“มิตรผล” ฟื้นชีพตึกร้าง “โฆษะ” ทุ่มพันล้านพลิกโฉมสู่ศูนย์นวัตกรรม

“มิตรผล” ฟื้นชีพตึกร้าง “โฆษะ” ทุ่มพันล้านพลิกโฉมสู่ศูนย์นวัตกรรม ดึงคอนต์เซ็ป Glowfish-โรงแรม Ad Lib จาก กทม.สู่ขอนแก่น

วันนี้ภาพชินตาของ “อาคารร้าง” สูง 28 ชั้น ที่ตั้งตระหง่านย่านใจกลางเมืองขอนแก่น ของ”กลุ่มโฆษะ” มากว่า 23 ปี หลังถูกวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 กระหน่ำ กำลังจะกลายเป็นอดีต เมื่อประธานใหญ่ของกลุ่มน้ำตาลมิตรผล “อิสระ ว่องกุศลกิจ” ได้ตัดสินใจเจรจากับ “ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์” ประธานกลุ่มโฆษะ ซื้อที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าวเมื่อช่วงปลายปี 2560 พร้อมกับจัดตั้ง “บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด” ขึ้นมา เพื่อประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และให้บริการบริหารอาคารดังกล่าว ด้วยทุนจดทะเบียน 980 ล้านบาท

ตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจอีสาน

นายทักษ์ ศรีรัตโนภาส ผู้อำนวยการโครงการขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ บริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่น เซ็นเตอร์ จำกัด ในเครือกลุ่มน้ำตาลมิตรผล เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางบริษัทมีแผนจะพัฒนาอาคารร้างดังกล่าวออกเป็นหลายเฟส โดยเฟสแรกจะทำเป็นศูนย์นวัตกรรม เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ (incubation center) ให้พวกสตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งหมดมาใช้บริการ

โดยมุ่งเน้นเรื่องการเกษตรสมัยใหม่ โดยการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยต่อยอดพัฒนาผลผลิตพื้นฐานด้านการเกษตร พืชผลทางการเกษตรของผู้ประกอบการที่มีอยู่ไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมไบโอชีวภาพ โดยจะมีการทำห้องแล็บ(lab) ใช้พื้นที่ 1 ชั้นครึ่ง คิดเป็นประมาณ 1,200-1,300 ตารางเมตร

ขณะเดียวกัน แบ่งพื้นที่อีกส่วนไปทำธุรกิจออฟฟิศให้เช่ารูปแบบ coworking space เพื่อเปิดโอกาสให้สตาร์ตอัพ SMEs ที่มีแนวคิดเดียวกันได้มาพบกันแลกเปลี่ยนความคิดกันในพื้นที่ open space โดยจะมีการจัดกิจกรรม จัดโปรแกรมบ่มเพาะธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดธุรกิจขึ้น โดยมีการจัดเป็นห้องประชุม มีห้องเวิร์กช็อป เป็นศูนย์ที่เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้การทำ “เกษตรสมัยใหม่” หรือ “โมเดิร์นฟาร์ม” (modern farm)

กวิน ว่องกุศลกิจ
กวิน ว่องกุศลกิจ

รุกธุรกิจ Hospitality

ส่วนพื้นที่ด้านบนสุดชั้น 27-28 มีวิวสวยงาม ตั้งใจอยากให้มีธุรกิจการบริการ (hospitality) โดยจะทำเป็นโรงแรมระดับ 4 ดาว ที่ทันสมัย ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ให้คนที่มาทำวิจัย มาประกอบธุรกิจที่ตึกนี้เข้าพักได้ ในราคาไม่แพง ประมาณ 1,000-2,000 บาทต่อคืน

ปัจจุบันโรงแรมได้ผ่านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ขนาด 200 ห้อง แต่เฟสแรกจะทำเพียง 120 ห้องก่อน ในอนาคตอาจจะมีการทำธุรกิจศูนย์ประชุมที่มีจุดขายภายในอาคาร นอกอาคาร อยู่บนชั้นสูง open view เป็นห้องประชุมขนาดเล็ก หรือห้องประชุมขนาดใหญ่ รวมถึงมีภัตตาคารที่มีทั้งอาหารอีสาน และอาหารทุกชาติรวมอยู่ในร้านเดียวกัน บนชั้น 27-28 จะทำเป็นเหมือนยอดมงกุฎจะมีการตกแต่งให้สวยทันสมัย มีผับ มีที่นั่งกิน ทั้ง indoor-outdoor

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ว่าจ้างคนมาออกแบบเพื่อปรับปรุงอาคารดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาตรวจแบบในขั้นตอนสุดท้าย ตามแผนงานจะต้องคัดเลือกผู้รับเหมาหลักให้จบภายในเดือนตุลาคม 2563 และผู้รับเหมาจะเริ่มเข้าพื้นที่ได้ภายในสิ้นปีนี้ จะใช้เวลาปรับปรุงอาคารภายใน 15 เดือน โดยเตรียมเงินลงทุนไว้ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท ทั้งนี้ ตามแผนเฟสแรกตั้งเป้าโรงแรมจะแล้วเสร็จก่อนและเปิดบริการได้ประมาณต้นปี 2565 ตามมาด้วยห้องแล็บกับ coworking area

“เราได้คุยกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็เห็นว่าย่านถนนศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น มีศักยภาพที่จะพัฒนาด้านนวัตกรรม กลุ่มมิตรผลเป็นบริษัทด้านเกษตรจึงต้องการต่อยอดสิ่งที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของกลุ่มมิตรผลด้วย จึงเป็นที่มาของศูนย์นวัตกรรมที่เกี่ยวกับการเกษตรสมัยใหม่

ขณะเดียวกันมองเห็นว่า ทุกวันนี้มีมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีนวัตกรรม มีองค์ความรู้ มีนักวิชาการทำการวิจัย มีอุทยานวิทยาศาสตร์ (science park) หลายแห่งที่มีห้องแล็บทำการวิจัย ขณะเดียวกันมีนักธุรกิจกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป แต่เราขาดศูนย์ที่จะทำให้ทุกฝ่ายได้มาเจอกัน เพราะตอนนี้ต่างกันต่างอยู่ สมมุติผมเป็นผู้ประกอบการ ผมต้องวิ่งไปที่อุทยานวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อไปทำการทดลอง เมื่อทำการทดลองเสร็จ ผมต้องไปวิ่งไปหานักธุรกิจ ก็ต้องไปกว้านหากัน”

ดังนั้น ศูนย์นวัตกรรมที่มิตรผลจะสร้างขึ้น จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานให้ทุกฝ่ายมาเจอกัน เราจะสร้าง ecoenvironment คือ สร้างตู้ปลา ให้ปลาที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือ สตาร์ตอัพใหม่ ๆ ได้เข้ามา มี environmentที่จะส่งเสริมในการประกอบธุรกิจโดยต้องมีกิจกรรมมาช่วยเราเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งที่จะเชื่อมโยง ขอนแก่นมีทุกอย่าง แต่ไม่เกิดความเชื่อมโยงกัน อันนี้ดึงเข้ามาเชื่อมโยง

โดยเราจะมี coworking space คอนเซ็ปต์คล้าย ทรู ดิจิทัล พาร์ค ที่ไต้หวันก็มีหลายแห่ง แต่จะแบ่งเป็นพื้นที่เฉพาะ (specific area) หรือธุรกิจ Station F ที่ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งผมไปดูงานมา ยกตัวอย่าง ฝรั่งเศสทราบกันดีว่า อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

คือ ธุรกิจเครื่องสำอาง Station F มีสตาร์ตอัพต่าง ๆ ที่ทำเกี่ยวกับเครื่องสำอาง อาจเป็นนักศึกษา เป็นผู้ประกอบการรายย่อย แบรนด์ลอรีอัลจะให้เงินในการทำวิจัย เช่น ครีมผสมกัญชา หัวน้ำหอมที่สกัดจากสมุนไพรต่าง ๆ แล้วพวกสตาร์ตอัพก็เอามาขายให้ลอรีอัล นี่คือวิธีการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งต้องเป็นเครือข่ายกันทั่วโลก เราจะทำเป็นเซ็นเตอร์ของอีสานให้เป็นอินเตอร์เนชั่นแนล”

ต่อยอด Wellness Clinic

นายทักษ์กล่าวต่อไปว่า ในเฟสถัดไปมีแนวคิดที่จะทำธุรกิจด้านบริการสุขภาพ (wellness clinic) เป็นการต่อยอดจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มีโครงการ Medical Hub เพื่อดูแลผู้ใช้บริการที่มีสุขภาพแข็งแรง ด้านร่างกาย ด้านอาหารให้มีอายุยืนยาว โดยการชวนพวกสตาร์ตอัพที่เป็น wellness มาอยู่ในตึกนี้ด้วย เช่น ธุรกิจการฟื้นฟูสมรรถภาพ (habilitation) มา retreat จัดกระดูก เรื่องอาหาร ฯลฯ

รวมถึงการทำศูนย์ทันตกรรม (dental center) เนื่องจากคลินิกหมอฟันในขอนแก่นมีจำนวนมาก นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ (TCDC) มาตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งด้านศิลปะและวัฒนธรรม บันเทิง และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (creative economy) เพราะฉะนั้น พวก OTOP และ SMEs ในอีสาน ต้องการจะพัฒนาโปรดักต์ที่ TCDC สามารถมาเชื่อมโยงกับกลุ่มมิตรผลจัดกิจกรรมร่วมกัน

“กลุ่มมิตรผลจะไม่ได้ลงทุนเองทั้งตึก เพราะมิตรผลไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญ แต่เราพยายามนำผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาอยู่ที่นี่ เพื่อสร้าง ecoenvironment เหมือนผมจะลงทุนทำตู้ปลา ผมมีหิน ใส่น้ำ ใส่ไฟ ใส่สาหร่าย และปลาเข้ามาว่าย ปลาชอบแบบนี้ ผมก็ไปหามา โดยผมจะไปหาพันธมิตรมาลงทุน เช่น เราอาจจะไปชวนบริษัทด้านโลจิสติกส์มาอยู่ เพื่อเป็นสถานที่ติดต่อ one stop shop หรือชวนศูนย์ราชการสนใจมาตั้งที่นี่ คุยกับ BOI ไว้ว่า สมมุติผมเป็นสตาร์ตอัพ ผมมาที่ตึกนี้ ผมรู้ว่าจะไปไหน ทำอะไร มีคนไดเร็กต์ให้ จบในที่เดียว”

นายทักษ์กล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจของบริษัท ขอนแก่น อินโนเวชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด ได้มี นายกวิน ว่องกุศลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฮอริเทจเอสเตทส์ จำกัด ซึ่งเป็นบุตรชายคนโตของ นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล และเป็นคนรุ่นใหม่เข้ามาช่วยบริหารงานธุรกิจในอาคารนี้ด้วย เนื่องจากบริษัท เฮอริเทจ เอสเตทส์ จำกัด ค่อนข้างประสบความสำเร็จใน 3 ธุรกิจหลักใน กทม. ได้แก่ โกลว์ฟิช (Glowfish) ซึ่งทำธุรกิจออฟฟิศให้เช่ารูปแบบ coworking space, กลุ่มธุรกิจอาหาร Kuppadeli และธุรกิจโรงแรม Ad Lib

โดยอาคารที่ขอนแก่นจะทำประกอบด้วยโรงแรมคล้าย Ad Lib มี coworking space แบบโกลว์ฟิช มีร้านอาหาร มีห้องแล็บ มี open space และจะมีการดึงส่วนราชการบางส่วนให้มาเป็นวินโดว์ เช่นเดียวกับศูนย์ราชการที่ตึกจามจุรีสแควร์ เป็นเพียงศูนย์รับเรื่อง และให้คำปรึกษาแนะนำเรื่องต่าง ๆ รวมถึงอาจจะมีห้องซ้อมดนตรีคล้ายกับที่โกลว์ฟิช เป็นต้น

นอกจากนี้ มี บมจ.บ้านปูมาช่วยดูเรื่องการประหยัดพลังงานภายในอาคารจะทำเป็นพลังงานอัจฉริยะ (smart energy) และจะลงทุนเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ (solar system) พร้อมกับได้เสนอแนวคิดให้ บมจ.บ้านปู ไปพิจารณา อาจจะมีการตั้งเป็นศูนย์บริการให้เช่ารถยนต์ไฟฟ้า electric car สำหรับคนมาอยู่โรงแรมไม่มีรถ ขับมาจากสนามบินมาจอดที่โรงแรมได้ เป็นศูนย์รถเช่า EV ซึ่งกระแสกำลังจะมา


ส่วนพื้นที่ติดกับถนนศรีจันทร์ จะทำเป็นลานสร้างสรรค์ศรีจันทร์ ซึ่งเป็นกึ่งส่วนตัว (private) และพื้นที่สาธารณะ (public area) ให้คนไปเดินเล่น มีจัดกิจกรรมอีเวนต์สันทนาการ