สะเทือนค้าปลีกเมืองผู้ดี 2 ยักษ์ซูเปอร์มาร์เก็ตควบกิจการ

คอลัมน์ MARKET MOVE

ปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกอังกฤษ เมื่อมีกระแสข่าวว่าผู้เล่นอันดับ 2 และ 3 ของตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตพยายามควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากจะทำให้ตำแหน่งผู้นำตลาดเปลี่ยนไปแล้วยังส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งกับพนักงาน คู่ค้า และผู้บริโภค ที่อาจต้องเผชิญกับการผูกขาดตลาดในอนาคต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า “เซนส์บิวรีส์” (Sainsbury”s) ยักษ์ค้าปลีกอังกฤษ และ “เอเอสดีเอ” (ASDA) เชนค้าปลีกในอังกฤษของเครือวอลล์มาร์ต ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับมีความพยายามควบรวมกิจการกัน

ซึ่งหากสำเร็จจะกลายเป็นอาณาจักรซูเปอร์มาร์เก็ตที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของอังกฤษด้วยส่วนแบ่งตลาด 31.4% มูลค่ากว่า 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้า “เทสโก้” (Tesco) ซึ่งครองอันดับ 1 ในปัจจุบันด้วยส่วนแบ่ง 27.8% โดย “เซนส์บิวรีส์” เปิดเผยว่า เตรียมซื้อกิจการ “เอเอสดีเอ” ของวอลล์มาร์ตด้วยมูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านปอนด์ แบ่งเป็นเงินสด 3 พันล้านปอนด์ และหุ้น 42% ของธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น

หลังควบรวมกิจการ คิดเป็นมูลค่า 7.3 พันล้านปอนด์ ซึ่งบริษัทใหม่นี้จะกลายเป็นซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ที่สุดของอังกฤษ ด้วยสาขากว่า 2,800 แห่ง พนักงาน 3.6 แสนคน และรายได้ไม่ต่ำกว่า 5.1 หมื่นล้านปอนด์ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 31.4% ซึ่งสูงกว่าเทสโก้ที่มีสาขา 3,400 แห่ง พนักงาน 3.2 แสนคน และมีส่วนแบ่งตลาด 27.8%

ด้านการบริหาร “เดวิส เทเลอร์” ประธานบริษัท และ “ไมค์ คูป” ซีอีโอของเซนส์บิวรีส์ จะเข้ามานั่งบริหารบริษัทใหม่นี้ในตำแหน่งเดิมพร้อมกับมีผู้บริหารจากวอลล์มาร์ตอีก 2 คนมาร่วมทีม

“ไมค์ คูป” ยืนยันว่า หลังการควบรวมกิจการร้านสาขาทั้ง 2,800 แห่ง จะยังเปิดกิจการตามปกติและคงใช้แบรนด์ “เซนส์บิวรีส์” และ “เอเอสดีเอ” ตามเดิม เนื่องจากทั้ง 2 แบรนด์มีฐานลูกค้าต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ขนาดของธุรกิจที่ใหญ่ขึ้นนี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้กว่า 500 ล้านปอนด์ต่อปี เนื่องจากอำนาจต่อรองกับซัพพลายเออร์ที่สูงขึ้น รวมถึงการลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งอาคารสถานที่และกระบวนการบริหาร

อย่างไรก็ตาม ดีลนี้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกหลายด้าน โดยเฉพาะกลุ่มเฝ้าระวังการผูกขาด ซึ่งเรียกร้องให้รัฐสภาตรวจสอบการควบรวมกิจการนี้ว่าเข้าข่ายผูกขาดตลาดหรือไม่ เนื่องจากหลังการควบรวมจะทำให้วงการซูเปอร์มาร์เก็ตมีผู้เล่นใหญ่ลดลง จาก 4 ราย เหลือเพียง 2 ราย ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเกือบ 60% จึงมีความเสี่ยงที่อาจเกิดการขึ้นราคาสินค้าและปรับลดพนักงานจำนวนมากได้

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่า ดีลนี้ยากจะผ่านการอนุมัติ เนื่องจากรัฐบาลเคยแสดงท่าทีชัดเจนว่า ผู้เล่นในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษจะต้องมีไม่น้อยกว่า 4 รายดังนั้นอย่างน้อย 2 ยักษ์ค้าปลีกอาจจำเป็นต้องขายร้านสาขาออกไปประมาณ 15% เพื่อลดส่วนแบ่งการตลาด และช่วยเพิ่มโอกาสให้ดีลนี้ผ่านการอนุมัติมากขึ้น

จึงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่า ดีลหมื่นล้านปอนด์นี้จะผ่านการอนุมัติหรือไม่ และจะสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการซูเปอร์มาร์เก็ตอังกฤษมากน้อยแค่ไหน