ดีลเลอร์ “เชฟโรเลต” รวมพลัง-หวั่นบริษัทแม่ไม่เป็นธรรม

86 ดีลเลอร์เชฟโรเลตนัดรวมพลถกหาข้อสรุปก่อนเจรจาบริษัทแม่รับการเยียวยาธุรกิจ วอนหน่วยงานรัฐช่วยดูแลใกล้ชิดห่วงไม่ได้รับความเป็นธรรม ย้ำดีลเลอร์ส่วนใหญ่ไม่มีใครอยากไปต่อ ชี้ประชากรเชฟโรเลตในตลาดแค่หลักแสน แค่เซอร์วิสอย่างเดียวไม่คุ้ม ไฟแนนซ์ห่วงราคาขายทอดตลาดหล่นหนัก ประกันภัยจ้องลดทุน ดูตามราคาขายจริง กังวลอะไหล่หายาก

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ยุติการจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย ในสิ้นปี 2563 และถอนการลงทุนโดยขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย ในจังหวัดระยอง ให้เกรท วอล มอเตอร์ส จากจีน พร้อมมีมาตรการดูแลทั้งพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า อาทิ มอบแพ็กเกจเงินชดเชยให้กับพนักงานที่ได้รับผลกระทบในจำนวนที่มากกว่ากฎหมายแรงงานไทยกำหนด ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจอย่างเหมาะสม และให้คำมั่นสัญญาว่าจะดูแลลูกค้าว่า ยังไม่ความคืบหน้าใด ๆ มีแต่แคมเปญฮอตดีลที่ลดราคา 20-50% เท่านั้น

86 ดีลเลอร์รวมตัวถกบริษัทแม่

แหล่งข่าวบริษัท จีเอ็ม และเชฟโรเลตเซลส์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่ายังไม่ได้มีการเจรจาและหารือร่วมกับตัวแทนจำหน่ายอาจเป็นสัปดาห์สุดท้ายของเดือนนี้ ซึ่งตามแผนบริษัทจะยุติการขายสิ้นปี 2563 ตรงกับสิ้นสุดสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลต และทุกดีลเลอร์ทำสัญญากันแบบปีต่อปี 

รายงานข่าวจากตัวแทนจำหน่ายเปิดเผยว่า ล่าสุด ชมรมดีลเลอร์เชฟโรเลตได้เรียกดีลเลอร์ 86 รายประชุมหารือเพื่อซักซ้อมความเข้าใจและหาทางออกที่ดีที่สุด กรณีบริษัทแม่มีมาตรการเยียวยา โดยต้องได้รับความเป็นธรรม และดีลเลอร์ไม่มั่นใจ จึงอาจต้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลอีกทาง และส่วนใหญ่ไม่มีใครไปต่อกับเชฟโรเลต

ดูเซอร์วิสอย่างเดียวไม่คุ้ม

ดีลเลอร์รายใหญ่ในเขตพื้นที่ภาคกลางกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อเสนอของบริษัทแม่ที่แจ้งผ่านสื่อว่า ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์เชฟโรเลตจะได้รับการเสนอโปรแกรมการช่วยเหลือพิเศษในการปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองให้เป็นศูนย์บริการที่ได้รับการแต่งตั้งจากเชฟโรเลตนั้น เชื่อว่าไม่มีใครเอาด้วย เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีความคุ้มค่า บริษัทแม่ประกาศชัดว่าถอนออกจากตลาดรถยนต์ในไทย ดังนั้นการลงทุนใส่เงิน จ้างคน เตรียมอะไหล่ เตรียมสถานที่เป็นหน้าที่ของคนลงทุน แต่ซ่อมได้แค่ยี่ห้อเดียว ไม่มีรายได้อื่น ๆ จากการขายรถ ขายประกันภัย ขายชุดแต่ง ไม่มีค่าคอมมิสชั่นอื่น ๆ

“แค่ค่าเช่าสถานที่ ค่าจ้างพนักงานค่าน้ำค่าไฟ เดือนหนึ่งต้องมี 3-4 แสน ปีหนึ่ง 4-5 ล้านบาท ไม่รวมค่าแบกสต๊อกอะไหล่ แถมประชากรรถเชฟโรเลตในไทยมีแค่ไม่กี่แสนคัน ไม่มีใครกล้าลงทุนผลิตอะไหล่ป้อนเชฟโรเลตอะไหล่มือ 2 จากเชียงกงก็ไม่มี 

นอกจากนี้ประชากรรถแสนคัน สต๊อกอะไหล่ 1% ต้องเตรียมไว้ 1,000 คัน คิดเป็นเงินค่าอะไหล่คันละ 2 หมื่นบาท ต้องลงทุนอย่างน้อย 20 ล้านบาทต่อรถแสนคัน 

“อะไหล่เครื่องยนต์ต่าง ๆ อาจพอหาทดแทนได้แต่ที่หนัก คือ อะไหล่ตัวถัง ไฟหน้า ไฟท้าย ใช้แทนกันไม่ได้ ยี่ห้อใครยี่ห้อมัน ถ้าเกิดอุบัติเหตุหาอะไหล่ลำบากแน่”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบการขายรถยนต์เชฟโรเลตในประเทศไทย  ซึ่งทำตลาดมา 19 ปี มีทั้งสิ้น 449,224 คัน  

รถเก่าใช้บริการเข้าอู่ซ่อมทั่วไป

สอดคล้องกับผู้แทนจำหน่ายอีกรายที่ยอมรับว่า แม้บริษัทแม่จะยืนยันว่า มีศูนย์บริการหลังการขายไว้รองรับ แต่ปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ที่รถยนต์อายุงานมากกว่า 3 ปี มักหันไปใช้บริการอู่ทั่วไป ยิ่งตอนนี้ฟาสต์ฟิตอย่างบี-ควิก และอื่น ๆ เปิดเป็นดอกเห็ด ราคาต่ำกว่า 20-30% ลูกค้าคงไม่เลือกใช้ศูนย์บริการ และก่อนหน้านี้ เชฟโรเลตพยายามทำศูนย์บริการในรูปแบบ 2S ปูพรมมาตั้งแต่กลางปี 2561 ลงทุนต่อแห่งราว 5 ล้านบาท ปัจจุบันไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตอนนี้มี 4 แห่งทั่วประเทศ

ยอดทะลักแต่ของไม่พอ

แหล่งข่าวยังกล่าวต่อไปอีกว่า กรณีแคมเปญฮอตดีล ซึ่งลดราคา 20-50% กระตุ้นตลาดได้มากจริง โดยเฉพาะเชฟโรเลตแคปติว่า รุ่นเริ่มต้น ที่ขายเพียง 4.99 แสนบาท จนทำให้เกิดปรากฏการณ์ “ขายใบจอง” แต่จากยอดจองที่ทะลักเข้ามาเป็นหมื่นคัน มีรถจำกัดเพียง 2,000 คัน แคปติว่ามียอดจองเยอะมาก ลูกค้าซื้อด้วยเงินสดมากกว่าครึ่ง ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพภาพ ส่วนเงินจองมีตั้งแต่ 5 พันบาท ไปจนถึง 2 หมื่นบาทถ้าลูกค้าไม่ได้รถก็ต้องคืนเงินจอง ส่วนคนที่ตัดสินใจซื้อใบจองจากลูกค้ารายอื่น ๆ อยากให้พิจารณาด้วยว่า เครดิตของตนเองสามารถยื่นขอซื้อรถได้หรือไม่ กรณีไฟแนนซ์ไม่ผ่านจะเสียโอกาส

ประกันภัยเล็งลดทุนประกัน

นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ผลพวงจากการเลิกทำตลาดของเชฟโรเลต ทำให้ภาคธุรกิจประกันต้องเร่งหารือเกี่ยวกับการรับประกัน โดยเฉพาะมีความกังวลกรณีลูกค้าทุจริตหรือฉ้อฉล หรือเป็นขบวนการมิจฉาชีพหากินส่วนต่างระหว่างทุนประกันกับราคารถจริง เนื่องจากเดิมราคารถขายอยู่เดิม 1 ล้านบาททำประกันคัฟเวอร์แค่ 80% ทุนประกันประมาณ 8 แสนบาท แต่ตอนนี้ราคารถจริงลดเหลือ 4.9 แสนบาท ซึ่งหายไปครึ่งต่อครึ่ง ต้องลดทุนประกันลงมาให้สอดคล้องกับราคารถจริงในปัจจุบัน

เช่นเดียวกับแหล่งข่าว บมจ.ธนชาตประกันภัยกล่าวว่า ภายในบริษัทกำลังหารือเรื่องนี้กันอยู่ และคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยเบื้องต้นรถใหม่ที่ออกมาช่วงนี้ยืนยันว่า บริษัทยังคงรับประกันตามปกติ แต่จะมีความกังวลในการบริการหลังการขาย ทั้งในศูนย์ซ่อม ตัวอะไหล่จะมีรองรับหรือไม่ รวมไปถึงปัญหาการจ่ายค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถด้วย เพราะถ้าอะไหล่ไม่มีซ่อมยาวแน่ 

“ขณะที่พอร์ตรถเชฟโรเลตเดิมที่บริษัทรับประกันไว้เมื่อต่ออายุสัญญารับประกันปีต่อไป อาจจะต้องปรับให้ทุนประกันสอดรับกับราคารถในตลาด”

บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาจะปรับอย่างไร เนื่องจากต้องมองทั้งในมุมของลูกค้าที่อาจจะซื้อตอนราคารถที่สูง ซึ่งอาจจะไม่แฟร์ เพราะลูกค้ามีผูกกับไฟแนนซ์ซึ่งอิงตามราคาเก่า ฉะนั้นต้องไปพิจารณารถเชฟโรเลตก่อนว่ามีทุนประกันความเสียหายสิ้นเชิง (total loss) อยู่กี่คันหรือแม้แต่ฝั่งบริษัทประกันเองก็ตามที่ราคาชิ้นส่วนอะไหล่อาจจะไม่ได้ปรับลดลง ฉะนั้นอาจมีผลกระทบหลาย ๆ ปาร์ตี้”

ไฟแนนซ์ห่วงรถยึด-ขายต่อตกวูบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนบริษัทไฟแนนซ์ซึ่งปล่อยสินเชื่อ ก็มีความกังวลกรณีลูกค้าทำหนี้เสีย แล้วต้องยึดรถกลับมา เป็นที่ทราบกันดีว่า แนวโน้มราคาของรถยนต์เชฟโรเลตในอนาคตต่ำลงมาก ๆ แน่ ดังนั้นถ้าดูจากตรงนี้การประเมินการปล่อยสินเชื่อก็น่าจะลำบากมากขึ้น