อลหม่าน “ไขมันทรานส์” ปรับสูตร-เพิ่มราคา-ย้ำความเชื่อมั่น

คอลัมน์ จับกระแสตลาด

กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากกระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศ ห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่าย น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนหรือกรดไขมันทรานส์ โดยมีผลบังคับใช้ใน 180 วัน (ภายในเดือนมกราคม 2562) เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาเพราะเรื่องนี้ค่อนข้างใกล้ตัว และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน การกินอยู่ของผู้บริโภคโดยตรง เนื่องจากไขมันทรานส์นั้นถูกนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย ในกลุ่มสินค้าประเภทอาหาร เครื่องดื่มและเบเกอรี่ ไม่ว่าจะเป็นโดนัท เค้ก คุกกี้ พาย กาแฟเย็น ชาเย็น ชานมไข่มุก ฯลฯ

ปรับสูตรดันต้นทุนเพิ่ม 5%

แม้ว่าด้านของผู้ผลิตรายใหญ่ หลายรายจะมีการปรับสูตรให้สินค้าของตัวเองปราศจากทรานส์แฟตกันอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา แต่ประกาศฉบับนี้จะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับ ผู้ผลิตที่ยังมีการใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบอยู่ ซึ่งการปรับสูตรก็อาจทำให้รสชาติ ความหอมหวานเปลี่ยนไป รวมถึงภาระต้นทุนที่จะต้องแบกรับมากขึ้น

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้น หากมีการปรับสูตรมองว่าอยู่ที่ราว 5% แต่สิ่งที่จะกระทบมากกว่านั้นคือเรื่องของรสชาติ เมื่อปรับสูตรใหม่ก็ต้องพยายามหาวัตถุดิบที่ทำให้รสหรือกลิ่นใกล้เคียงรสชาติเดิม เพื่อรักษาฐานลูกค้าเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบของผู้ผลิตรายใหญ่มองว่าไม่มีปัญหา เนื่องจากมีการปรับตัวกันอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้าแต่เมื่อกระแสข่าวดังกล่าวสะพัดขึ้นมาอีกระลอก ผู้ผลิตสินค้าจำนวนมากในวงการอาหาร เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ต่างก็ร่อนจดหมายชี้แจง เพื่อย้ำว่าสินค้าของตัวเองปราศจากไขมันทรานส์

ยักษ์ “อาหาร-เบเกอรี่” แจงด่วน

“ออร์คิด” ซึ่งประกอบไปด้วยเนย บัตเตอร์เบลนด์ นมข้นจืด และครีมเทียมข้นหวาน “เคซีจี คอร์เปอเรชั่น” ผู้ผลิตเนย ชีส เบเกอรี่ แบรนด์อลาวรี่ อิมพีเรียล ฯลฯ “ฟาร์มเฮ้าส์” ผู้ผลิตขนมปังและเบเกอรี่ แม้กระทั่งผลิตภัณฑ์มาร์การีนของ “เบสท์ ฟู้ดส์” รวมไปถึงกลุ่มนมข้นหวาน นมข้นจืด ฯลฯ ภายใต้แบรนด์นกเหยี่ยว, เรือใบ และมายบอย ของบริษัท “ฟรีสแลนด์คัมพิน่า” ตลอดจน “มะลิ” “ทีพอท” “คาร์เนชั่น” ฯลฯ และขนมขบเคี้ยวอย่าง “กูลิโกะ” ทุกรายการ เป็นต้น

แม้จะไม่มีส่วนประกอบดังกล่าว แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ณ ขณะนี้ผู้บริโภคเกิดการตื่นตัวมากขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายสินค้ากลุ่มเบเกอรี่ในภาพรวม

กระทบมู้ด-บรรยากาศทั้งตลาด

“อิทธิพล ปฏิมาวิรุจน์” กรรมการบริหาร บริษัท เดลี่ฟู้ดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมข้นหวานภายใต้แบรนด์พาเลซ ให้ความเห็นว่า แม้บริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบจากประกาศดังกล่าวของกระทรวงสาธารณสุข เพราะไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์มาตั้งแต่แรก แต่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อมู้ดและบรรยากาศโดยรวมต่อตลาดในช่วงที่มีกระแสไขมันทรานส์เกิดขึ้น

ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรม ก็มีการเปลี่ยนกระบวนการผลิตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน จึงจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ผู้ประกอบการรายเล็กจะได้รับผลกระทบโดยตรง เนื่องจากต้องเพิ่มต้นทุนการผลิตและปรับราคาสูงขึ้น ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคอยู่ในช่วงชะลอตัว

จี้ อย.คุม “ฉลาก” ต้องชัดเจน

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ควรชี้แจงรายละเอียดอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อแบรนด์ต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องฉลาก ที่มีกฎห้ามผู้ประกอบการระบุคำว่า “ไม่มีไขมันทรานส์” ทำให้ผู้บริโภคเกิดความไม่เชื่อมั่นในตัวสินค้า

“กำธร ศิลาอ่อน” กรรมการผู้จัดการสายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันในไทยมีโรงงานที่ผลิตน้ำมันซึ่งผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน เพียง 2 แห่งเท่านั้น ดังนั้นประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่ห้ามผลิต นำเข้า และซื้อขายในครั้งนี้อาจส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อย เนื่องจากถือเป็นวัตถุดิบที่ไม่แพร่หลายนัก อย่างไรก็ตาม ในรายที่กระทบอาจทำให้ต้นทุนสูงขึ้น เนื่องจากต้องปรับสูตรหรือวัตถุดิบ

สำหรับบริษัทไม่ได้รับผลกระทบ เพราะได้ปรับตัว และสูตรเบเกอรี่ชนิดต่าง ๆ มาตั้งแต่ปี 2549 โดยได้บริหารต้นทุนด้านต่าง ๆ เพื่อพยายามคงราคาสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังมองว่าเป็นปัจจัยบวก เนื่องจากช่วยกระตุ้นความสนใจ และสร้างความเข้าใจของผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพและความเป็นมิตรกับสุขภาพของสินค้าเบเกอรี่ สอดคล้องกับจุดขายของบริษัท

เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมอาหาร

“พินิจ พัวพันธ์” กรรมการ บริษัท อุตสาหกรรมนมไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์นมตรามะลิ ฉายภาพที่เกิดขึ้นหลังจากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ว่า จะทำให้อุตสาหกรรมอาหารในไทยเปลี่ยนไป โดยผู้ประกอบการหลายรายต้องปรับสูตรและขึ้นราคา เนื่องจากไม่เพียงต้องทำให้สินค้ามีไขมันทรานส์น้อยที่สุด แต่ต้องไม่มีไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบเลย

แต่ในส่วนของบริษัทนั้น จะไม่ได้รับผลกระทบกับประกาศฉบับนี้ เพราะไม่ได้ใช้วัตถุดิบที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์อยู่แล้ว แต่มองว่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ปรับมาก่อนหน้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นตามไปด้วยอย่างแน่นอน

ทั้งนี้ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแสดงส่วนผสมบนฉลากของสินค้าว่า ยังมีช่องโหว่เรื่อง “ไขมันทรานส์ 0 กรัม” หากในสินค้านั้นมีการใช้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และน่าจะมีไขมันทรานส์มาด้วย แต่ถ้ามีปริมาณน้อยกว่า ตามที่แต่ละประเทศกำหนด “ต่อ 1 หน่วยบริโภค” ก็สามารถเขียนในฉลากได้ว่า 0 gram trans fat ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ว่าเป็น 0% คือไม่มีอยู่เลย


เรื่องไขมันทรานส์สำหรับผู้บริโภคอาจไม่น่าห่วงเท่าที่คิด แต่ผู้ประกอบการที่ต้องปรับตัวนั้น ยังมีเวลาให้อีก 6 เดือน