แผนพัฒนาฉบับเอกชน 5 ภาค ปั้น 6 จังหวัดเศรษฐกิจนำร่อง

3คน

จากอดีตถึงปัจจุบันการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับจัดทำโดยภาครัฐ โดยภาคเอกชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งเป็นแผนภาพกว้างทำให้ไม่เกิดแผนการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม และอาจไม่สอดคล้องกับความต้องการของคนในพื้นที่

ดังนั้นภาคเอกชนในนามคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย ในระดับภูมิภาค จึงเดินเกมรุกจัดทำร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนระดับภูมิภาค พ.ศ. 2566-2570

ภาคเอกชน 3 สถาบันเดินหน้า

นายธวัชชัย เศรษฐจินดา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคกลาง ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการภูมิภาค เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ระดับภูมิภาค จะมีการประชุมร่างแผนพัฒนาในวันที่ 5 สิงหาคม 2565 ก่อนที่จะหาข้อสรุปให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ เพื่อที่จะนำเสนอร่างสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป เพื่อเป็นโรดแมปแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ด้านเศรษฐกิจของภาคเอกชน จะมีโครงการที่เป็นแผนปฏิบัติการเร่งรัด (quick win) กำกับไปด้วย ซึ่งต้องร่วมกันผลักดันกับภาครัฐสนับสนุนงบประมาณในระดับกลุ่มจังหวัด และหน่วยราชการในพื้นที่ต้องยึดดำเนินการตามแนวทางนี้

“ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับภาค ระดับกลุ่มจังหวัดส่วนใหญ่ทำจากหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งอาจจะไม่ได้โฟกัสเรื่องเศรษฐกิจ และไม่มีแนวทางชัดเจน ภาคเอกชนจึงร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคเอกชนภูมิภาคขึ้นมา โดยทำงานร่วมกับ กระทรวง อว.”

นายธวัชชัยกล่าวว่า ตอนนี้เฟสแรกจะนำร่องทั้งหมด 17 แผน เป็นแผนระดับภาค 5 แผน (6 กลุ่มจังหวัด) และแผนระดับจังหวัดจะมีการนำร่องจังหวัดเป้าหมาย 6 จังหวัด โดยภาคเหนือเสนอมา 2 จังหวัด ลำปางและตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดอุดรธานี, ภาคตะวันออกเลือกจันทบุรี, ภาคกลางเลือกลพบุรี และภาคใต้ จังหวัดกระบี่

ภาคกลางชูนิคม Food Valley

นายธวัชชัยกล่าวว่า ในส่วนของภาคกลาง มีมิติการพัฒนาที่หลากหลาย เพราะมีความแตกต่างในพื้นที่ เน้น 3 โครงการ ได้แก่ 1.เรื่องเกษตรเพิ่มมูลค่า เสนอจัดตั้งนิคมวิจัยและพัฒนา เรียกว่า “Food Valley” ในจังหวัดปทุมธานี 2.การเป็น “ศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและโลจิสติกส์ของประเทศ” และ 3.ทำเรื่องท่องเที่ยวมูลค่าสูงจะเป็นศูนย์กลางบริการทางการแพทย์ ศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ

ศูนย์กลาง “ผลไม้แห่งเอเชีย” ครบวงจร

ด้าน นายปรัชญา สมะลาภา ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนพัฒนาของภาคตะวันออก เช่น กรณีจังหวัดจันทบุรีจะทำเรื่อง “มหานครอัญมณี” ซึ่งทำอยู่แล้วแต่ยังไม่มีความก้าวหน้า รวมถึง “มหานครผลไม้” ที่ทำต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี จนสามารถสร้างรายได้จากผลไม้ขึ้นมา 4-5 เท่าตัว ส่วนกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออก จะเน้นเรื่องเกษตรและอาหาร สมุนไพร ผลไม้ รวมถึงเรื่องการค้าชายแดน

เป้าหมายของภาคตะวันออก ตอนนี้คือกระจายรายได้จากภาคที่มีรายได้สูง เป็นการกระจายรายได้ไปสู่ภาคที่มีรายได้น้อย โดยเฉพาะเรื่องของการซื้อคาร์บอนเครดิตจากภาคเกษตร เช่น ยางพารา ก็จะทำให้เกษตรกรสวนยางพาราสามารถสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง

รายงานข่าวระบุว่า โครงการที่ภาคตะวันออกเสนอ มีทั้งโครงการที่มีอยู่แล้ว และมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โครงข่ายเชื่อมโยงด้านการคมนาคมขนส่งหลักเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมและเมืองในอนาคต อาทิ 1.การพัฒนาการผลิตและการค้าผลไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่ไปกับคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป และการจัดจําหน่าย

2.การยกระดับสินค้าเกษตรด้วยอุตสาหกรรมการแปรรูป การทำสารสกัด พัฒนามาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับ สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล 3.พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและเส้นทางท่องเที่ยวชายทะเล (เส้นถนนเฉลิมบูรพาชลทิต) จังหวัดชลบุรีเลียบชายทะเลสู่จังหวัดตราด เชื่อมโยงการท่องเที่ยวข้ามแดน สร้างฐานการกระจายรายได้ และการสร้างงานให้แก่ท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ ได้แก่ 1.การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ให้มีการจัดการองค์กรอัจฉริยะ มุ่งเป้าในการกําจัดคาร์บอน 2.ยกระดับการนําเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตรขั้นสูง

เหนือชงดันโลจิสติกส์เชื่อมเพื่อนบ้าน

นายจักริน วังวิวัฒน์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า มิติการพัฒนาภาคเหนือมี 4 ด้าน ที่ภาคเอกชนต้องการผลักดัน ได้แก่ 1.การพัฒนาเศรษฐกิจฐาน BCG โดยเฉพาะการยกระดับโครงการ Northern Thailand Food Valley และ Cosmetic Valley เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร

2.พัฒนาภาคเหนือให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรม

3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และ 4.การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โลจิสติกส์เชื่อมโยงโครงข่ายในและต่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่ เส้นทางเด่นชัย-เชียงของ และนครสวรรค์-แม่สอด รวมถึงศูนย์กลางท่าบกภาคเหนือ (dry port) และโครงการมอเตอร์เวย์ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งไปด่านชายแดน

ชู “อุดรธานี” ศูนย์กลางโลจิสติกส์

นายสวาท ธีระรัตนนุกูลชัย รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แผนของภาคอีสาน ส่วนมากเขียนโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยและตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ และบางเรื่องไม่สอดรับกับแผนพัฒนาของจังหวัด จึงถูกตีกลับไปเพื่อปรับปรุงและทบทวนใหม่ ตอนนี้จึงให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นผู้ปรับให้สอดรับกัน แต่เบื้องต้นไฮไลต์ คือ ธีมท่องเที่ยวเป็นหลัก เพราะสามารถเชื่อมโยงกับเกษตร ภาคการศึกษา และอื่น ๆ ได้

ทั้งนี้ ในภาคอีสานจะต้องใช้จังหวัดอุดรธานีเป็นศูนย์กลางนำร่องเรื่องโลจิสติกส์ เพราะมีความพร้อมด้านเศรษฐกิจ มีการลงทุนของภาคเอกชนอยู่แล้ว ทั้งเป็นศูนย์กลางของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว พลเมืองมีขีดความสามารถ ถ้าภาครัฐเปิดทางก็ดำเนินโครงการได้เร็ว

ใต้ชู “เวลเนสอันดามัน-ท่าเรือสำราญ”

นายวัฒนา ธนาศักดิ์เจริญ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย ว่า มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับกลุ่มจังหวัดอันดามันในการจัดทำแผน โดยมีสภาหอการค้าฯและสภาอุตสาหกรรมฯเป็นผู้ให้ข้อคิดเห็น เน้นไปด้านการท่องเที่ยว เกษตร ค้าชายแดน โดยเสนอโครงการท่าเรือสำราญ รวมทั้งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสอันดามัน ชูการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน 6 จังหวัดอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ระนอง ตรัง และสตูล

“เราทำแผนงานเพื่อการบริหารเศรษฐกิจร่วมกัน ส่วนงบประมาณจะได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เบื้องต้นเอกชนจะเข้ามาเติมเต็มส่วนที่ขาดไปให้สอดรับกับแผนของสภาพัฒน์ เช่น การผลักดันให้ภาคใต้เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก สร้างอุตสาหกรรมยางพารา-ปาล์มน้ำมัน รวมถึงประมง อย่างจังหวัดกระบี่ที่เป็นจังหวัดนำร่องจะเดินด้วยการท่องเที่ยวระดับโลก”