ธุรกิจฝืดหวั่นคู่ค้าชักดาบ พิษไวรัสลามห้าง-อีคอมเมิร์ซ

ไวรัสอู่ฮั่นฟาดหางธุรกิจไทย อุตฯท่องเที่ยวทั้งโรงแรม บริษัททัวร์ รถบัส กระทบเป็นโดมิโน “ภูเก็ต พังงา เชียงใหม่ พัทยา” หืดจับ นักท่องเที่ยวจีนหายวับ สทท. ชำแหละมาตรการรัฐรายเล็กไม่ได้อานิสงส์ เผยผู้ประกอบการเจอปัญหาขาดสภาพคล่องหวั่นกระแส “เบี้ยวหนี้”ลาม “ภูเก็ต” เร่งประชุมทุกหน่วยงานหามาตรการฟื้นชีพ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ เจอหางเลข”สินค้าจีน” ขาดตลาด ห้างค้าปลีกพลิกแผนรับมือวิกฤตยืดเยื้อ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสอู่ฮั่น ที่ขณะนี้ยังมีจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งมีพื้นที่การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยอย่างมาก รวมทั้งภาคธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

ภูเก็ตถกด่วนกู้วิกฤต

นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 6 ก.พ.นี้ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต นัดประชุมหารือกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ตทั้งระบบ เพื่อประเมินความเสียหายและผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าจากเมืองอู่ฮั่น เพราะเกรงว่านักท่องเที่ยวจีน 2.5 ล้านคนที่เคยมาท่องเที่ยวภูเก็ตจะลดน้อยลงมากหรือหายไปเลย รวมถึงนักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ ที่เริ่มมีการยกเลิกห้องพัก แต่ปัญหาที่หนักใจ คือ ไม่มีการจองห้องพักใหม่เข้ามา

ล่าสุดสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต สมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ และสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ได้ยื่นจดหมายด่วนที่สุดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณามาตรการช่วยเหลือด้านสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในภูเก็ต และพังงา เป็นการเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ เพราะมีพนักงานและผู้เกี่ยวข้องในอุตฯท่องเที่ยวอีกหลายแสนคน

“ภาพรวมภูเก็ตมีนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวจีน 2.5 ล้านคน แต่ตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนหายไปเลย ส่วนชาติอื่นยกเลิกการจอง และไม่มีการจองห้องพักใหม่เข้ามา ส่งผลให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบหนักทันที โรงแรมบางแห่งนิ่ง ธุรกิจรถบัสใหญ่จอดสนิท รวมถึงเรือสปีดโบ๊ต เพราะทุกคนรับนักท่องเที่ยวจีนหมด แต่ยังมีนักท่องเที่ยวชาติอื่นอยู่ เช่น รัสเซีย อินเดีย ยุโรป จึงอยากให้คนไทยมาเที่ยวภูเก็ต เพราะไม่ได้แพงอย่างที่คิด หลายปีที่ผ่านมาทำการตลาดเพื่อดึงคนไทยกลับมาเที่ยวภูเก็ต แต่เชื่อว่ารัฐบาลจีนจะคุมสถานการณ์ได้ หากเลวร้ายลากยาวเกินกว่า 6 เดือน ปัญหาไม่จบก็ตายหมู่”

รถทัวร์ภูเก็ตจอดสนิท

นายสมเกียรติ ปิติภาคย์ตวงสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อันดามัน เซาท์ โคสท์ ทราเวล จำกัด ผู้ประกอบการรถทัวร์ท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการรถทัวร์ในจังหวัดภูเก็ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการที่นักท่องเที่ยวจีนไม่เดินทางมา ปัจจุบันภูเก็ตมีรถทัวร์ให้บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 4,000-5,000 คัน ประมาณ 80% เป็นรถทัวร์ที่ให้บริการลูกค้าชาวจีน ขณะนี้ถูกยกเลิกการจอง 100% ตอนนี้รถบัสนับพันคันจอดนิ่งสนิทในที่ดินของตัวเอง และไปเช่าที่ดินของเอกชนต่าง ๆ และคาดการณ์ว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะยาวเกินกว่า 6 เดือน คิดว่าอาจจะยาว 1-2 ปี เพราะกว่าประเทศจีนจะสามารถฟื้นเศรษฐกิจในประเทศได้ ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลายธุรกิจท่องเที่ยวที่ทำเฉพาะตลาดจีนปรับตัวไม่ทัน การจะหันไปทำตลาดประเทศอื่นก็จะลำบาก เพราะไม่ได้มีการวางแผนรองรับตั้งแต่แรก โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ประกอบการรายย่อยจะลำบากมาก เมื่อผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องจะเริ่มเห็นภาพของคนตกงานตามมา

“เหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตที่ผ่านมายังทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปจากภูเก็ต 2 ปี ดังนั้น สถานการณ์ไวรัสโคโรน่าคิดว่าต้องใช้เวลาเป็นปีเช่นกัน”

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงาน เท่าที่คุยกันในวงการตอนนี้มีการให้พนักงานหยุดลาพักร้อน 1 เดือน หรือหยุดทำงาน 15 วัน ทำงาน 15 วัน ขึ้นอยู่ตามข้อตกลงระหว่างผู้ประกอบการกับพนักงาน ส่วนใหญ่พนักงานเข้าใจเพราะสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเร็วมาก ผู้ประกอบการบางรายไม่สามารถปรับตัวได้ทัน

เชียงใหม่ยอดจองที่พักหายเรียบ

นางละเอียด บุ้งศรีทอง นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคเหนือ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากวันที่ 24 มกราคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดนักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ (กรุ๊ปทัวร์) ยกเลิกการจองห้องพักแล้วราว 80-90% จากโรงแรมระดับ 3-5 ดาวในจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นสมาชิกสมาคม มีบุ๊กกิ้งของนักท่องเที่ยวจีนที่ตกค้างอยู่ราว 10-15% เท่านั้น ไม่มีการจองห้องพักใหม่เข้ามาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นชะลอตัว ทั้งกลุ่มเอเชีย-แปซิฟิก ยุโรป และอเมริกา ทำให้ตัวเลขการจองห้องพักระยะสั้นเกือบเป็นศูนย์

นายอมรรักษ์ ชุมสาย ณ อยุธยา ผู้อำนวยการท่าอากาศยานเชียงใหม่ กล่าวว่า จากปัญหาไวรัสโคโรน่าส่งผลให้มีผู้โดยสารชาวจีนที่เดินทางเข้าสู่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ จากเดิมเฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน ลดลงเหลือทั้งขาเข้าและขาออกราว 1,500 คนต่อวัน

รายเล็กไม่ได้อานิสงส์

ดร.วสุเชษฐ์ โสภณเสถียร รองประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) และนายกสมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” มติคณะรัฐมนตรี (4 ก.พ. 63) ที่ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยวนั้น กลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มโรงแรม และสายการบินเป็นหลัก ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดเล็กยังถือว่าไม่ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากมาตรการ

โดยมาตรการให้สถาบันการเงินจัดหาวงเงินสินเชื่อ 1.23 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี ผู้ที่จะเข้าถึงสินเชื่อส่วนใหญ่ก็ต้องเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ และมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้กับสายการบิน 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร แต่ไม่ได้ลดให้กับระบบการขนส่งอื่น ๆ ด้วย เช่น รถนำเที่ยว, เรือนำเที่ยว เป็นต้น

หวั่นปัญหา “เบี้ยวหนี้”

“ปัญหาของภาคธุรกิจท่องเที่ยวตอนนี้ คือ ขาดสภาพคล่อง เพราะตอนนี้ผู้ประกอบการจำนวนมากเริ่มประสบกับปัญหาคู่ค้าไม่มีเงินมาชำระคืนตามเครดิตเทอมในการทำธุรกิจ เพราะทุกภาคส่วนก็อ้างว่าชอร์ต เพราะถูกคู่ค้าของตัวเองไม่ชำระเงินคืนเช่นกัน ผู้ประกอบการจึงต้องการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อจะนำเงินมาหมุนและสร้างสภาพคล่อง รวมถึงอยากเห็นมาตรการกระตุ้นของภาครัฐว่าจะช่วยกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวกระตุ้นภาคธุรกิจท่องเที่ยวอย่างไรบ้าง” ดร.วสุเชษฐ์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทาง สทท.มีกำหนดจัดประชุมหารือผู้ประกอบการท่องเที่ยวทั่วประเทศ เพื่อประเมินผลกระทบและสรุปแนวทางแก้ปัญหา ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ โดยแต่ละกลุ่มธุรกิจจะสรุปประเด็นปัญหาและมาตรการเสนอไปยังรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

สอดรับกับ นายสุรวัช อัครวรมาศ ประธานบริษัท ที.เค.ที. ทัวร์ เอ็นเตอร์ไพร์ส จำกัด กล่าวว่า มาตรการนี้ยังไม่ได้ตอบโจทย์กลุ่มผู้ประกอบการมากนัก เนื่องจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวของไทยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็กประมาณ 80%

ขณะที่นายวิชิต ประกอบโกศล นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวน่าจะเข้ามาช่วยลดภาระและเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการทุกภาคส่วนมีสภาพคล่องได้ดีขึ้นและสามารถเดินต่อได้

ค้าปลีกปรับแผนสู้ไวรัส

รายงานข่าวจากผู้ประกอบการค้าปลีกยักษ์ใหญ่เปิดเผยว่า แนวทางรับมือผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่นของค้าปลีกแทบทุกค่ายไม่แตกต่างกัน ทุกคนรู้ดีว่าลูกค้านักท่องเที่ยวจีนจะหายไปแน่นอน อย่างน้อยก็ระยะหนึ่ง ที่ต้องทำคือพุ่งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาติอื่น ๆ และลูกค้าคนไทย แม้ไม่สามารถทดแทนคนจีนได้ แต่เป็นแนวทางดีที่สุด

“ที่กังวลคือการตื่นกลัวไปกับสถานการณ์ ลูกค้าไม่กล้าออกจากบ้านมาใช้บริการ กลัวติดเชื้อ ซึ่งทุกค่ายมุ่งแก้โจทย์นี้ตั้งแต่วันแรก ๆ เชื่อว่าลูกค้ามั่นใจมากขึ้น”

หลังความตื่นตัวลดลง ทุกค่ายจะทุ่มโปรโมชั่นและอีเวนต์ต่าง ๆ กอบกู้สถานการณ์ ดึงคนออกมาใช้จ่าย เชื่อว่าไวรัสอู่ฮั่นจะส่งผลกระทบลูกค้าคนไทยช่วงแรก ๆ เท่านั้น เพราะจากการสำรวจศูนย์การค้าหลัก ๆ กลางเมืองช่วงวันหยุดที่ผ่านมา ลูกค้าลดลงไม่มากนัก

ด้านบรรยากาศการจับจ่ายในย่านสยาม-ราชประสงค์ หนึ่งในเดสติเนชั่นของนักท่องเที่ยวชาวจีน จากการสำรวจของผู้สื่อข่าวเมื่อ 3 ก.พ. พบว่าในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาจับจ่ายจำนวนไม่น้อย และมีนักท่องเที่ยวจากชาติอื่น ๆ เช่น ยุโรป และญี่ปุ่นด้วย โดยห้างมีมาตรการป้องกันเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ด้วยการสแกนนักท่องเที่ยว และมีเจลแอลกอฮอล์ให้ทำความสะอาด รวมถึงห้างบิ๊กซี สาขาราชดำริ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเดิน-จับจ่าย แต่จำนวนน้อยกว่าปกติ

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า งาน ADFEST งานประกวดโฆษณาระดับโลก ซึ่งเดิมกำหนดจัดงานที่พัทยา จ.ชลบุรี วันที่ 18-21 มี.ค. 2563 ได้ประกาศเลื่อนการจัดงานออกไป โดยผู้จัดจะแจ้งกำหนดการใหม่อีกครั้ง และยังคงจัดงานภายในปีนี้เช่นเดิม

พลิกเกมกระตุ้นตลาดในประเทศ

นายณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บจ.เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป (CRG) ธุรกิจร้านอาหารในเครือเซ็นทรัล อาทิ มิสเตอร์ โดนัท, อานตี้ แอนส์, เปปเปอร์ ลันช์ เปิดเผยว่า ไวรัสโคโรน่ากระทบทุกภาคธุรกิจ รวมถึงธุรกิจร้านอาหาร หากลากยาวถึง 3 เดือน จะกระทบสาขาตามสถานที่ท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก

ด้านเชนค้าปลีกความงาม “บิวตี้บุฟเฟ่ต์” นายแพทย์สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บิวตี้ คอมมูนิตี้ ประเมินว่าจะกระทบธุรกิจช่วง 1-2 เดือนนี้ ธุรกิจต่าง ๆ ในจีนจะเริ่มเปิดดำเนินการอีกครั้งวันที่ 10 ก.พ. หลังหยุดยาวช่วงตรุษจีน ออร์เดอร์ของดิสทริบิวเตอร์จากจีนยังไม่มีการยกเลิก ได้เตรียมแผนรับมือไว้แล้ว โดยระยะสั้นเน้นกระตุ้นตลาดในประเทศ ระยะยาวเพิ่มน้ำหนักการทำตลาดประเทศอื่นทดแทนตลาดจีน เช่น อินเดีย เวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย

ลาม “อีคอมเมิร์ซ” สินค้าจีนขาด

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ Chief Government Affairs Officer สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และกรรมการบริหาร บจ.ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า เริ่มเห็นการนำเข้าสินค้าจากจีนมีปัญหาหยุดชะงักบ้างแล้ว เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนชะลอลง ประกอบกับโรงงานและหลายธุรกิจประกาศหยุดชั่วคราว ขณะที่สินค้าจีนที่นำเข้ามาสต๊อกในคลังสินค้าในไทยหลายส่วนเริ่มทยอยหมด แต่เชื่อว่าบรรดาอีมาร์เก็ตเพลซอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการรับมือ อย่างไรก็ตาม อาจเป็นจังหวะที่ดีที่แบรนด์สินค้าของไทยและประเทศอื่น ๆ จะใช้โอกาสนี้เข้ามาทำตลาดออนไลน์ให้หนักขึ้น

“สินค้าเกี่ยวกับสุขภาพหลายตัว เช่น เครื่องฟอกอากาศ เริ่มสั่งนำเข้าได้ของช้าลง ถ้าสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ สินค้าจากจีนหลายตัวอาจขาดตลาด สินค้าจีนที่ขายดี อาทิ เสื้อผ้า แฟชั่น แก็ดเจต อุปกรณ์กีฬา”

รายงานข่าวจากบริษัท ลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า สินค้าที่วางขายบนแพลตฟอร์มของบริษัทได้รับผลกระทบเล็กน้อย เพราะสินค้าจีนที่วางจำหน่ายมาจากหลายเมือง ยังมีสินค้าเพียงพอความต้องการของลูกค้า นอกจากนี้ ลาซาด้าร่วมกับแบรนด์สินค้า และผู้ขายในการควบคุมราคาสินค้า และมีนโยบายการลงโทษหากพบมีการโก่งราคาสินค้าสูงเกินจริง

เช่นกันกับ “ช้อปปี้” ที่ระบุว่า มีการดูแลจัดการใกล้ชิดให้มั่นใจได้ว่าผู้ใช้งานมีความปลอดภัยจากสถานการณ์ และทำงานใกล้ชิดกับผู้ขายเพื่อจัดการความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหน้ากากอนามัย เจลล้างมือ สินค้าสุขภาพอื่น ๆ

เครื่องนุ่งห่มไทยส้มหล่น

ด้านนายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย เปิดเผยว่า แม้หลายธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่น แต่อาจเป็นโอกาสในการทำตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มไทย เนื่องจากมีผู้ซื้อที่ปกติจะนำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากหูเป่ย์ ทั้งจากสหรัฐ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น สอบถามเกี่ยวกับกำลังการผลิตเข้ามา เพราะอยู่ในช่วงจะตัดสินใจปรับย้ายการสั่งผลิตเข้ามาที่ไทยแทน

“มณฑลหูเป่ย์ถือเป็นฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่ม อันดับ 3 ของจีน ขนาดกำลังการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่าไทย 3 เท่า เช่น ไทยส่งออกปีละ 2 แสนล้านบาท หูเป่ย์ 6 แสนล้านบาท ผลิตทุกประเภททั้งเครื่องกีฬา แคชวล ถ้าหูเป่ย์หยุดโรงงาน 1.5 เดือน เท่ากับออร์เดอร์หายไป 60,000 ล้านบาท ลูกค้าอาจไปซื้อที่มณฑลอื่น หรือประเทศอื่น ถ้ามาที่ไทยแค่ 1,000 ล้าน ก็ผลิตไม่ทันแล้ว”

สมาคมจึงประสานไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ให้แจ้งกับสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ประจำประเทศต่าง ๆ ที่นำเข้าเครื่องนุ่งห่มจากจีนว่า ไทยมีกำลังการผลิตเพียงพอหากจะมีการสั่งซื้อเข้ามาประมาณ 1,000 ล้านบาท ในช่วง 1-1.5 เดือนนี้ หากผลักดันส่งออกส่วนนี้ได้เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีในระยะยาว และทำให้ปี 2563 น่าจะส่งออกได้เพิ่มขึ้น 5% ในส่วนของเครื่องนุ่งห่ม ส่วนสิ่งทอจะยังทรงตัว 0%

ห่วงกระทบ ศก.โลก-กำลังซื้อ

ขณะที่นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า การประชุม กกร.วันที่ 5 ก.พ.นี้จะประเมินว่า ไวรัสโคโรน่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด เบื้องต้นภาคการผลิต ส.อ.ท.ประเมินว่า อุตสาหกรรมที่เป็นซัพพลายเชนให้กับจีน เช่น อิเล็กทรอนิกส์ อุตฯอาหารบางส่วนจะได้รับผลกระทบ แต่อุตฯยานยนต์ที่ซัพพลายชิ้นส่วนให้จีนส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจีนที่มาลงทุนในไทยอาจกระทบบ้าง รวมทั้งผู้ผลิตไทยที่ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้จีนกลุ่มยางล้อ

อย่างไรก็ตาม น่าห่วงผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อชะลอตัวมากกว่าซัพพลายเชนสะดุด


นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวในทำนองเดียวกันว่า การส่งออกสินค้าทั้งทางอากาศและทางเรือได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน โดยการส่งออกของไทยไปจีนไตรมาสแรกปีนี้อาจสูญรายได้หลายพันล้านบาท ส่วนสินค้ากลุ่มอาหารสด ขณะนี้ยังไม่เห็นตัวเลขความเสียหายชัดเจน สินค้าที่ส่งไปติดค้างที่จีนอยู่ระหว่างติดตามศุลกากรปลายทาง ตอนนี้ยังไม่อนุญาตให้เคลียร์สินค้าเข้าจีน ยังคงค้างอยู่ที่ท่าเรือปลายทางจำนวนมาก คาดว่าเมื่อเปิดบริการตามปกติหลัง 10 ก.พ. จะมีเรือและสินค้าจำนวนมากต้องเร่งระบาย อาจนำไปสู่การเรียกเก็บค่าบริการความแออัดเพิ่มเติม