ยันฮี ลุยกัญชาครบวงจร “ปลูก-ผลิต-รักษา” เสริมทัพศัลยกรรม

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา

โรงพยาบาลยันฮี กระโดดร่วมวงธุรกิจกัญชา ประกาศลุยแบบครบเครื่อง ต้นน้ำยันปลายน้ำ เปิดศูนย์รักษา-ผลิตยา เพิ่มทางเลือกคนไข้ กางแผนขยายวอร์ดเพิ่มเตียงรับสังคมสูงวัย หวังสร้างรายได้เสริมหลังจากช่วงโควิด-19 ทำลูกค้าไทย-เทศหดหาย รายได้ลด ล่าสุดพิษไวรัสคลี่คลายเริ่มกระหน่ำโปรฯลดแลกแจกแถม ผ่อน 0% หนุนสารพัดความงามทุกเดือน ดึงลูกค้าในประเทศ

นายแพทย์สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา ประธานกรรมการบริหาร โรงพยาบาลยันฮี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ รพ.ยันฮีได้หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องของกัญชามากขึ้น นอกจากการเปิดศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาที่เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาแล้ว ยังร่วมกับวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรเพื่อสุขภาพคลองนกกระทุง อ.บางเลน ปลูกกัญชา ซึ่งมีพื้นที่รวมประมาณ 500 ไร่ ที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม

โดยในพื้นที่ดังกล่าวจะมีการปลูกพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ คือ กัญชา ประมาณ 200 ไร่ กระท่อม 100 ไร่ และฟ้าทะลายโจร ที่เดิมปลูกมากกว่า 100 ไร่ แต่ตอนนี้ลดลงเนื่องจากดีมานด์ในตลาดลดลง ซึ่งโรงพยาบาลทำสัญญาเอ็มโอยูรับซื้อ

สำหรับกัญชาจะมีการปลูกแบ่งเป็น 3 เกรด ทั้งกัญชาเมดิคอลเกรด ที่เป็นการปลูกในอาคาร ที่บริเวณชั้น 15 ของโรงพยาบาล ส่วนการปลูกที่บางเลนจะมีทั้งการปลูกในโรงเรือน รวมประมาณ 600 ต้น

สำหรับนำมาทำเครื่องดื่ม-อาหาร และกำลังจะขยายการปลูกที่เป็นเอาต์ดอร์อีกประมาณ 5,000 ต้น (อยู่ระหว่างการขออนุญาต) เพื่อนำเอาส่วนต่าง ๆ ของกัญชาผลิตเป็นน้ำมันนวด เครื่องปรุงอาหาร

“เราทำแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่ผ่านมา เราปลูกกัญชามา 2 คอร์ปแล้ว ตอนนี้อยู่ระหว่างการปลูกคอร์ปที่ 3 และนำส่วนต่าง ๆ ของกัญชาที่ได้มาผลิตทั้งยาและเครื่องดื่มน้ำดื่ม ซึ่งเรามีโรงงานผลิตทั้งยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบัน (บริษัท ยาอินไทย จำกัด) และเครื่องดื่ม (บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด)”

เปิดตัวยากัญชาเพิ่มทางเลือก

นายแพทย์สุพจน์ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมีโปรดักต์จากกัญชา ภายใต้แบรนด์ยันฮี ประมาณ 10 รายการ อาทิ ยากัญซึม แก้วิตกกังวล แก้เครียด แก้นอนไม่หลับ, ยากัญชู แก้ลมในเส้น บรรเทาอาการมือเท้าอ่อนแรง, ยาราตรี แก้นอนไม่หลับ แก้ไข้ผอมเหลือง, ยานิทรา ช่วยให้นอนหลับ เจริญอาหาร (ผลิตตามตำรับสุขไสยาศน์)

นอกจากนี้ ยังมีน้ำมันนวดกัญชา แก้ปวดเมื่อย ปวดตามกล้ามเนื้อ, ยากัญเกา แก้สะเก็ดเงิน เรื้อน ผื่นคัน สกัดจากช่อดอกของกัญชา และยาหยอดใต้ลิ้นสูตรน้ำมันเดชา และทั้งหมดนี้ เบื้องต้นเป็นการนำมาใช้ในศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา และจำหน่ายในโรงพยาบาล ยังไม่ผลิตออกวางจำหน่ายตามร้านขายยาและช่องทางต่าง ๆ

“ตอนนี้วัตถุดิบที่ได้ยังมีไม่มากนัก เบื่องต้นจึงเน้นการผลิตเพื่อใช้ในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา ส่วนการผลิตเพื่อนำออกไปวางจำหน่ายตามช่องทางอื่น ๆ นอกจากโรงพยาบาลจะต้องมีการขออนุญาตและขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน”

สำหรับศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชาของยันฮี ปัจจุบันมีแพทย์ประจำศูนย์ 4 ท่าน หัตถการหลัก ๆ จะประกอบด้วย กัญชารักษาโรคสะเก็ดเงิน กัญชาทางการแพทย์เพื่อช่วยผ่อนคลาย ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้รับการตอบรับดี และถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกจากการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ แล้วไม่ได้ผล เช่น มะเร็ง การทำคีโม (เคมีบำบัด) หรือการฉายแสง (รังสีรักษา) อาจจะยังไม่หาย

แต่การใช้ยากัญชาแม้มะเร็งจะรักษาไม่หาย แต่ก็จะทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น การให้คีโม อาจจะทำให้คนไข้รับประทานอาหารไม่ได้ แต่พอมาหยอดน้ำมันกัญชา คนไข้จะปวดน้อยลง นอนหลับได้ ทานอาหารได้ ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายดีขึ้น เป็นต้น

เล็งขยายเตียงรับสังคมสูงวัย

นายแพทย์สุพจน์ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม ยันฮียังให้ความสำคัญกับเรื่องของความสวยความงาม หรือศูนย์ความงาม ที่โรงพยาบาลมีชื่อเสียงด้านนี้มานานกว่า 35 ปี ซึ่งตอนนี้หลัก ๆ และถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของโรงพยาบาล ประกอบไปด้วยศัลยกรรมตกแต่ง ศูนย์ผิวหนังและเลเซอร์ ศูนย์กำจัดขน ศูนย์เส้นเลือดขอด ศูนย์ทันตกรรม

ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของศูนย์ผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นเทรนด์ของประเทศ ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เปิดศูนย์มา 3 ปี ได้รับการตอบรับที่ดี เนื่องจากเป็นศูนย์ผู้สูงอายุที่มีการดูแลได้ครบวงจร

ตั้งแต่ผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคประจำตัว แต่มีอาการหลงลืมและต้องมีคนคอยดูแล, ผู้สูงอายุที่ต้องการดูแลเรื่องกินยา ฉีดยาประจำ, ผู้สูงอายุที่เป็นอัลไซเมอร์, ผู้สูงอายุที่ต้องมีอุปกรณ์ช่วย เช่น ป้อนอาหารทางสายยาง ใส่ท่อปัสสาวะ หรือเจาะคอ ต้องคอยดูดเสมหะ มีพยาบาลคอยดูแล และผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเตียง ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ตอนนี้เตียงเต็ม 90 เตียง และยังมีพื้นที่สำหรับที่จะขยายอีกในอนาคตซึ่งตามแผนจะเพิ่มทีละวอร์ด ๆ หรือประมาณ 12-15 เตียง

การระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ทำให้ตลาดศัลยกรรมความงามทั้งระบบได้รับผลกระทบอย่างหนัก ลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เป็นตลาดใหญ่ลดลงมาก

โดยเฉพาะช่วงปี 2564 คนไข้ต่างประเทศเท่ากับศูนย์ และมีการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ ในลักษณะของการดาวน์ไซซ์ แผนกไหนที่มีคนไข้น้อยก็หยุดหรือปิดให้บริการเป็นการชั่วคราว เช่น ปลูกเส้นผม สักรักษา ขณะเดียวกัน ก็ดูว่าแผนกไหนที่จะมีคนไข้เข้ามาต่อเนื่อง หรือจะเปิดเพิ่มขึ้นได้ก็เปิด เช่น ศูนย์รักษาโรคด้วยกัญชา เพื่อเข้ามาเสริมในช่วงที่ศัลยกรรมมีคนเข้าใช้บริการน้อยลง นอกจากนี้ยังได้เปิดศูนย์เบาหวาน รักษาภาวะแทรกซ้อนทางตาจากเบาหวาน อาทิ เบาหวานขึ้นตา เพราะปัจจุบันคนไทยเป็นเบาหวานมาก

ลดแลกแจกแถมปลุกศัลยกรรม

ขณะเดียวกัน สำหรับศูนย์ศัลยกรรมก็ปรับตัวด้วยการหันมาให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนไทยหรือลูกค้าในประเทศมากขึ้น โดยได้ทำกิจกรรมทางการตลาดที่เน้นการลดแลกแจกแถม เพื่อดึงให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้น ซึ่งก็ได้ผลการตอบรับที่น่าพอใจ แต่จำนวนลูกค้าหรือรายได้ก็ไม่ได้เพิ่มมากเหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 แต่ก็ทำให้แผนกศัลยกรรมความงามยังอยู่ได้

ล่าสุด จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลายมากขึ้น โรงพยาบาลก็ค่อย ๆ กลับมาทำการตลาดกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นชาวต่างประเทศบ้าง ในรูปแบบของออนไลน์ แต่ก็ต้องยอมรับว่ากลุ่มคนไข้ต่างประเทศที่เคยเป็นลูกค้าเขาก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและเศรษฐกิจ จึงอาจจะยังไม่สะดวกหรือยังมีข้อจำกัดในการที่จะเดินทางเข้ามา

ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กลยุทธ์ลดแลกแจกแถม รวมถึงการผ่อน 0% มากระตุ้นเป็นระยะ ๆ เช่น เดือนมิถุนายน ลด 10-15% สำหรับเสริมหน้าอก เดือนกรกฎาคม ก็อาจจะลด 10-20% สำหรับการทำตา 2 ชั้น หรือเดือนสิงหาคม ลด 15% สำหรับการจัดฟัน เป็นต้น

“แม้ว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา จะเป็นช่วงขาลงของตลาดศัลยกรรมความงาม แต่ตลาดก็มีโอกาสที่จะฟื้นกลับมาเหมือนช่วงก่อนหน้าที่จะมีโควิด-19 เกิดขึ้น เพราะทุกคนอยากสวยอยากงาม แต่อาจจะต้องใช้เวลาอีกไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี เพราะตอนนี้กระเป๋าคนแห้ง เศรษฐกิจฟื้นเมื่อไหร่ เงินในกระเป๋ากลับมาเมื่อไหร่ คนก็จะคิดถึงการทำศัลยกรรม

“ตอนนี้ที่เราอยู่ได้ เพราะเรามีบิสซิเนสอื่น ๆ มาเสริม หากเรายืนอยู่บนขาเดียวมันจะเอียงจนแทบจะล้ม ดีที่เรายังมีน้ำวิตามิน น้ำกัญชา ยาสมุนไพร มีโรงงานผลิตยา โรงงานผลิตน้ำ มีศูนย์รักษาผู้สูงอายุ ฯลฯ การมีหลายขาจึงช่วย ๆ กันพยุงไว้ ตอนนี้ในแง่สัดส่วนรายได้หลัก ๆ ยังมาจากศัลยกรรมความงาม ทันตกรรม ผิวหนัง ศัลยกรรมทั่วไป อายุรกรรม และสูติ-นรีเวช”