นิสสันปรับตำแหน่งสินค้าใหม่ โฟกัสวอลุ่มโละทิ้ง “เอสยูวี-ดีเซ็กเมนต์”

นิสสันปรับโพซิชั่น “สินค้า” ใหม่ ตัดสินใจทิ้ง “เอ็กซ์เทรล-เทียน่า” จากตลาดเมืองไทย หลังเทรนด์ความต้องการรถยนต์ประเภทนี้ลดลงต่อเนื่องแย้มยังหวังปั้นรถพีพีวี “เทอร์ร่า” แจ้งเกิด เจาะตลาด “ครอบครัว” พร้อมประกาศแผนธุรกิจชัด โฟกัสเฉพาะโมเดลที่มี “วอลุ่ม” ลั่นเดินหน้าปลุกตลาด”อัลเมร่า-คิกส์” ต่อเนื่อง

นายอดิศัย สิริสิงห รองประธานสายงานการตลาด บริษัท นิสสัน (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแผนทำตลาดปีนี้ว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในประเทศไทย นิสสันได้ตัดสินใจปรับไลน์อัพสินค้าใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของลูกค้ามากที่สุด โดยเฉพาะรถในกลุ่มเอสยูวี และพีพีวี ซึ่งมีความทับซ้อนกัน หลังจากแนะนำนิสสัน เทอร์ร่า ออกสู่ตลาดไปเมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

“ตอนนี้เรามีทั้งเอ็กซ์เทรล และเทอร์ร่า ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกัน ปกติค่ายรถยนต์ที่มีปิกอัพก็จะพัฒนามาเป็นพีพีวี แต่ถ้าค่ายไหนไม่มีก็จะลุยทำตลาดเอสยูวีเลย แต่เรามีทั้ง 2 รุ่นเลย ซึ่งปรากฏว่าแย่งตลาดกันเอง ดังนั้น นโยบายของบริษัทจะค่อย ๆ ลดบทบาทการทำตลาดเอสยูวีอย่างเอ็กซ์เทรลลง และท้ายที่สุดก็จะถูกถอดออกจากตลาดไปโดยปริยาย”

นายอดิศัยยอมรับว่า การทำตลาดของนิสสัน เทอร์ร่า ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมานั้นยังไม่ดี และไม่น่าพอใจเท่าที่ควร แต่จากนี้ไปบริษัทจะเน้นการทำตลาดและการสื่อสารรถรุ่นนี้ใหม่ให้เหมาะสม เพื่อให้ถูกใจกับลูกค้าชาวไทยและต้องใช้เวลาอีกสักระยะ โดยเฉพาะการทำตลาดในกลุ่มครอบครัวที่มี 7 ที่นั่ง ที่มาตอบโจทย์ความต้องการ กลุ่มครอบครัวเน้นการเดินทาง และมีสัมภาระจำเป็นมากมาย จึงเลือกใช้รถยนต์อเนกประสงค์ขนาดใหญ่ หรือหากลูกค้าต้องการรถยนต์อเนกประสงค์เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์และการใช้งานในเมือง เทอร์ร่าก็ทำได้

เช่นเดียวกับรถยนต์ในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดใหญ่ หรือดีเซ็กเมนต์อย่างเทียน่า ที่พบว่ามีความต้องการลดลงไปอย่างเห็นได้ชัดทั้งในตลาดประเทศไทยและตลาดโลก ประกอบกับราคาจำหน่ายของรถประเภทนี้กลับสูงขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งรถยนต์ในกลุ่มซีเซ็กเมนต์อย่าง นิสสัน ซิลฟี่ ที่บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาและติดตามตลาดว่าจะมีแนวโน้มเป็นเช่นไร

หลังจากพบข้อมูลว่าความต้องการของรถในกลุ่มนี้ทั่วโลกลดลงไปเช่นเดียวกัน และผู้บริโภคไปให้ความสนใจกับรถครอสโอเวอร์และเอสยูวีเพิ่มขึ้น โดยรถยนต์กลุ่มนี้ความต้องการอยู่ราว 50,000 คัน ซึ่งถือว่าน้อยมากตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา แต่รถที่กลับมีการเติบโตอย่างมีนัยและน่าสนใจคือ รถในกลุ่มซิตี้คาร์ หรืออีโคคาร์ เข้ามาแทนตลาด

Advertisment

ขณะที่รถปิกอัพนิสสัน นาวารา ซึ่งยังเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง ได้ทำนาวารา เอดิชั่นพิเศษ จำนวน 300 คัน ออกมาเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า ซึ่งได้รับการตอบรับค่อนข้างดี แม้ว่าโพซิชั่นของสินค้าจะต่างกัน แต่ต้องยอมรับว่าแบรนด์ของเราไม่ได้ใหญ่พอที่จะมีรถทั้ง 2 รุ่น ในเซ็กเมนต์เดียวกันได้

นายอดิศัยกล่าวว่า ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ นิสสันมีนโยบายในการทำตลาด โดยจะเน้นไปที่กลุ่มรถยนต์หลัก 2 ประเภท คือ กลุ่มซิตี้คาร์ และคอมแพ็กต์เอสยูวี ที่บริษัทได้มีการแนะนำรถรุ่นใหม่อย่าง นิสสัน อัลเมร่า และนิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์ ออกสู่ตลาดไปก่อนหน้านี้ เนื่องจากทั้ง 2 เซ็กเมนต์ มีการขยายตัวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ นิสสัน คิกส์ อี-เพาเวอร์ ที่ได้เริ่มทยอยส่งมอบรถให้กับลูกค้าไปแล้ว และนิสสัน อัลเมร่า ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา โดยจะมุ่งเน้นการสร้างความเข้าใจในตัวผลิตภัณฑ์และการยอมรับจากลูกค้า ทั้งด้านราคาและเพอร์ฟอร์มานซ์ของรถ

Advertisment

“ถ้าดูโดยภาพรวมของอัลเมร่านั้น ถ้าจะดูองค์ประกอบในหลาย ๆ ด้านแล้ว รถคันนี้มีความคุ้มค่า คุ้มราคามากที่สุด เรามีราคาตั้งแต่ 4.99-6.39 แสนบาท โดยสัดส่วนการขายในปัจจุบัน รุ่นท็อป และรุ่นรองท็อปของอัลเมร่า นิสสันขายไปมากกว่า70-80% หลังจากเปิดตัวมาแล้ว 8 เดือน ซึ่งถือว่ารถคันนี้ยังสามารถไปได้อีก โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องอัดแคมเปญส่งเสริมการขาย”

สำหรับความต้องการของตลาดในช่วงเวลาที่เหลือ นิสสันประเมินว่าหากสถานการณ์การแพ่ระบาดของโควิด-19 ไม่กลับมาระบาดระลอก 2 น่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ค่อย ๆ ฟื้นตัวดีกว่าที่คาดไว้ ประกอบกับค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ได้มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า

นิสสันมองว่า ดีมานด์หรือความต้องการซื้อรถยนต์ของลูกค้าไม่ได้หายไป เพียงแต่ช่วงที่ผ่านมา ลูกค้ามีความกังวลและไม่กล้าใช้จ่าย และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้ หรือไม่เกินมอเตอร์โชว์ ปี 2564 อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยน่าจะมียอดขายที่ 900,000 คัน หรือดีเท่ากับช่วงก่อนมีสถานการณ์โควิดได้อย่างแน่นอน