เซ็นทรัล-คิงเพาเวอร์บุกสยามสแควร์ สมรภูมิเดือด พารากอนยกเครื่องสู้

แนวรบศูนย์การค้า “สยามสแควร์-สี่แยกปทุมวัน” ร้อนฉ่า เซ็นทรัลพัฒนา ยึดทำเลทองโรงหนังสกาลา 7 ไร่ เปิดคอมมิวนิตี้มอลล์ มั่นใจกำลังซื้อมหาศาล ขณะที่ “คิง เพาเวอร์” จ่อเปิดสโตร์เสียบแทนฮาร์ดร็อค คาเฟ่ ด้าน “สยามพารากอน-สยามเซ็นเตอร์-ดิสคัฟเวอรี่” ประกาศรีโนเวตใหญ่ปีหน้า

การรุกคืบเข้ามาของเซ็นทรัลพัฒนา หรือซีพีเอ็น ด้วยการคว้าการประมูลที่ดินแปลงงามย่านสยามสแควร์ ที่เป็นทำเลทองการค้า-ธุรกิจ บนพื้นที่บริเวณ Block A หรืออาคารย่านโรงหนังสกาลาเดิม พื้นที่ 7 ไร่ 31 ตารางวาของสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นระยะเวลา 30 ปี ด้วยค่าตอบแทนเป็นเม็ดเงินมากกว่า 5,900 ล้านบาท พร้อมแผนการเปิดศูนย์การค้าใหม่ในรูปของคอมมิวนิตี้มอลล์ สร้างแรงกระเพื่อมให้การแข่งขันของศูนย์การค้าในย่านดังกล่าวที่ร้อนแรงอยู่แล้วทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น

รายงานข่าวจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ให้ข้อมูลเรื่องนี้ว่า สํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาฯ จะส่งมอบพื้นที่ให้ในต้นปี 2565 และบริษัทจะเดินหน้าโครงการทันทีหลัก ๆ จะเป็นการรีโนเวตโครงสร้างเดิมให้เป็นศูนย์การค้าขนาดเล็กในลักษณะของคอมมิวนิตี้มอลล์ เป็นการเติมเต็มให้สยามสแควร์เป็นช็อปปิ้งสตรีต คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปีเศษ และเปิดให้บริการได้ในปี 2566 เจาะกลุ่มนักศึกษาและคนทำงาน

สยามสแควร์กำลังซื้อมหาศาล

แหล่งข่าวจากบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ซีพีเอ็นสนใจพื้นที่ Block A ดังกล่าว เนื่องจากมองเห็นศักยภาพของกำลังซื้อจากประชากรภาคกลางวัน (กลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน) ในย่านที่มีกว่า 5 แสนคนประกอบกับพื้นที่โดยรอบมีสถานที่ราชการ อาคารสำนักงาน โรงแรม มหาวิทยาลัย จุดต่อรถ-การเดินทางคมนาคม ฯลฯ ถือเป็นทำเลทองสำหรับศูนย์การค้า ซึ่งตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของซีพีเอ็นที่ต้องการขยายโครงการมิกซ์ยูสเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับการสร้างแม็กเนตใหม่ของเซ็นทรัลในครั้งนี้จะต้องเน้นสร้างเอกลักษณ์ ฉีกความแตกต่างในการดึงประชากรกลุ่มเป้าหมายในย่าน เพื่อให้ศูนย์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นสามารถเรียกลูกค้าเข้ามาใช้บริการแตกต่างจากที่อื่นให้ได้ ในการเจาะกลุ่มเป้าหมายเพื่อดึงลูกค้าในอนาคต คาดว่าการเข้ามาของเซ็นทรัลในย่านนี้ จะทำให้ศูนย์การค้าหลาย ๆ แห่งเริ่มมีแผนการรีโนเวตเพื่อสร้างความแปลกใหม่เพิ่มเติม รองรับการแข่งขัน และดึงลูกค้ามากขึ้น

“โจทย์ทุกวันนี้ของการทำศูนย์การค้าคือ ไม่มีคำว่าเกินความต้องการ มีเพียงแค่ว่าไม่พอ หรือมีอยู่แล้ว แต่ไม่ตอบโจทย์มากกว่า เพราะศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ตอนนี้มีทั้งศูนย์ที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการเต็มตลอดทั้งวัน และศูนย์ที่แม้จะอยู่ติดกันแต่ยังเงียบเหงา โจทย์ใหญ่ก็คือ จะทำอย่างไรในการสร้างเอกลักษณ์เพื่อเรียกลูกค้าให้สำเร็จ”

“คิง เพาเวอร์” เล็งบุกเปิดสโตร์

แหล่งข่าวจากสํานักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า นอกจากพื้นที่บริเวณ Block A ดังกล่าวแล้ว ขณะนี้ยังมีพื้นที่บริเวณร้านฮาร์ดร็อค คาเฟ่ เป็นอาคาร 3 ชั้น (สยามสแควร์ ซอย 7) ที่เพิ่งหมดสัญญาไปช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

สำนักงานทรัพย์สินฯมีแผนจะดึงกลับมาบริหารเอง ขณะนี้ได้มีการรีโนเวตอาคารดังกล่าวใหม่ เพื่อปรับให้เป็นพื้นที่รีเทลสำหรับเช่า เบื้องต้นมีแบรนด์ชั้นนำหลายกลุ่มที่สนใจและต้องการจะเข้ามาเปิดสโตร์ เช่น กลุ่ม King Power, ร้าน Fire Tiger Bar & Restaurant และร้าน EBOMB Egg Sandwiches & Fries เป็นต้น คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปลายปี 2564 หรือต้นปี 2565

“พื้นที่ดังกล่าวจะเป็นกึ่ง ๆ ศูนย์การค้าที่มีแบรนด์ต่าง ๆ มาเปิดสโตร์อยู่ภายใน โดยรูปแบบของแต่ละร้านจะเป็น concept store ที่ออกแบบมาเฉพาะสำหรับศูนย์โดยไม่เหมือนใคร เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างในการดึงลูกค้า”

เตรียมรีโนเวตสยามพารากอน

แหล่งข่าวจากบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด เปิดเผยว่า ได้เตรียมแผนงานปรับเปลี่ยนทุกศูนย์การค้า ไม่ว่าจะเป็น สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เพื่อสนองตอบพฤติกรรมของลูกค้าที่ปรับเปลี่ยนไป หลังจากประสบกับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ได้เตรียมทยอยแถลงข่าวความคืบหน้าของแต่ละศูนย์การค้าตั้งแต่เดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยเชื่อมั่นว่าการรีโนเวตสยามพารากอนครั้งยิ่งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า และตึกอื่น ๆ โดยรอบจะสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ประชาชนคนไทยได้เป็นอย่างดี และจะสามารถกระตุ้นภาวะเศรษฐกิจย่านนี้ให้กลับมาคึกคักมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

“สยามพิวรรธน์เป็นผู้บุกเบิกและสร้างย่านสยามมาเป็นเวลากว่า 60 ปี บนพื้นที่กว่า 1,060,000 ตารางเมตร ครอบคลุมทั้งสยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ และสยามดิสคัฟเวอรี่ เราได้พัฒนาให้ย่านสยามเติบโตจนเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ทางธุรกิจของประเทศไทย ตอบเทรนด์และความต้องการของลูกค้าอย่างมีสีสันทันต่อยุคสมัยมาตลอดเวลาจนปัจจุบัน การที่มีผู้ลงทุนใหม่เข้ามาพัฒนาพื้นที่สยามสแควร์เพิ่มเติมจึงเป็นเรื่องที่ดี สยามพิวรรธน์มีความยินดีอย่างยิ่ง เพื่อจะได้มาช่วยกันเติมสีสันให้ย่านสยามคึกคักยิ่งขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวในที่สุด

นายสมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า การเปิดคอมมิวนิตี้มอลล์ของซีพีเอ็นดังกล่าวจะทำให้การแข่งขันของศูนย์การค้าในย่านสยามสแควร์ และสี่แยกปทุมวัน มีความคึกคักมากขึ้น และเป็นการเติมเต็มภาพค้าปลีกในย่านนี้ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น อีกด้านหนึ่งจะเป็นการยกระดับการแข่งขันของแหล่งช็อปปิ้งในย่านสยามสแควร์ไปอีกขั้น และจะช่วยดึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายใหม่ ๆ เข้ามามากขึ้น จากเดิมที่มีเอ็มบีเค สยามสแควร์วัน สยามพารากอน สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ ขณะที่สินค้าและบริการก็จะมีความครบครันมากขึ้น

“ด้วยขนาดของพื้นที่กว่า 10,000 ตร.ม. และมีมูลค่าเกือบ ๆ 6,000 ล้านบาท เชื่อว่าซีพีเอ็นจะต้องมีอะไรที่มากกว่าความเป็นคอมมิวนิตี้มอลล์ เพื่อทำให้เป็นแลนด์มาร์กที่สามารถดึงลูกค้ากลุ่มครอบครัว วัยผู้ใหญ่ได้มากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มลูกค้าหลักในย่านสยามสแควร์เป็นกลุ่มต่างชาติ วัยรุ่น วัยทำงาน”

ปูพรมลงทุนมิกซ์ยูสต่อเนื่อง

ก่อนหน้านี้ นางสาววัลยา จิราธิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น ระบุว่า จากนี้ไปซีพีเอ็นจะยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการแบบมิกซ์ยูสมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค โดยในแต่ละพื้นที่จะมีมิกซ์ที่แตกต่างกันไป จากนี้ไปการพัฒนาแค่ศูนย์การค้าคงไม่พอ แต่จะต้องทำเป็นโครงการมิกซ์ยูส มีโรงแรม มีที่พัก มีคอนเวนชั่นฮอลล์ มีตึกออฟฟิศให้เช่า บางที่ก็จะมีส่วนของพื้นที่สีเขียวเอาต์ดอร์ สปอร์ตคลับ ฯลฯ เพื่อสร้างความน่าสนใจ และสอดคล้องกับการเป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตของผู้คนในทุกจังหวัด

ขณะนี้ซีพีเอ็นอยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการใหม่ ซึ่งเป็นมิกซ์ยูสทั้งหมด ภายใต้งบฯการลงทุนประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา ศรีราชา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีจีดีพีต่อประชากรสูง เป็นเมืองอุตสาหกรรม new S-curve เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต และจะเป็น MICE hub ของ EEC center จะเปิดปลายเดือนตุลาคมนี้, เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ซึ่งเป็นทำเลยุทธศาสตร์ของภาคกลางตอนบน ครอบคลุมจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี คาดว่าจะเปิดปลายเดือนพฤศจิกายนนี้ และเซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ที่มีกำลังซื้อที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะเปิดในช่วงกลางปี 2565

รวมทั้งมีการปรับโฉมศูนย์การค้า 2 แห่ง ได้แก่ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 2 และรามอินทรา เพื่อรับกับกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น จากการขยายตัวของเมือง และระบบขนส่งมวลชนที่ขยายตัวไปยังพื้นที่กรุงเทพฯชั้นนอกมากขึ้น รวมถึงการรีโนเวตและขยายพื้นที่ของศูนย์การค้าอีก 12 ศูนย์ทั่วประเทศ อาทิ เซ็นทรัลพลาซา พระราม 9, เซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัลพลาซา บางนา, เซ็นทรัลพลาซา แจ้งวัฒนะ, เซ็นทรัลพลาซา ขอนแก่น, เซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, เซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ท เป็นต้น จากปัจจุบันซีพีเอ็นมีศูนย์การค้าทั้งหมด 34 แห่ง และมีศูนย์ที่เป็นโครงการมิกซ์ยูสประมาณ 10 แห่ง

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาซีพีเอ็นยังลงทุนร่วมกับกลุ่มดุสิต ภายใต้โครงการมิกซ์ยูส Dusit Central Park ที่มีแผนจะใช้งบฯลงทุนอีก 36,700 ล้านบาท และคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2567 รวมทั้งมีแผนจะลงทุนโครงการใหม่ย่านพระราม 9 ที่เป็นซีบีดีใหม่

ลงทุนเพิ่มพอร์ตคอมมิวนิตี้มอลล์

แหล่งข่าวจากวงการพัฒนาสังหาริมทรัพย์เปิดเผยว่า นอกจากการให้น้ำหนักกับโครงการมิกซ์ยูสมากขึ้นแล้ว อีกด้านหนึ่งซีพีเอ็นยังต้องการจะขยายพอร์ตออกมายังคอมมิวนิตี้มอลล์ด้วย สะท้อนจากการทยอยลงทุนเพื่อซื้อหุ้น เอสเอฟ (สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์) จากกลุ่มเมเจอร์ ซึ่งล่าสุด (30 สิงหาคม) มีสัดส่วนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 56.26% ได้เตรียมเงินลงทุนอีกกว่า 1.1 หมื่นล้านบาท เพื่อทำ tender offer หุ้นที่เหลืออีกกว่า 43% เท่ากับว่าซีพีเอ็นจะมีคอมมิวนิตี้มอลล์ 17-18 แห่ง

นอกจากนี้ ยังมีที่ดินอีกจำนวนหนึ่งที่จะสามารถนำมาพัฒนาโครงการมิกซ์ยูสในอนาคตได้ เช่น ที่ดินประมาณ 50 ไร่ ในบริเวณศูนย์การค้าเมกาบางนา ที่รอการพัฒนา ที่ดินย่านบางใหญ่ ใกล้ ๆ กับเซ็นทรัล เวสต์เกต 50 ไร่ และที่ดินในย่านรังสิต อีกประมาณ 200 ไร่