฝ่ายการตลาด วิสาหกิจชุมชนคลองน้ำเค็มทันใจ อ.แหลมสิงห์ จ.จันทบุรี บอกว่า รวมตัวกันตั้งแต่ปี 2555 ปัจจุบันมีสมาชิก 15 คน ทำขนมของฝาก ภายใต้แบรนด์คุณยาย วางขายตามร้านของฝากในเขตจังหวัดจันทบุรี เป็นการช่วยชาวบ้านให้มีงานทำ ปัจจุบันขยายผลิตภัณฑ์ประมาณ 10 อย่าง ทำรายได้เดือนละเกือบ 2 ล้านบาท โดยจะทำสินค้าแบบใหม่ เช่น สาหร่าย ทำจากใบขลู่ เพิ่งได้รับรางวัลโอท็อป นอกจากนี้มีแครกเกอร์โรยทุเรียน ชีสไส้มังคุด ถั่วทอง หรือต้มยำโป๊ะแตก ที่ตอนนี้มีวางที่คิง เพาเวอร์ ได้รับความนิยมอย่างมาก

“บางอย่างเรารับซื้อผลสดจากชาวบ้าน แต่บางอย่างก็ไปซื้อที่แปรรูปแล้วจากกลุ่มอื่น ๆ มาต่อยอด เช่น ไปซื้อทุเรียนทอด หรือน้ำผึ้งจากกลุ่มอื่น ๆ ถือเป็นการเกื้อหนุนกันไปในตัว แบบนี้เศรษฐกิจชุมชนก็พอไปได้”

ถือเป็นทางออกของเกษตรกร ที่เริ่มทำผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แต่ต้องระวังการเข้าสู่วังวนแบบเดิม คือ สินค้าเริ่มฮิตก็ทำตามกันหมดจนเกร่อทั้งเมือง แล้วเข้าสู่ทางตันของสินค้าเหมือนที่เคยเป็นมา