อาหารสัตว์เลี้ยงโตกระฉูด โรงงาน ASIAN สมุทรสาครขยายไลน์ผลิต

การแพร่ระบาดของโควิดทำให้คนทั่วโลกเปลี่ยนมาทำงานที่บ้าน หลายคนผ่อนคลายด้วยการหาสุนัขและแมวมาเลี้ยง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงของไทยขยายตัว

โดยกรมปศุสัตว์คาดการณ์ปี 2564 มีมูลค่าส่งออกรวม 48,000 ล้านบาท ทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับ 3 ของโลกรองจากเยอรมนีและอเมริกา ณ เดือน ต.ค. 64 ไทยมีโรงงานขึ้นทะเบียนส่งออกอาหารสัตว์รวม 86 แห่ง

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “เอกกมล ประสพผลสุจริต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงิน บริษัท เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ASIAN ผู้ผลิตและส่งออกอาหารแช่เยือกแข็ง อาหารสัตว์เลี้ยง ผลิตภัณฑ์ทูน่าและอาหารสัตว์น้ำ ให้กับลูกค้าทั่วโลกมานานกว่า 40 ปี

เอกกมล ประสพผลสุจริต
เอกกมล ประสพผลสุจริต

ปัจจุบันมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์ ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มี บจก.ห้องเย็นเอเชี่ยน ซีฟู้ด ผลิตอาหารแช่เยือกแข็ง จ.สุราษฎร์ธานี และมีโรงงานอาหารกุ้งอ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี

ผลประกอบการสิ้นปี 2564

ผลประกอบการสิ้นปี 2564 คาดว่าน่าจะมียอดรายได้ตามเป้าที่วางไว้ประมาณ 9,400 ล้านบาท โดยมีอัตราการเติบโตประมาณ 10% เทียบกับยอดรายได้ปี 2563 อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท

คาดการณ์ปี 2565 ยอดรายได้จะเติบโตประมาณ 10% มาจาก 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ 1.ธุรกิจหลักกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นการรับจ้างผลิต (OEM) อาหารแบบเปียกให้กับลูกค้าในตลาดอเมริกาและยุโรป ปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้ 43%

2.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง สัดส่วนรายได้ 35% ทั้งปลาหมึก กุ้ง ปลาทราย รวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าเพิ่มอาหารชุบแป้งทอด (prefrying) ส่งออกไปตลาดอเมริกา ส่วนปลาหมึกส่งออกไปตลาดยุโรปโดยเฉพาะประเทศอิตาลี

3.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์น้ำ ทั้งอาหารกุ้งและอาหารปลา มีสัดส่วนรายได้ 12% แต่ปีนี้การเลี้ยงกุ้งและปลาได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้การขายลดลง

และ 4.กลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ทูน่า มีสัดส่วนรายได้ 8% ปีนี้ยอดรายได้จากการขายทูน่าลดลงเนื่องจาก 2 สาเหตุหลัก คือ 1.การขาดแคลนแรงงานต่างด้าวจากการแพร่ระบาดของโควิด ทำให้ไม่สามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวมาเพิ่มเติมได้ 2.ตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าระวางเรือสูง

อาหารสัตว์เลี้ยงยอดขายพุ่ง

ปี 2564 จากการพิจารณา 4 ธุรกิจหลัก พบว่าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องประมาณ 20% โดยบริษัทรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับลูกค้าตลาดส่งออกหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา จีน เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น คาดว่าปี 2565 จะเติบโตจากปีก่อนมากกว่า 10%

ส่วนธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแช่เยือกแข็ง มีอัตราการเติบโตค่อนข้างดีประมาณ 10% จากการฟื้นตัวของดีมานด์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หลังจากมีการสั่งล็อกดาวน์ทำให้มีการซื้ออาหารกลับไปทำเองที่บ้านมากขึ้น

โดยเฉพาะพวกอาหารชุบแป้งทอดยอดขายค่อนข้างดี ตอนแรกคิดว่าเมื่อคลายล็อกดาวน์ตัวเลขจะลดลง แต่ปรากฏว่ายอดขายไม่ได้ลดลง คาดว่าปี 2565 จะเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน

ส่วนกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์ทูน่ามีอัตราการเติบโตติดลบ และต้นทุนของทูน่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ มองว่าปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าระวางเรือยังไม่คลี่คลายลง คาดว่าอัตราการเติบโตประมาณ 5% จากปีก่อน

ส่วนธุรกิจอาหารสัตว์น้ำปีนี้ยอดขายลดลงเทียบกับปี 2563 แต่คาดว่าปี 2565 ยอดขายน่าจะเติบโตได้ 5% ราคากุ้งเพิ่งเริ่มจะดีขึ้น ทำให้เกษตรกรเริ่มลงเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่ต้นทุนการผลิตวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์น้ำสูงขึ้นมาก ทั้งกากถั่วเหลือง น้ำมันเชื้อเพลิง ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น

ขยายการผลิตอาหารเม็ด

ภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในสหรัฐอเมริกามีมูลค่าประมาณ 34,000-35,000 ล้านเหรียญยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เทียบกับภาพรวมตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงประเทศไทยปี 2563 ประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ โดยเฉพาะแมวมีการใช้อาหารพรีเมี่ยมมากขึ้น เปลี่ยนมาให้กินอาหารเม็ดสัดส่วนเพิ่มขึ้นมาตลอดเกือบ 60%

ดังนั้น ภาพรวมการลงทุนปี 2564 ประมาณ 400 ล้านบาท แบ่งการลงทุนในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นการเพิ่มไลน์การผลิตอาหารเม็ดโดยใช้วัตถุดิบที่เหลือจากการผลิตทูน่า

จากปัจจุบันบริษัทผลิตเฉพาะอาหารเปียก ตอนนี้กำลังก่อสร้างอาคารคลังสินค้าเป็นงบฯลงทุนผูกพันในปี 2565 ด้วย โดยตลาดอาหารแบบเม็ดจะเป็นตลาดใหญ่กว่าอาหารแบบเปียก

ส่วนเงินลงทุนอีกส่วนจะไปใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงบางไลน์การผลิตมีการสั่งซื้อหุ่นยนต์มาใช้ทดแทนแรงงาน ซึ่งเดิมมีทั้งหมด 7,000-8,000 คน ปัจจุบันเหลือ 5,000 คน และให้ผลผลิตที่ดีขึ้นจะทำให้บริหารต้นทุนได้ดีขึ้น

ธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในจีน

การทำตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในประเทศจีนเป็นลักษณะไปว่าจ้างโรงงานที่จีนผลิตอาหารเม็ดเป็น OEM ภายใต้แบรนด์ “มองชู” (MONCHOU) ซึ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทเอง จำหน่ายเฉพาะในเมืองจีน เช่น เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง กว่างโจว เสิ่นเจิ้น แต่การทำตลาดในจีนยังต้องใช้เวลา

ต้องทำเรื่องโครงสร้างบุคลากรที่เข้าไปดูแลเรื่องการหาช่องทางการจัดจำหน่ายที่ประเทศจีนยังไม่แข็งแรง เราเพิ่งเริ่มมาแข็งแรงตอนปีนี้เอง ทั้งนี้ คนจีนนิยมสั่งซื้ออาหารสัตว์สุนัขและแมวผ่านตลาดอีคอมเมิร์ซ เห็นได้จากยอดขายประมาณ 50% มาจากการสั่งซื้อผ่านทีมอลล์, เจดีดอทคอม, ผ่านทาง TikTok เป็นต้น

แผนระดมทุนของบริษัทย่อย

มีแผนนำบริษัท เอเชี่ยน อะไลอันซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (AAI) บริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจแปรรูปปลาทูน่าสำหรับผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าและอาหารสัตวNเลี้ยงเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ การระดมทุนจะแบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรกเป็นการเพิ่มทุน 20% ของจำนวนหุ้นหลักจากที่ออกขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไปแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นการขายหุ้นเดิม 10% ของจำนวนหุ้นหลังจากออก IPO แล้ว นำเงินเข้าทางบริษัท เอเชี่ยนซีฯด้วย เพื่อนำไปใช้

1.การขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง 2.เป็นเงินทุนหมุนเวียนไปสนับสนุนเรื่องการทำแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงภายในประเทศ 3.ไปชำระคืนเงินกู้ ถ้ามีเงินจากการระดมทุนเหลือจากที่วางแผนไว้

ทิศทางการเติบโต 3-5 ปีข้างหน้า

อีก 3-5 ปีข้างหน้าแผนงานหลักที่จะดำเนินการ 1.บริหารจัดการรายได้จากปัจจุบันสัดส่วนรายได้ส่งออกกับภายในประเทศอยู่ที่ 75 : 25 พยายามปรับให้อยู่ประมาณ 80 : 20 โดยจะส่งออกธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น

2.ขยายกำลังการผลิตที่มีอยู่อย่างธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงปัจจุบันทำเฉพาะอาหารเปียกยังไม่มีอาหารแบบเม็ดและอาหารกินเล่นของหมาแมว (snack) เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ได้ทดลองวางตลาดไปกำลังรอดูผลตอบรับ

3.การลงทุนใหม่ (new investment หรือ new business) การเติบโตในอนาคตบริษัทศึกษาหลายแนวทางที่จะส่งเสริมการเติบโตของบริษัทโดยยึดธุรกิจหลักด้านอาหาร ทั้งการยกระดับการผลิต หรือฉีกแนวออกไป กำลังศึกษาหลาย ๆ ทางเลือกอยู่ รวมถึงการไปร่วมทุนหรือเทกโอเวอร์กิจการ มีการศึกษาด้วย

แต่ยังเปิดเผยไม่ได้ พร้อมวางเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีนี้หลังจากนำบริษัทย่อยเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขยายกิจการต่าง ๆ ต่อยอดธุรกิจใหม่ออกไปจะทำให้สัดส่วนรายได้ของธุรกิจเดิมเปลี่ยนแปลงไป เป้ารายได้น่าจะแตะระดับ 15,000 ล้านบาทขึ้นได้

แผนรับมือโควิดระลอกใหม่

ตอนโควิดระลอก 2 ระบาดที่จังหวัดสมุทรสาครเดือนธันวาคม 2563 โรงงานแทบจะไม่กระทบเพราะปิดโรงงานช่วงปีใหม่ พอเปิดมามีการจับพนักงานตรวจหาเชื้อทั้งหมด แทบไม่น่าเชื่อว่าพนักงาน 100% ของโรงงานไม่มีพนักงานติดโควิดเลย แต่มาระลอก 3 คลัสเตอร์ทองหล่อกระจายเป็นคลัสเตอร์ครัวเรือนมากขึ้น

เริ่มมีผลกระทบแต่อยู่ในระดับที่บริหารได้พบหลักสิบคน การควบคุมโควิดให้ความสำคัญมาก ใช้พื้นที่ด้านหลังโรงงานทำโรงพยาบาลสนาม (FAI) 10% มีการเตรียมเตียงไว้ 400 เตียง ทำ bubble and seal ตอนนี้มีการสุ่มตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

ตอนนี้พนักงานฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 80% เราทำโรงพยาบาลสนามภายในโรงงานไว้อย่างดีพร้อมรับมือหากมีการระบาดรอบใหม่