ภารกิจ…นายกใหม่ ฟื้นตลาดหนังสือ 2.6 หมื่นล้าน

มูลค่าตลาดหนังสือในไทยเมื่อ 5 ปีก่อน 26,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันภาพรวมตลาดหนังสือก็ไม่ได้เติบโตขึ้น ปัจจัยหลัก ๆ มาจากการขยายตัวทางเทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ ทำให้พฤติกรรมการรับข้อมูลข่าวสารและช่องทางการขายหนังสือเปลี่ยนไป จนเกิดคำถามว่า ความต้องการอ่านหนังสือจะลดลงไปตามช่องทางจำหน่าย (ร้านหนังสือ) หรือไม่ ซึ่งปัจจุบันเหลือเพียง 100 แบรนด์ทั่วประเทศเท่านั้น

ปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น กลายเป็นภารกิจสำคัญของนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทยคนใหม่ที่เข้ามารับตำแหน่งแทน “จรัญ หอมเทียนทอง” ที่เพิ่งหมดวาระไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งตำแหน่งนี้มีวาระการทำงาน 2 ปี

“สุชาดา สหัสกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัท พาส เอ็ดดูเคชั่น จำกัด ในฐานะนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาพรวมตลาดหนังสือทั่วโลกอยู่ในสภาวะทรงตัว ขณะที่ตลาดหนังสือในไทยก็ไม่ได้เติบโตขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

เนื่องจากปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ชะลอการเติบโตลง ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และลดการใช้จ่ายสินค้าที่ไม่จำเป็นลง โดยหนังสือก็ถูกรวมอยู่ด้วย ประกอบกับการขยายตัวเทคโนโลยี สื่อออนไลน์ ก็เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคไปด้วย วันนี้ผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการ ผู้จำหน่ายหนังสือเองก็ต้องขยับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน

“สุชาดา” บอกว่า หลังจากเข้ามารับตำแหน่งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เริ่มภารกิจแรกด้วยการเปลี่ยนโลโก้ใหม่ “PUBAT” ให้สอดคล้องกับนโยบาย PUBAT 4.0 ในรูปลักษณ์ที่เรียบง่าย มีความเป็นสากล ทันสมัย และเป็นมิตรกับทุกคน สะท้อนให้เห็นว่าการอ่านหนังสือเป็นเรื่องของคนทุกเพศทุกวัย ทุกกลุ่มอาชีพ

พร้อมเปิดตัว 3 นโยบายหลัก เพื่อฟื้นตลาดหนังสือให้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เริ่มด้วยนโยบายแรก คือ เร่งฝึกอบรมการขายหนังสือออนไลน์ให้แก่สมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิก 500 ราย เพราะผู้บริโภควันนี้เปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อหนังสือจากหน้าร้าน เป็นออนไลน์ ซึ่งที่ผ่านมาบางสำนักพิมพ์ได้เริ่มจำหน่ายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ของแต่ละสำนักพิมพ์ไปแล้ว ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี มียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ตามด้วยการขยายตลาดต่างประเทศ ด้วยการจัดโรดโชว์ไปยังประเทศต่าง ๆ โดยสมาคมจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับขายลิขสิทธิ์ให้แก่สมาชิก จากปัจจุบันที่แต่ละสำนักพิมพ์ออกไปหาตลาดเอง รวมถึงการเพิ่มความถี่ในการจัดงานมหกรรมหนังสือขนาดย่อม ๆ กระจายไปจัดตามหัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัดเพิ่มเป็น 6-7 ครั้ง คาดว่าจะเริ่มได้ต้นปี 2561 จากปัจจุบันที่จัดอยู่เพียงไม่กี่จังหวัดเท่านั้น

สุดท้าย คือ สร้างดีมานด์ กระตุ้นการส่งเสริมการอ่านให้แก่ผู้อ่านภายในประเทศ ผ่านแนวทางหลัก ๆ ที่ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะยาวที่จะทำร่วมกัน อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวทางที่วางไว้จะผลักดันให้ตลาดหนังสือกลับมาเติบโตอีกครั้ง

ขณะเดียวกันช่วงปลายปีนี้ สมาคมเตรียมจัดงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 22 ระหว่างวันที่ 18-29 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้แนวคิด “ความทรงจำ” ซึ่งเชื่อมโยงกับนิทรรศการหลักของงาน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 1.8-2 ล้านคนตลอด 12 วัน และเม็ดเงินสะพัด 500-600 ล้านบาท

เท่ากับว่า หน้าที่หลักของสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯขณะนี้ คือ จะช่วยเหลือและผลักดันให้ตลาดหนังสือกลับมาเติบโตได้อย่างไร ท่ามกลางปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป