ลอดช่องประมูล ATK สุญญากาศอำนาจ สปสช.-สธ.

 

ถึงนาทีนี้ หากไม่มีอะไรพลิกล็อก องค์การเภสัชกรรมคงใกล้จะได้ฤกษ์จดปากกาลงนามในการเซ็นสัญญากับ บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด ผู้ชนะการประมูลแอนติเจนเทสต์คิต หรือเอทีเค ในราคาที่ต่ำสุด 70 บาท จำนวน 8.5 ล้านชิ้น มูลค่ากว่า 1,014 ล้านบาทในเร็ววันนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาชมรมแพทย์ชนบทจะได้ออกมาทักท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าผ่านแถลงการณ์ของชมรมในหลาย ๆ เรื่อง โดยเฉพาะคุณภาพและราคาที่ถูกต้องในคำถามอย่างหนัก

สิ่งดังกล่าวสะท้อนจากความเคลื่อนไหวของการแท็กทีมแถลงข่าวเมื่อวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมาของ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.), นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) และ นายแพทย์มงคล คุณากร หัวหน้าภาควิชาพยาธิวิทยาคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

เพื่อเป็นการยืนยันว่า การจัดซื้อชุดตรวจโควิด 8.5 ล้านชุดดังกล่าวถูกต้องตามขั้นตอน

จากก่อนหน้านี้ (12 สิงหาคม) ที่นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และในฐานะประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม สั่งชะลอการทำสัญญาซื้อชุดตรวจเจ้าปัญหาครั้งนี้ออกไปก่อน หลังจากมีบางหน่วยงานมีความห่วงใยและไม่มั่นใจในคุณภาพของชุดตรวจ และให้องค์การเภสัชกรรมและ อย.จะเร่งตรวจสอบข้อมูลคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป

อย่างไรก็ตาม ระหว่างไทม์ไลน์ที่เกิดขึ้น อีกด้านหนึ่งก็มีความเคลื่อนไหวของ อย.ร่วมกับ อภ.ตั้งโต๊ะแถลงข่าวผ่านระบบออนไลน์ในช่วงเช้าวันที่ 13 สิงหาคม ขณะที่เลขาฯ อย. และรองเลขาฯ อย.ได้ข้อมูลเรื่องการพิจารณาอนุญาตชุดตรวจ ATK ว่า การดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมเน้นย้ำถึงการประมูลที่มีความโปร่งใส

และได้บริษัทที่เสนอราคาต่ำสุด พร้อมย้ำด้วยว่าเป็นราคาต่ำกว่าวงเงินที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบฯได้กว่า 400 ล้านบาท ชุดตรวจนี้มีราคาเพียง 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์นี้มีผู้ผลิต คือ บริษัท Beijing Lepu Medical Technology ของจีน เป็นชุดตรวจได้รับมาตรฐาน CE มาตรฐานยุโรป และยังได้รับการขึ้นทะเบียนหลากหลายประเทศ

ช่วงเย็นวันเดียวกัน เป็นคิวของนางศิริญา เทพเจริญ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) และ น.ส.รังสินีหวังมั่น Product Specialist บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด

หรืออีกนัยหนึ่งกลุ่มผู้ชนะการประมูล ร่วมกันจัดแถลงข่าว ชี้แจงผ่านระบบ zoom ถึงที่มาที่ไปของการเข้าร่วมประมูล รวมถึงกรณีถูกคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐเรียกคืนชุดตรวจ Lepu ในสหรัฐ

พร้อมกับย้ำว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีวางจำหน่ายในหลายประเทศ ทั้งเยอรมนี ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ อาร์เจนตินา ฮ่องกง ญี่ปุ่น ยูเครน เนเธอร์แลนด์

อีกด้านหนึ่งหลังการประชุมอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นการประชุมผ่านออนไลน์นานกว่า 3 ชั่วโมง มีข้อสรุปว่าคณะอนุกรรมการไม่มีอำนาจหน้าที่ในการยกเลิกการจัดซื้อ

ตามด้วยการแถลงของ นางศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (15 สิงหาคม) ที่ระบุว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดตามโครงการพิเศษของ สปสช.อย่างเร่งด่วนนั้น องค์การเภสัชกรรมได้ดำเนินการจัดซื้อตามเนื้อหาหลักของ TOR ที่ สปสช.กำหนดมา และย้ำว่า TOR ล่าสุดไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นมาตรฐาน WHO และการจัดซื้อครั้งนี้เป็นไปตามข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ. 2561

ล่าสุดชมรมแพทย์ชนบทได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 3 (17 สิงหาคม) โดยส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า การยกทีมแถลงข่าว (16 สิงหาคม) ยืนยันการจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัท ออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ Lepu โดยที่มีข้อกังขาถึงคุณภาพและความแม่นยำ สะท้อนชัดว่าการประมูลครั้งนี้ไม่ธรรมดา โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ยกทุกองคาพยพมาแถลงข่าวเพื่อยืนยันการจัดซื้อต่อไปว่าถูกต้องตามขั้นตอน

แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุด้วยว่า การทำถูกต้องตามขั้นตอนไม่ได้แปลว่าจะได้ของดีมีคุณภาพที่ราคาเหมาะสมเสมอไป อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือได้สินค้าที่คุณภาพไม่ดีพอกับสถานการณ์วิกฤตมาใช้ก็เป็นได้

ชมรมแพทย์ชนบทเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขยังไม่พยายามปกป้องภาษีประชาชนอย่างเต็มกำลัง อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่องค์กรรัฐ แต่อำนาจการตรวจสอบหลังการจัดซื้ออยู่ที่พวกเราภาคประชาชน

ดังนั้น ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้ปฏิบัติการบุกกรุงทั้ง 3 ครั้ง ได้ออกแบบปฏิบัติการครั้งที่ 4 จะระดมทีมปฏิบัติการ 60 ทีมในทุกภาค เพื่อตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ โดยจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ หากผลการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ เพื่อปกป้องประชาชน ให้คนไทยได้รับชุดตรวจที่มีมาตรฐานสูง ทำไมคนไทยจะได้รับชุดตรวจ ATK หรือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้

นี่คือคำยืนยันของชมรมแพทย์ชนบท

ขณะที่ นายเกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า เชื่อว่าไม่ช้าก็เร็ว อภ.คงจะเซ็นสัญญาซื้อชุดตรวจกับบริษัทออสท์แลนด์ฯตามแผนของ สปสช. การใช้งบฯกว่า 1,000 ล้านบาทเพื่อซื้อชุดตรวจ ATK 8.5 ล้านชุดจะถูกกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ

ผ่านโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจำนวนกว่า 1 หมื่นแห่ง เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายใช้ตรวจด้วยตนเอง

แต่เนื่องจากชุดตรวจของ Lepu ยังเป็นที่กังขาในเรื่องคุณภาพ จึงคาดว่าโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่ง และแพทย์หลาย ๆ ท่าน คงไม่กล้าใช้กับคนไข้ เพราะไม่มั่นใจในคุณภาพความแม่นยำ

และในทางปฏิบัติชุดตรวจ ATK ที่โรงพยาบาลซื้อใช้เองส่วนใหญ่ก็จะเน้นเรื่องคุณภาพ และใช้อยู่เพียง 2-3 ยี่ห้อเท่านั้น ซึ่ง WHO รับรอง

ส่วนประชาชนหรือคนทั่ว ๆ ไปก็อาจจะใช้เพราะไม่รู้ข้อเท็จจริงและได้รับแจก ตรงนี้เราก็จะต้องให้ความรู้ในเชิงวิชาการที่พอจะทำได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงและกังวลในขณะนี้ก็คือ การใช้ชุดตรวจที่ไม่มีคุณภาพจะทำให้ผลที่ได้รับคลาดเคลื่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้การคัดกรองผู้ป่วยเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษามีความยากลำบากและใช้เวลาแล้ว

อีกด้านหนึ่งจะทำให้ผู้ป่วยคนดังกล่าวมีโอกาสไปแพร่เชื้อต่อไปยังคนอื่น ๆ ได้มากขึ้น และจะทำให้การแก้ปัญหาโควิดไม่รู้จักจบจักสิ้น

เรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า นอกจากจะเสียงบประมาณจำนวนมากโดยใช่เหตุแล้ว อีกด้านจะทำให้การแก้ปัญหาโควิด-19 ไม่จบลงง่าย ๆไม่ต่างจากกรณีวัคซีนเลยทีเดียว