ศูนย์วิจัยฯ เผย อุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ 40% ไร้ใบขับขี่

 รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เปิดเผย ผลการวิจัยและความคืบหน้าการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดกับผู้ใช้รถจักรยานยนต์ใน โครงการวิจัยเพื่อเมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” (In-depth Accident Investigation in Thailand) โดยได้รับการสนับสนุนจากฮอนด้าและยามาฮ่าเพื่อเก็บข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถจักรยานยนต์ในประเทศไทย พบว่าจะจากตั้งเป้าที่ 1,000 เคส ระหว่าง .. 2559 ถึง 2563

ล่าสุดเก็บข้อมูลแล้ว 600 เคส พบปัญหาเบื้องต้นคือผู้ใช้รถขาดทักษะในการคาดการณ์อุบัติเหตุการควบคุมรถและไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แนะวิธีแก้ปัญหาเร่งด่วนควรพัฒนาทักษะให้กับผู้ขับขี่เป็นลำดับแรก

1. ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่มักเสียชีวิตจากการชนกับรถยนต์คันอื่น ได้แก่ รถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถกระบะตามมาด้วยรถบรรทุกและรถที่จอดอยู่ข้างทาง หรือชนกับวัตถุข้างทาง 2. รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่พบบ่อยมากที่สุด คือการเลี้ยวตัดกระแสจราจรทางตรง จุดตัดประเภทต่างๆแต่รูปแบบการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ที่ส่งผลให้มีผู้ขับขี่เสียชีวิตมากที่สุด คือการชนที่ด้านหน้าและการชนท้ายรถคันอื่นรวมถึงการชนกับรถขณะกำลังเลี้ยวในบริเวณจุดตัดต่างๆ

 3. สาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์มาจากปัจจัยด้านบุคคลเป็นหลักโดยมีสัดส่วนสูงถึง 94% แบ่งเป็น สาเหตุที่เกิดจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ 54% เกิดจากความผิดพลาดของคนขับรถยนต์คันอื่น 40% ถนนและยานพาหนะ 4% และ 2% ตามลำดับ

 4. ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นกับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์และเป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุได้แก่ความผิดพลาดของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในการประเมินสถานการณ์ (Perception Failure) 52% ความผิดพลาดในการตัดสินใจเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์ฉุกเฉิน (Decision Failure) 21% ความผิดพลาดในการควบคุมรถ (Reaction Failure) 19% ความไม่ตั้งใจในการขับขี่ (Attention Failure) 26% เกิดจากการทำผิดกฎจราจรของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ (Faulty in Traffic Strategy) 32%

5. อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการที่ผู้ขับขี่ไม่หลบหลีกหรือเบรกเพื่อหลีกเลี่ยงการชนแต่อย่างใด (Collision Avoidance) 48%

6. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ประสบอุบัติเหตุไม่มีใบอนุญาตขับขี่ 40% 

7. ผู้ขับขี่ที่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัยแต่เรียนรู้วิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์จากสมาชิกในครอบครัวเพื่อนหรือฝึกขับขี่ด้วยตนเอง 85%

8. ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะมากกว่า 50% และ 9. ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์เกิดจากการขับขี่ขณะมึนเมา 15%

ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลดอุบัติเหตุบนท้องถนนควรโดยมุ่งเน้น 3 ด้านได้แก่การคาดการณ์อุบัติเหตุการตัดสินใจที่ถูกต้องและการควบคุมรถอย่างปลอดภัยทั้งนี้ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทยจะได้รายงานผลการวิจัยเต็มรูปแบบอีกครั้งหลังเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูลการวิจัยต่อไป