โควิด ปลุกสินค้าดูแลช่องปาก ยาสีฟัน-อุปกรณ์ฟอกสีฟัน กระฉูด

Market move

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลอดช่วงเวลามากกว่า 1 ปีที่ผ่านมา จะถล่มยอดขายสินค้าทุกชนิดทั่วโลกอย่างหนัก

แต่ในประเทศญี่ปุ่น “ยาสีฟัน” ทั้งยาสีฟันปกติและยาสีฟันระดับพรีเมี่ยม กลับเป็นสินค้าที่มียอดขายเติบโตสวนทางขึ้นมาอย่างไม่มีใครคาดถึง

จากการสำรวจตลาดของ “ไลอ้อน” ยักษ์สินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติญี่ปุ่นนั้น ในปี 2563 ที่ผ่านมาผู้บริโภคในแดนปลาดิบซื้อยาสีฟันเพื่อใช้เองมากกว่าซื้อให้คนในครอบครัวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากความตื่นตัวและความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิด-19 ผลักดันให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ต้องการใช้ของใช้ส่วนตัว รวมถึงยาสีฟันร่วมกับบุคคลอื่นแม้จะเป็นคนในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

ขณะเดียวกัน โควิด-19 ยังทำให้การเข้าถึงบริการทางการแพทย์ได้ยากขึ้น ทั้งจากการเว้นระยะห่างทางสังคม และความกังวลในความปลอดภัย ส่งผลให้ผู้คนต้องหันมารักษาสุขภาพด้วยตัวเองมากขึ้น รวมถึงสุขภาพในช่องปากด้วย

“คาโอฯ” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคสัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่อีกรายหนึ่ง ได้สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภค พบว่าปัจจุบันชาวญี่ปุ่นมากกว่า 80% แปรงฟัน วันละ 2 ครั้ง และบางคนยังแปรงฟันหลังมื้ออาหารด้วย ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นจากเมื่อปี 2518 ที่ชาวญี่ปุ่น 72% แปรงฟันเพียงวันละ 1 ครั้ง หรือน้อยกว่านั้น และมีเพียง 3% ที่แปรงฟัน 3 ครั้งต่อวัน

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า การใช้ชีวิตแบบต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากรู้สึกว่าตนเองมีปัญหากลิ่นปาก หรือกังวลเรื่องกลิ่นปากมากขึ้น ทำให้เกิดดีมานด์ยาสีฟันระดับพรีเมี่ยมที่มีจุดขายเกี่ยวกับการระงับกลิ่นปากเพื่อรับมือความกังวลนี้ ผลักดันให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้น

ขณะเดียวกัน บรรดาผู้สูงวัย อายุ 65-69 ปีในญี่ปุ่นยังมีพฤติกรรมรักษาสุขภาพในช่องปากเป็นอย่างดีอีกด้วย สะท้อนจากจำนวนฟันแท้ที่ยังมีอยู่ถึงเฉลี่ย 21.6 ซี่ต่อคน ความต้องการรักษาสุขภาพในช่องปากนี้กระตุ้นให้บรรดาธุรกิจผลิตสินค้าออกมาตอบสนองความต้องการไม่ว่าจะเป็นยาสีฟันสูตรฟันขาว สูตรลดอาการเสียวฟัน หรือบรรเทาอาการเหงือกอักเสบ

ไปจนถึงสินค้านวัตกรรม เช่น อุปกรณ์ฟอกสีฟันของบริษัทคาโอฯ ซึ่งเปิดตัวเมื่อเดือนมีนาคม 2563 มีจุดเด่นที่ใช้การสวมแบบเดียวกับอุปกรณ์ดัดฟัน และน้ำยาบ้วนปากของบริษัทไลอ้อน ที่ชูเรื่องการฟื้นฟูสุขภาพเหงือก นอกจากนี้ ยังมีสินค้าจากบริษัทขนาดกลาง-เล็ก อาทิ ConCool ยาสีฟันแบบเจล ที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ต เนื่องจากฟังก์ชั่นการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ความนิยมเหล่านี้ช่วยให้ตลาดเติบโตได้ท่ามกลางการระบาดของโรคโควิด-19

การเติบโตในปี 2563 นี้ ช่วยรักษาสถิติการเติบโตของตลาดสินค้าดูแลช่องปากในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่มีการเติบโตสวนทางกับการลดลงของประชากรและครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง 9 ปีซ้อน อีกทั้งยังเติบโตแซงหน้าสินค้าเครื่องใช้ในห้องน้ำอื่น ๆ อีกด้วย โดยสัดส่วนของเซ็กเมนต์ยาสีฟันระดับพรีเมี่ยมมูลค่าสูงเติบโตขึ้นตรงข้ามกับยาสีฟันระดับแมสหรือกลุ่มราคาประมาณ 199 เยน (ประมาณ 56 บาท) ต่อหลอด หรือต่ำกว่าที่ยอดขายลดลง ช่วยให้เม็ดเงินในตลาดยาสีฟันเติบโตถึง 20% ช่วงระหว่างปี 2553-2562

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่าการเติบโตนี้จะยังดำเนินต่อไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทสตาร์ตอัพในญี่ปุ่นยังคงเข็นนวัตกรรมเกี่ยวกับสุขภาพ รวมถึงสุขภาพในช่องปากออกมาสู่ตลาดอย่างไม่หยุดยั้ง โดยเฉพาะสินค้าด้านการจัดฟันซึ่งเป็นบริการสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายสูง เพราะระบบประกันสุขภาพไม่ครอบคลุม

ตัวอย่างเช่น การดัดฟันด้วยลวดจะมีค่าใช้จ่ายตั้งแต่ 6 แสน-1 ล้านเยน (1.68 แสน-2.8 ล้านบาท) ทำให้หลายบริษัทใช้ประเด็นนี้เป็นโอกาสรุกตลาด เช่น ดริฟส์ บริษัทสตาร์ตอัพในกรุงโตเกียว เปิดตัวอุปกรณ์จัดฟันที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ และโมเดลแบบบริการตนเองโดยที่ลูกค้าจะทำแบบพิมพ์ฟันที่บ้านด้วยอุปกรณ์ที่จัดให้และส่งกลับคืนมาที่บริษัท ส่วนบริษัทจะส่งอุปกรณ์จัดฟันไปให้ทุก 2 สัปดาห์ เป็นการช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดฟันเหลือประมาณ 3 แสนเยน (8.4 หมื่นบาท) หรือ 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายตามปกติเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ด้านนักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่า การที่บริการสุขภาพในญี่ปุ่นมีค่าใช้จ่ายสูงนี้เป็นช่องว่างสำหรับธุรกิจที่จะเข้ามานำเสนอนวัตกรรมที่ปลอดภัยและมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าปัจจุบัน ด้วยนวัตกรรมหลากหลายอย่างเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เครือข่ายออนไลน์ และอื่น ๆ

หลังจากนี้ไปต้องรอดูกันว่า ตลาดสินค้ารักษาสุขภาพในช่องปากของญี่ปุ่นจะคึกคักแค่ไหน และเทรนด์นี้จะเกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ ที่สังคมสูงวัยเริ่มขยายตัวด้วยหรือไม่