“เป๊ปซี่-โค้ก” คาดปี’65 ท้าทาย จ่อขึ้นราคา-หันจับกระแสสุขภาพ

คอลัมน์ : Market-Move

สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย และหลายประเทศทยอยลดหรือยกเลิกมาตรการควบคุมโรคที่ใช้มานานกว่า 2 ปี แต่สำหรับวงการธุรกิจแล้วดูเหมือนว่าปี 2565 นี้ยังเต็มไปด้วยความท้าทาย

โดย 2 ยักษ์น้ำดำอย่างโคคา-โคลาและเป๊ปซี่ ต่างคาดการณ์ไปในทางเดียวกันว่า ตลอดทั้งปี 2565 นี้รายได้และผลกำไรจะถูกกระทบจากปัจจัยเงินเฟ้อและปัญหาห่วงโซ่อุปทานอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 จะสะท้อนการฟื้นตัวของตลาดเครื่องดื่มและน้ำอัดลมก็ตาม

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการเปิดเผยผลประกอบการไตรมาส 4 ของโคคา-โคลาและเป๊ปซี่ซึ่งออกมาเหนือความคาดหมายของนักวิเคราะห์ แต่มาพร้อมกับความกังวลต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปีนี้

โดย โคคา-โคลา คาดว่าต้นทุนสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากภาวะเงินเฟ้อจะทำให้ต่อต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นในระดับเลขหนึ่งหลักกลาง ๆ ทำให้ผลประกอบการปี 2565 รายได้แบบออร์แกนิกหรือรายได้ที่ไม่รวมผลของการซื้อขายกิจการจะเติบโตประมาณ 7-8%

แม้ช่วงปลายปีที่แล้วกระแสการบริโภคน้ำอัดลมและเครื่องดื่มอื่น ๆ นอกบ้านไม่เพียงแค่ฟื้นตัวกลับมา แต่ดีมานด์ยังพุ่งสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 และช่วยให้ผลประกอบการไตรมาส 4 ปี 2564 เติบโตดีเกินกว่าที่นักวิเคราะห์คาด

ด้วยยอดขายสุทธิเพิ่มขึ้น 10% เป็น 9.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หักปากกาของบรรดานักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะมียอดขาย 8.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่รายได้สุทธิเพิ่มจาก 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 2.41 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 พันล้าน

“เจมส์ ควินซี” ซีอีโอของโคคา-โคลาทวีปอเมริกาเหนือคาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนจะส่งผลต่อตลาดรวมน้อยลงเรื่อย ๆ

ไปในทิศทางเดียวกับคู่แข่งอย่างเป๊ปซี่ที่คาดว่า ปี 2565 นี้ต้นทุนค่าบรรจุภัณฑ์และค่าขนส่งจะส่งผลกระทบกับผลกำไรของบริษัท พร้อมระบุว่า หลังจากนี้อาจจำเป็นต้องปรับขึ้นราคาสินค้าหลายรายการอีก แม้ที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับขึ้นราคาสินค้าบางรายการไปแล้วก็ตาม

เนื่องจากธุรกิจทั้งฝั่งฟริตโต-เลย์ผู้ผลิตขนมขบเคี้ยวต้องเผชิญกับต้นทุนค่าน้ำมันพืชสำหรับทอดวัตถุดิบและบรรจุภัณฑ์ ส่วนเครื่องดื่มต้องเจอกับค่าขนส่งและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง “ฮิว จอนสตัน” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของเป๊ปซี่โค

ระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้คาดหมายได้ว่าเป๊ปซี่จะต้องปรับขึ้นราคาสินค้าอีกครั้ง โดยคาดว่าจากปัจจัยเหล่านี้จะทำให้รายได้แบบออร์แกนิกในปี 2565 จะเติบโต 6%

ทั้งนี้ไตรมาส 4 ของปี 2564 ที่ผ่านมาเป๊ปซี่มีรายได้สุทธิ 1.32 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่มีรายได้ 1.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยฟริตโต-เลย์ เติบโต 13%

ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มโตในตลาดทวีปอเมริกาเหนือ 12% ในขณะที่รายได้จากตลาดต่างประเทศเติบโตดี นำโดยภูมิภาคละตินอเมริกาซึ่งเติบโตถึง 17% ส่วนไทย จีน อินเดีย โตระดับเลขสองหลัก

ขณะเดียวกันรายงานผลประกอบการนี้ยังสะท้อนถึงเทรนด์ความนิยมเครื่องดื่มสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์จากนม น้ำผลไม้ น้ำอัดลมไร้น้ำตาล เครื่องดื่มเกลือแร่ ชา รวมไปจนถึงเครื่องดื่มเสริมอาหารและเครื่องดื่มผลิตจากพืชอื่น ๆ ต่างมีการเติบโตสูงระดับเลขสองหลัก

นำโดยเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีการเติบโตด้านปริมาณสูงสุด เนื่องจากช่วงไตรมาส 4 โค้กทุ่มงบฯ 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าซื้อกิจการแบรนด์บอดี้อาร์เมอร์ (Bodyarmor)

เพื่อเป็นทางลัดเข้าครองส่วนแบ่งในตลาดเครื่องดื่มเกลือแร่ ตามด้วยกาแฟที่เติบโต 17% หลังโค้กกลับไปเปิดร้านกาแฟแบรนด์คอสต้า (Costa) ในประเทศอังกฤษอีกครั้ง

ส่วนกลุ่มเครื่องดื่มสุขภาพมีการเติบโตด้านปริมาณสูงถึง 11% มีแบรนด์ซิมพลี (Simply) เป็นหัวหอก ด้วยตำแหน่งแบรนด์ที่มีรายได้อันดับ 2 ของพอร์ตโฟลิโอ ซึ่งโคคา-โคลาเตรียมต่อยอดความนิยมนี้ไปยังตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วยการจับมือกับมอลสัน คัวร์ส (Molson Coors)

ผู้ผลิตเครื่องดื่มและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พัฒนาสินค้าใหม่ในแบรนด์ซิมพลีในรูปแบบน้ำมะนาวผสมน้ำผลไม้แอลกอฮอล์ 5% เตรียมเปิดตัวในตลาดทวีปอเมริกาเหนือช่วงหน้าร้อนนี้

สอดคล้องกับสถานการณ์ในกลุ่มน้ำอัดลมที่โค้กซีโร่ชูก้าซึ่งเป็นน้ำอัดลมไร้น้ำตาล มีปริมาณการขายเพิ่มขึ้นในระดับเลขสองหลัก ในขณะที่ภาพรวมกลุ่มน้ำอัดลมเติบโตเชิงปริมาณ 8% เท่านั้น


ความเคลื่อนไหวของ 2 ยักษ์น้ำอัดลมน่าจะช่วยสะท้อนถึงทิศทางของตลาดเครื่องดื่มในปี 2565 นี้ ซึ่งปัจจัยเรื่องห่วงโซ่อุปทานกลายเป็นความท้าทายหลักแทนการระบาดของโรคโควิด-19