สธ.เปิดผลตรวจ ATK พบติดเชื้อโควิดทั่วประเทศ 6,026 คน

ชุดตรวจโควิด

สธ. กางผลตรวจ ATK ทั่วประเทศ พบติดเชื้อ 6,026 คน กทม.คงตัวเฉลี่ย 10% ต่อผู้ตรวจ 100 คน เร่งเพิ่มประสิทธิภาพล็อกดาวน์ 25% หวังกดตัวเลขลงเหลือ 1.2 หมื่นคน ชี้ยอดคนตาย 212 คน ส่วนใหญ่ไม่เคยรับวัคซีน

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในทั่วโลก ยังถือเป็นขาขึ้น สะท้อนจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันที่ทะลุ 6.6 แสนคน

ส่วนจำนวนเสียชีวิตรายใหม่มีประมาณ 9,923 คน คิดเป็น 2.12% โดยประเทศสหรัฐอเมริกามียอดการเสียชีวิตค่อนข้างสูง จากการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ด้านประเทศอื่น ๆ เมื่อเจอเดลต้าก็มีแนวโน้มสูงเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ต้องเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิดว่า การฉีดวัคซีนมากกว่า 50% ในประชากรกลุ่มประเทศยุโรป จะช่วยลดตัวเลขการติดเชื้อ และอัตราการเสียชีวิตได้มากขนาดไหน ซึ่งแนวโน้มฝรั่งเศสก็เริ่มลดลง ทั้งนี้ ทั่วโลกฉีดวัคซีนไปแล้ว 4,320 ล้านโดส

สำหรับประเทศไทยในวันนี้ (7 ส.ค.) มียอดผู้ป่วยใหม่สูงถึง 21,839 คน แต่ข่าวดีคือยอดผู้หายป่วยและกลับบ้านก็มีมากถึง 21,108 คน สูงเกือบเท่าจำนวนผู้ป่วยใหม่ ซึ่งหากกดตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลงมากกว่านี้ จะทำให้มีการหมุนเวียนเตียงเร็วขึ้น เพื่อช่วยให้คนเข้าถึงการรักษาภายใน รพ.ได้มากขึ้น

ขณะที่ผลตรวจจากการเริ่มใช้ ATK (Antigen test kit) พบผู้ติดเชื้อทั่วประเทศที่ 6,026 คน โดย กทม. มีการติดเชื้อเริ่มคงตัว เฉลี่ยพบผลบวก 10% หรือ 10 คน ต่อผู้ตรวจ 100 ราย ผ่านการตรวจ ATK

 

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ และเปอร์เซ็นต์ติดเชื้อลดลงก็จะเป็นสัญญาณที่ดีว่า การฉีดวัคซีนเริ่มมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดการติดเชื้อจากครอบครัวหนึ่งไปสู่ครอบครัวหนึ่ง หรือลดการติดเชื้อในบ้านได้มาก

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อัตราการเสียชีวิตในไทยยังสูงประมาณ 212 คน แบ่งเป็น กรุงเทพฯ 99 ราย ปริมณฑล 46 ราย ภาคใต้ 18 ราย ภาคอีสาน 13 ราย ภาคเหนือ 11 ราย และภาคกลาง ภาคตะวันออก 25 ราย

ในจำนวนนี้เป็นคนไทย 207 ราย นอกนั้นเป็นชาวต่างชาติ ได้แก่ เมียนมา จีน อินเดีย เป็นชาย 116 ราย หญิง 96 ราย

ทั้งนี้ ในจำนวน 212 ราย เป็นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 67% ส่วนอายุน้อยกว่า 60 ปีมีอยู่ 32% โดยในจำนวนนี้เป็นคนที่มีโรคเรื้อรัง 55 รายหรือ 26% ไม่มีประวัติโรคเรื้อรัง 14 ราย หรือ 6% ตั้งครรภ์ 2 รายหรือ 1%

ซึ่งก็หมายความว่า คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปและมีโรคเรื้อรังรวม 2 กลุ่มนี้มี 93% ซึ่งคนเสียชีวิตส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดมีโอกาสป้องกันโรคได้ด้วยการฉีดวัคซีน

โดยการฉีดวัคซีนจะลดความรุนแรง อาการหนักของโรคได้ จึงจำเป็นต้องได้รับวัคซีนก่อน รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปก็ควรได้รับวัคซีนก่อนเช่นกัน

นพ.จักรรัฐ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มผู้เสียชีวิตจำนวน 212 ราย มี 172 รายไม่เคยได้รับวัคซีนเลย แสดงว่ากลุ่มใหญ่อย่างผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ได้รับวัคซีนคิดเป็น 89.58%

ส่วนผู้เสียชีวิตอีกกลุ่ม คือ คนที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม 19 ราย คิดเป็น 9.90% ได้แก่ แอสตร้าเซนเนก้า และซิโนฟาร์ม แต่วัคซีน 1 เข็มต้องรอ 14 วันอย่างน้อยจึงจะมีภูมิคุ้มกันขึ้นบ้าง ต้องรอให้ครบ 2 เข็มจึงจะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีผู้รับวัคซีน 2 เข็ม (ซิโนแวค) เสียชีวิต 1 ราย

โดยสรุปหากกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว คือ 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และอีก 2 กลุ่มคือ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ได้รับวัคซีนก่อนจะป้องกันการเสียชีวิตได้มาก

สำหรับตัวเลขคาดการณ์จากโมเดลการติดเชื้อและเสียชีวิตจากโควิด หากเราเริ่มล็อกดาวน์เมื่อวันที่ 20 ก.ค.-31 ส.ค. ประมาณ 1 เดือนกว่า มีประสิทธิภาพ 20%

และอีกตัวเลขคาดการณ์ล็อกดาวน์มีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน ประกอบกับเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุถึงเป้าหมายใน 1-2 เดือนก็จะช่วยให้ผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงเหลือ 12,000 ราย

ขณะที่สถานการณ์จริงที่เราเจอติดเชื้อประมาณ 2 หมื่นราย แสดงว่าสถานการณ์ล็อกดาวน์เรามีประสิทธิภาพตรง 20% ดังนั้น การเร่งฉีดวัคซีนตอนนี้ยังไม่ออกผล จนกว่าจะฉีดจนครบถ้วนได้มากกว่านี้

ดังนั้น เราต้องปรับให้ได้ประสิทธิภาพ 25% มากที่สุด เพื่อลดความรุนแรงของโรคให้ได้ที่สุด โดยขณะนี้ สธ.ร่วมกับหลายหน่วยงาน คือ การค้นหาผู้ติดเชื้อด้วย ATK และต้องมีทีม CCR ในการลงไปดูแลผู้ป่วยที่บ้าน และการเดินทางไปรักษาที่บ้าน ที่ภูมิลำเนา ต้องมีศูนย์พักคอยคอยจัดการระบบเตียงปลายทางให้ชัดเจนขึ้น