ยอดจองไฟเซอร์กลุ่มเด็กทะลุ 3.6 ล้านโดส สธ. แจง ด.ช.12 ปี ดับไม่เกี่ยววัคซีน

REUTERS/Dado Ruvic/Illustration//File Photo/File Photo

สธ. เปิดยอดความต้องการไฟเซอร์กลุ่มนักเรียนพุ่ง 3.6 ล้านโดส ชี้ลอตแรกเข้า 2 ล้านโดส ทยอยกระจายจังหวัดละร้อยละ 50 ก่อนจัดสรรครบ ต.ค.นี้ กรณีเด็ก 12 ปี เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน เบื้องต้นผลออกมาไม่เกี่ยววัคซีน

วันที่ 1 ตุลาคม 2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมสำหรับการฉีดวัคซีนโควิดในกลุ่มเด็ก โดยจะเริ่มนำร่องครั้งแรก 4 ต.ค. นี้ และจะมีระบบติดตามหลังฉีดวัคซีนโควิด เบื้องต้น สธ. ได้ทำหนังสือแจงเนื้อหาไปยังหน่วยบริการต่าง ๆ แล้ว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนชนิด mRNA ที่ใช้ฉีดในกลุ่มเด็กอายุ 12-17 ปี อาจทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ในอัตราต่ำ ส่วนมากจะมีอาการแน่นหน้าอก หอบเหนื่อยง่าย ใจสั่น หมดสติ เป็นลม อ่อนเพลีย หลังฉีดจึงต้องสังเกตอาการ 30 นาที และภายใน 7 วันยังไม่แนะนำการออกกำลังกายอย่างหนัก ซึ่งทั้งนี้ยังคงต้องติดตามอาการต่อไปอีก 1 เดือน


เบื้องต้น จากการรวบรวมรายชื่อนักเรียน ได้มีการแสดงความจำนงเข้ารับวัคซีนไฟเซอร์กว่า 3,618,000 ราย หรือคิดเป็น 71% 

ทั้งนี้ จ.ภูเก็ต ส่งรายชื่อนักเรียนมา 33,330 คน คิดเป็น 100% ปัจจัยหลักมาจากการเป็นพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ส่วนกรุงเทพฯ มีนักเรียนมากสุด 4.2 แสนคน แจ้งเข้ามา 3.5 แสนราย คิดเป็น 85% 

ขณะที่จังหวัดที่มีจำนวนนักเรียนสูงกว่า 100,000 คน เช่น จ.นครศรีธรรมราช มีนักเรียน 1.03 แสนราย แจ้งเข้ามา 8.8 หมื่นราย คิดเป็น 85% จ.นครราชสีมา มีนักเรียน 176,000 ราย แจ้งเข้ามา 144,000 ราย คิดเป็น 81% เป็นต้น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากวัคซีนลอตแรกจะเข้ามา 2 ล้านโดส ขณะที่ยอดความต้องการมีสูงถึง 3.6 ล้านคน ดังนั้น สธ. จะกระจายให้ทุก ๆ จังหวัดอย่างเหมาะสม โดยอาจจะได้ประมาณร้อยละ 50 ในทุกจังหวัด แต่ต้องคำนึงถึงความพร้อมแต่ละพื้นที่ด้วย หากยังไม่ฉีดในวันที่ 4 ต.ค. จะได้สัดส่วนที่น้อยไปก่อน เพราะแต่ละพื้นที่คงไม่ได้วัคซีนครบจบในครั้งเดียว แต่จะกระจายให้ครบทั่วถึงในเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมอีก 8 ล้านโดส

ส่วนกรณีเด็กชายอายุ 12 ปี ในเขต กทม. ป่วยเป็นโรคเบาหวานแต่กำเนิด และต้องฉีดอินซูลิน 3 เวลาทุกวัน เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์นั้น สรุปแล้วว่าไม่ได้เกิดขึ้นจากวัคซีน 

สำหรับไทม์ไลน์ของเด็กชายนั้น 14 ก.ค. รับวัคซีนไฟเซอร์เข็มแรก ต่อมา 12 ส.ค. เริ่มมีอาการผิดปกติ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน รับประทานอาหารได้น้อย แต่ไม่มีอาการมือสั่น ใจสั่น ไม่มีไข้ ไม่เจ็บหน้าอก ไม่เหนื่อยง่าย ซึ่งระยะห่างจากการฉีดวัคซีนมา 3 สัปดาห์ และ 13 ส.ค. เสียชีวิต ส่วน 14 ส.ค. จากการตรวจชิ้นเนื้อ สาเหตุการเสียชีวิต ไม่พบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่พบว่ามีระดับสารน้ำในลูกตาสูงมาก จึงไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด