รัฐเปิดช่องกระจาย “วัคซีน” ต้อนโรงพยาบาลซื้อองค์การเภสัชโดสละ 1,000 บาท

Photo by AFP

เงื่อนไขใหม่องค์การเภสัชฯเล่นบทตัวกลาง ไฟเขียว รพ.เอกชนต่อคิวออร์เดอร์ซื้อไปฉีดให้ลูกค้า-พนักงาน ร่อนจดหมายถึงสมาชิกสภาอุตสาหกรรมฯ สำรวจความต้องการ เสนอขายโดสละ 1,000++ ด้านกลุ่ม รพ.เกษมราษฎร์ เร่งเจรจานำเข้า “ซิโนฟาร์ม-สปุคนิค” หลัง อย.ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาแล้ว ธุรกิจประกันภัยคึกคักยื่นขอแบบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิดเพียบ

หลังจาก 4 โรงพยาบาลใหญ่ “ธนบุรี-รามคำแหง-กรุงเทพ-เกษมราษฎร์” ได้ทยอยยื่นขอขึ้นทะเบียนเป็นบริษัทผู้นำเข้ายา ไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่จะเป็นประตูด่านแรกในการยื่นขออนุญาตขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 เพื่อรองรับความต้องการในประเทศที่มีเป็นจำนวนมากในขณะนี้ ตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ล่าสุด นอกจาก อย.จะได้ขึ้นทะเบียนการเป็นผู้นำเข้าให้กับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว ยังเพิ่มช่องทางการเข้าถึงวัคซีนของกลุ่มประชาชนที่ไม่ต้องการรอวัคซีนจากภาครัฐและพร้อมจะจ่ายเงินเอง

แนะเพิ่มตัวเลือกมากกว่า 1

นายแพทย์เอื้อชาติ กาญจนพิทักษ์ ประธานกรรมการ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลรามคำแหง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาจากการพูดคุยกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั้งในยุโรป อเมริกา จีน ทราบว่าบริษัทผู้ผลิตไม่พร้อมจะเปิดให้ผู้ประกอบการที่เอกชนเป็นผู้นำเข้าวัคซีน เนื่องจากขณะนี้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน และจะอนุญาตให้นำเข้าเฉพาะที่เจรจากับรัฐบาลเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็ว ๆ นี้ องค์การเภสัชฯในฐานะที่เป็นผู้ขอขึ้นทะเบียนวัคซีนซิโนแวค ได้มีการสอบถามและสำรวจความต้องการมายังกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน สภาอุตสาหกรรมฯ โดยเปิดให้จองวัคซีนของซิโนแวค จะมีค่าใช้จ่ายโดยประมาณโดสละ 1,000 บาท++ โดย 1 คนจะฉีด 2 โดส

“หากใครที่ไม่ต้องการรอวัคซีนของรัฐบาลและต้องการฉีดก็จะต้องไปรับการฉีดวัคซีนจากโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ซื้อวัคซีนต่อจากองค์การเภสัชฯไปให้บริการ เชื่อว่าตอนนี้เฉพาะในกรุงเทพฯ จะมีประชาชนที่มีความต้องการวัคซีนโควิคไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดส ช่องทางนี้แม้ว่าจะช่วยให้ประชาชนได้มีทางเลือก แต่รัฐบาลควรจะมีทางเลือกให้กับประชาชนมากกว่านี้ คือมีวัคซีนหลายยี่ห้อได้เลือกและตัดสินใจ”

สอดคล้องกับแหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ระบุว่า การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้เพิ่มช่องทางการกระจายวัคซีน ด้วยการเปิดให้โรงพยาบาลเอกชน และหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายวัคซีนไปยังประชาชนในกลุ่มที่มีความต้องการและพร้อมจะจ่าย ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยงานจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าฯ ต้องการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างด้าว โดยพร้อมออกค่าใช้จ่ายเอง

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ส.อ.ท.ได้ประสานกับองค์การเภสัชฯ เพื่อเตรียมพร้อมจัดหาวัคซีนสำหรับภาคเอกชน เบื้องต้นอยู่ระหว่างรวบรวมความต้องการฉีดวัคซีนของสมาชิก ส.อ.ท. เบื้องต้นคาดว่าจะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 โดส โดยราคาจำหน่ายรวมกับค่าฉีด โดสละ 1,000 บาท

BCH ทาบ “สปุคนิค-ซิโนฟาร์ม”

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท บางกอก เชน แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัทในเครือบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเข้ายาจาก อย.แล้ว และอยู่ระหว่างการเจรจากับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน 2 ราย เพื่อจะนำเอกสารเข้ามาจดทะเบียนและนำเข้าจาก อย. ประกอบด้วย ซิโนฟาร์ม ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายจากจีน และสปุคนิค ที่เป็น Adenovirus จากรัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ตัวนี้มีประสิทธิภาพในการป้องกันสูง และเบื้องต้นได้หารือกับบริษัทประกันที่เป็นพันธมิตรในการจะทำการตลาดร่วมกันเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้ารับการฉีด

“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการคุยกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน เพื่อเตรียมยื่นเอกสารมายื่นให้ อย.พิจารณาขึ้นทะเบียนและนำเข้า หากเอกสารครบ คาดว่า อย.พิจารณาได้ภายใน 30-90 วัน ตามที่แจ้งไว้” นายแพทย์เฉลิมย้ำ

ความต้องการฉีดมีมาก

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า โดยส่วนตัวมองว่าขณะนี้การฉีดวัคซีนในภาพรวมของประเทศมีความล่าช้ามาก และจากการสำรวจความต้องการของบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจต่าง ๆ พบว่ามีไม่ต่ำกว่า 10 ล้านโดส ซึ่งพร้อมจะจ่ายเงินเอง ตอนนี้เอกชน โรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรีเองก็ต้องไปต่อแถวซื้อจากองค์การเภสัชฯ หรือผู้ที่สามารถนำวัคซีนเข้ามาได้ ซึ่งตอนนี้ยังไม่แน่ใจว่าจะมีปริมาณที่เพียงพอหรือไม่

“ที่ผ่านมาแม้ทางการจะอนุญาตให้เอกชนนำเข้าวัคซีนได้ แต่ในทางปฏิบัติยังติดขัดและทำได้ยาก เนื่องจากบริษัทผู้ผลิตกำหนดเงื่อนไขว่า ในช่วงที่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินจะขายให้เฉพาะรัฐบาลเท่านั้น”

กรมธรรม์แพ้วัคซีนเพียบ

นายอาภากร ปานเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยแจ้งความประสงค์ยื่นขอแบบกรมธรรม์ประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 รวม 15 บริษัท และ คปภ.ได้อนุมัติแบบกรมธรรม์ไปแล้ว 8 บริษัท เริ่มมีการโปรโมตขายแล้ว 5-6 บริษัท อาทิ กรุงเทพประกันภัย, ทิพยประกันภัย, เมืองไทยประกันภัย, ไทยประกันภัย, วิริยะประกันภัย โดยความคุ้มครองจะมีลักษณะเดียวกันกับกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 อัตราเบี้ยประกันประมาณหลักร้อยถึงหลักพันบาทต่อปี บางบริษัทแถมฟรีสำหรับลูกค้าที่ต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19

ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ อนันตนาถรัตน กรรมการและประธานคณะผู้บริหาร บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่าประกันภัยแพ้วัคซีนโควิด-19 ยังไม่เกิดการซื้ออย่างแพร่หลาย เพราะการฉีดวัคซีนในประเทศยังมีการล่าช้าออกไปมาก เพราะฉะนั้น เมื่อความเสี่ยงยังไม่เกิด การซื้อประกันภัยจากความกังวลการแพ้วัคซีนจึงยังไม่เกิดขึ้น แต่คาดว่าตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นยอดขายทยอยเข้ามาได้ จากปัจจุบันมีลูกค้าเข้ามาซื้อไม่ถึงหลักพันราย

เช่นเดียวกับ นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่หลายแห่ง เพื่อเข้าไปให้ความคุ้มครองกรณีลูกค้ามีอาการแพ้จากการฉีดวัคซีน ซึ่งคาดว่าน่าจะเปิดตัวได้ช่วงหลังมีการนำเข้าวัคซีนของแต่ละโรงพยาบาลไปแล้ว โดยโรงพยาบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าเบี้ยประกันซึ่งรวมอยู่ในแพ็กเกจการฉีดวัคซีน

600 บริษัท เสนอหอดีลซื้อวัคซีน

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หอการค้าฯ ได้สำรวจความต้องการวัคซีนของสถานประกอบการ กว่า 600 บริษัท รวมจำนวน 750,000 คน ซึ่งคาดว่าจะมีความต้องการทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคน จากนี้จะนำผลสรุปไปหารือกับ อภ.ในการจัดหาวัคซีน เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประเทศภายใน 5-6 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะทำให้ GDP โต 3-4%