อัญมณีจันท์ชง “สุวรรณภูมิบับเบิล” เปิดคู่ค้าเข้าไทยจำกัดพื้นที่ไม่กักตัว 14 วัน

ไม่คึกคัก - จันทบุรีหนึ่งในจังหวัดที่มีรายได้หลักจากการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับให้นักธุรกิจ และนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อประเทศไทยยังมีนโยบายไม่เปิดประเทศ่ส่งผลกระทบต่อย่านการค้าอัญมณี และพลอยในจังหวัดซบเซา

สมาคมผู้ค้าอัญมณีฯ จันทบุรียื่นหนังสือศ บศ.เสนอมาตรการ “สุวรรณภูมิบับเบิล” ปลดล็อกนักธุรกิจประเทศคู่ค้าหลัก เข้าไทยซื้อขายอัญมณีได้ไม่ต้องกักตัว 14 วัน หลังยอดขายอัญมณีจันท์วูบกว่า 70%

นายชายพงษ์ นิยมกิจ ประธานหอการค้าจังหวัดจันทบุรี และอุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ หอการค้าจังหวัดจันทบุรีและสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี ได้ยื่นหนังสือให้ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ ศบศ. พิจารณาข้อเสนอมาตรการ “สุวรรณภูมิบับเบิล”

โดยขอให้ปลดล็อกนักธุรกิจจากต่างประเทศที่มีกำลังซื้อเข้ามาทำธุรกิจซื้อขายพลอยกับสมาชิกสมาคมผู้ค้าอัญมณีฯจันทบุรี โดยเฉพาะนักธุรกิจจากประเทศคู่ค้าหลัก เช่น จีน ไต้หวัน อินเดีย เและประเทศในเอเชีย เนื่องจากอัญมณีมีมูลค่าสูง ผู้ซื้อต้องใช้ความเชี่ยวชาญในการสัมผัสเพื่อตรวจสอบด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจซื้อ แต่การเข้ามาขอให้จัดในรูปแบบมาตรการพิเศษไม่ต้องกักตัว 14 วัน

โดยต้องผ่านกระบวนการตรวจเชื้อโควิด-19 มาจากประเทศต้นทางก่อน และเมื่อเดินทางมาถึงเข้าประเทศไทยขอให้อยู่ในสถานที่กักตัวที่ภาครัฐจัดให้อาจเป็น กทม.หรือจังหวัดอื่นก็ได้ โดยมีการดำเนินการตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด จากนั้นผู้ประกอบการจาก จ.จันทบุรี จะนำพลอยมาซื้อขาย ณ สถานที่ที่รัฐจัดให้ มีกำหนดไทม์ไลน์ชัดเจน และใช้ระยะเวลาทำธุรกิจซื้อขายไม่เกินกำหนด เช่น 5 วันและเดินทางกลับหลังซื้อขายแล้วเสร็จ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ หากรัฐบาลปลดล็อกให้ คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัดน่าจะดีขึ้น

“หากรัฐบาลพิจารณาผ่อนคลายมาตรการให้นักธุรกิจต่างประเทศเข้ามาซื้อพลอยได้ โดยเฉพาะจีน ไต้หวัน อินเดีย ที่เป็นลูกค้าหลักถึง 70% และประเทศอื่น ๆ ในยุโรป รัสเซีย ตะวันออกกลาง โดยเข้ามาได้เป็นกรุ๊ป กรุ๊ปละ 10 คน ประมาณเดือนละ 100 คน คาดว่าเดือนหนึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าการค้าได้ 1,000 ล้านบาท หากรัฐบาลผ่อนปรนให้ ประมาณเดือนตุลาคมทางสมาคมผู้ค้าฯจันทบุรีพร้อมทำการค้าได้ และแจ้งลูกค้าปลายทางให้เข้ามาซื้อได้ตามมาตรการพิเศษ ช่วงไตรมาส 4 เดือนตุลาคม-ธันวาคม จะมีมูลค่าอัญมณีเพิ่มขึ้นบ้าง” นายชายพงษ์กล่าว

“สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาถึงปัจจุบัน รัฐบาลยังมีการล็อกดาวน์ห้ามคนต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ทำให้มีผลกระทบต่อธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกของไทยคิดเป็น 9.06% ของสินค้าส่งออกโดยรวม จังหวัดจันทบุรีซึ่งเป็นแหล่งผลิตอัญมณีอันดับ 1 ของประเทศ สร้างมูลค่าปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท

ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 มูลค่าการค้าลดลงถึง 70% แม้มีการเปิดตลาดซื้อขายในจันทบุรีได้เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม 2563 แต่เป็นการซื้อขายของชาวต่างประเทศที่อยู่ในไทย ไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศ เนื่องจากเจ้าของบริษัทจิวเวลรี่ต่างประเทศยังเดินทางเข้ามาไม่ได้”

นายชายพงษ์กล่าวต่อไปว่า ในภาวะปกติจังหวัดจันทบุรี มีมูลค่าอัญมณีประมาณ 50,000 ล้านบาท/ปี แบ่งเป็นตลาดซื้อขายภายใน 20,000 ล้านบาท และตลาดเจียระไนพลอยเนื้อแข็งในรูปอุตสาหกรรมส่งออก 70-80% มูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจันทบุรีเป็นฐานการผลิตที่สำคัญถึง 80-90% เมื่อรัฐบาลมีมาตรการล็อกดาวน์หลังการแพร่เชื้อโควิด-19 ผู้ซื้อชาวต่างประเทศเข้ามาซื้อในประเทศไทยไม่ได้ ยอดการขายถ้าเฉลี่ยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-สิงหาคม ลดฮวบลงถึง 70% เฉลี่ยเดือนละ 10% หากภาครัฐไม่มีมาตรการผ่อนคลายใด ๆ

อุตสาหกรรมอัญมณีไทยจะดิ่งลงในช่วงปลายปีถึง 80-90% เท่ากับยอดการส่งออกอัญมณีปีนี้เป็น “0” ตอนนี้โรงงานเจียระไนกว่า 100 แห่งปิดหมด แรงงานจำนวน 30,000 คนว่างงาน บางคนกลับบ้านทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ แรงงานเหล่านี้เป็นแรงงานฝีมือต้องใช้เวลาบ่มเพาะ 5-6 เดือน ถ้าหากแรงงานเหล่านี้เปลี่ยนอาชีพไม่กลับมาทำงานเจียระไนพลอยอีกจะกระทบต่อธุรกิจอัญมณีจันทบุรีอย่างหนัก

สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) รายงานตัวเลขเดือนมกราคม-สิงหาคม 2563 อัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 283,678.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 375,985.30 บาท หรือเพิ่มขึ้น 32.54% ในปี 2563 แต่เป็นผลจากการส่งออกทองคำในสัดส่วนถึง 79% มูลค่าอัญมณีลดลงจาก 4,432.85 ล้านบาท เหลือ 2,576.68 ล้านบาท หรือ -41.87% โดยพลอยสีลดลงจากอัญมณีและเครื่องประดับ ปี 2562 จากสัดส่วน 9.60 เหลือ 2.90


ในปี 2563 คือ พลอยก้อนลดลง -56.13% พลอยเนื้อแข็งเจียระไนลดลง -61.64% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไนลดลง -53.60% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาดอยู่ในต่างประเทศ ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่ายซื้อสินค้าที่จำเป็น ประกอบกับค่าเงินบาทแข็ง ทำให้ต้องเจอกับภาวะคู่แข่ง และสงครามการค้าจีน-สหรัฐอเมริกา