สธ. พิจารณาขึ้นค่าโอทีทุกวิชาชีพ 8% เวรบ่าย-ดึกเพิ่มขึ้น 50%

แพทย์ พยาบาล
Photo by Online Marketing on Unsplash

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนฯ พิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนบุคลากร หลังไม่ได้ปรับมากว่า 10 ปี เพิ่มค่าตอบแทนนอกเวลาราชการ (OT) ผลัดบ่าย/ดึก ทุกวิชาชีพ 8% และค่าตอบแทนปฏิบัติงานปกติ เฉพาะผลัดบ่าย/ดึกเพิ่มขึ้น 50%

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2565 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2565 ได้มีข้อเสนอปรับค่าตอบแทนการปฏิบัติงานลักษณะเป็นเวรหรือเป็นผลัด (OT) ขึ้น 8% และปรับค่าตอบแทนเฉพาะผลัดบ่ายหรือผลัดดึกที่เสมือนเป็นการปฏิบัติราชการในเวลาราชการปกติ ขึ้น 50% โดยมีข้อเสนอปรับค่าตอบแทนแต่ละวิชาชีพ ดังนี้

  • แพทย์ ทันตแพทย์ จากเดิม 1,100 บาท เป็น 1,200 บาทต่อผลัด
  • เภสัชกร จากเดิม 720 บาท เป็น 780 บาทต่อผลัด
  • นักวิทยาศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ นักวิชาการทางด้านสาธารณสุข จาก 600 บาท เป็น 650 บาทต่อผลัด
  • พยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึกที่จากเดิมได้รับเพิ่ม 240 บาทก็ปรับเพิ่มเป็น 360 บาทต่อผลัด
  • พยาบาลเทคนิค เจ้าพนักงานสาธารณสุข เจ้าพนักงานเทคนิค จากเดิม 480 บาท เป็น 520 บาทต่อผลัด โดย
  • พยาบาลเทคนิคผลัดบ่าย/ผลัดดึก จากเดิมได้รับเพิ่ม 180 บาท ปรับเพิ่มเป็น 270 บาทต่อผลัด
  • เจ้าหน้าที่พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และเจ้าหน้าที่เทคนิค จากเดิม 360 บาท เป็น 390 บาทต่อผลัด
  • เจ้าหน้าที่พยาบาลผลัดบ่าย/ผลัดดึก จากเดิมได้รับเพิ่ม 145 บาท ปรับเพิ่มเป็น 255 บาทต่อผลัด
  • เจ้าหน้าที่อื่น ๆ ตามวุฒิ จากเดิม 360-600 บาท เป็น 650 บาท และลูกจ้างตำแหน่งอื่น ๆ จากเดิม 300 บาท เป็น 330 บาท

ส่วนบุคลากรที่ไม่เข้าเกณฑ์ค่าตอบแทนฉบับนี้ จะมีการพิจารณาเพิ่มเติมให้ครอบคลุมต่อไป

นพ.ทวีศิลป์อธิบายว่า การเพิ่มค่าตอบแทนบุคลากรดังกล่าว เมื่อพิจารณาจากสถานะการเงินการคลังยังพอมีเงินรองรับในส่วนนี้ได้ไม่กระทบการให้บริการ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งรัดดำเนินการเรื่องการเพิ่มค่าตอบแทน

โดยหลังจากคณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทนฯ มีมติเห็นชอบแล้ว จะส่งคณะกรรมการว่าด้วยเงินบำรุงของหน่วยบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขพิจารณา ก่อนทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง เพื่อออกประกาศและดำเนินการให้กับบุคลากรต่อไป

“เมื่อพิจารณาถึงสถานการณ์การเงินการคลังและรายรับรายจ่ายของโรงพยาบาลในสังกัด สธ.แล้ว พบว่ารายได้ของหน่วยบริการฯ ส่วนใหญ่มาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กองทุนประกันสังคม กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยข้อมูลปี 2560-2565 พบมีรายรับภาพรวมเฉลี่ยสูงกว่ารายจ่าย ในขณะที่ค่าตอบแทนส่วนนี้ไม่ได้มีการปรับปรุงตั้งแต่ปี 2552 ต่างจากสภาพเศรษฐกิจ ภาวะเงินเฟ้อที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก”