ค่ายรถถล่ม “อีวี-ไฮบริด” เก่าแลกใหม่ ลดคันละแสน

รัฐ-เอกชนประสานพลังดันอุตฯรถยนต์ปี 2563 หวัง 2 เดือนสุดท้ายดึงยอดขึ้นอีกเกือบ 2 แสนคัน ตัวเลขทั้งปีทะลุ 7.6 แสนคัน ค่ายรถเทกระจาดส่งรถใหม่ลงตลาด หวังงานมอเตอร์เอ็กซ์โปช่วยหนุน “ฮอนด้า” คลอด 2 รุ่นรวด ซิตี้ แฮตช์แบ็ก-ซิตี้ ไฮบริด, มาสด้าครบ 100 ปี ส่ง 3 รุ่นพิเศษกวาดยอด มิตซูบิชิ-เอ็มจีถล่มกลุ่มปลั๊ก-อิน ไฮบริด ฟากเบนซ์-BMW จัดทัพเก๋งเล็กซีเคดีสร้างความคึกคัก ศบศ.เคาะเงื่อนไข “รถเก่าแลกรถใหม่” แสนบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศอุตสาหกรรมรถยนต์หลังผ่านพ้นช่วงการแพร่ระบาดโควิดว่า ตลาดเริ่มฟื้นตัวมากขึ้นจากที่เคยหดตัวมากถึง 65.74% ถึงตอนนี้กลับมาอยู่ในระดับไม่รุนแรง โดยยอดขาย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ทำได้ 602,843 คัน ลดลง 27% เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้น และประมาณว่ายอดขายรถยนต์ ปี 2563 ทั้งปี น่าจะทำได้ราว ๆ 760,000 คันหรือลดลงเพียง 25% เท่านั้น

โดยเฉพาะในช่วง 2 เดือนสุดท้ายซึ่งตรงกับฤดูขายมีอีเวนต์ใหญ่ หรืองานมอเตอร์เอ็กซ์โป รวมถึงค่ายรถทุกยี่ห้อต่างมีโปรโมชั่นพิเศษเพื่อเรียกกำลังซื้อ ทำให้คาดการณ์ว่าช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปี ยอดขายรถยนต์น่าจะพุ่งพรวดไปถึง 165,000-170,000 คัน

รถใหม่เรียงแถวลงตลาด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมอีกว่า ผู้ประกอบการค่ายรถยนต์พยายามสร้างความคึกคักให้กับตลาดมาอย่างต่อเนื่อง โดยทยอยคลอดรถใหม่ออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ช่วงปลายเดือนตุลาคม ปูพื้นก่อนที่จะไปปะทะกันอย่างดุเดือดในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และจะถล่มกันด้วยโปรโมชั่นและข้อเสนอพิเศษทางด้านการเงิน อาทิ ดอกเบี้ย ระยะเวลาการผ่อน รวมถึงส่วนลดเงินสดซึ่งจะเป็นตัวเร่งในการตัดสินใจซื้อ

เริ่มจากค่ายเอ็มจีของกลุ่มซีพี ส่งเอ็มจี เอชเอส ปลั๊ก-อิน ไฮบริด รุ่นแรกออกสู่ตลาด ตั้งราคาขาย 1.359 ล้านบาท ตามมาด้วยค่ายอีซูซุ ส่งรถยนต์นั่งอเนกประสงค์ อีซูซุ มิวเอ็กซ์ใหม่ ออกสู่ตลาดในราคาช่วงแนะนำ เริ่มต้นที่ 1.090-1.579 ล้านบาท โดยต้องจองซื้อก่อนวันที่ 31 ธ.ค.นี้

ขณะที่ค่ายโตโยต้า ก่อนหน้านี้เปิดตัวรีโว่ และแนะนำเซ็กเมนต์ใหม่ โคโรลล่า ครอส ไปแล้ว ยังได้นำรถครอบครัวอย่างอินโนวา มาเพิ่มความสดใหม่ และกำลังลุ้นว่าในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป โตโยต้าน่าจะมียาริสและเอทีฟรุ่นปรับปรุงมาเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า

แบบเดียวกับค่ายมาสด้าที่ส่งรุ่นพิเศษฉลองครบรอบ 100 ปี 3 รุ่น มาสด้า2, มาสด้า3 และซีเอ็กซ์ 30 มีเพียง 2,000 คันเท่านั้น ไม่ต่างจากค่ายซูซูกิ ที่มีรถยนต์ในไลน์อัพเข้าร่วมงานครบครัน แล้วยังมี XL7 รุ่นชุดแต่งพิเศษ ออกมาเอาใจลูกค้าด้วย

ส่วนที่กำลังฮือฮา ได้แก่ ค่ายฮอนด้า เพราะในวันที่ 24 พ.ย.นี้ พร้อมแนะนำฮอนด้า ซิตี้ใหม่ อีโคคาร์ตัวแรงเครื่องยนต์ 1 ลิตร และเตรียมอวดโฉมทั้ง 2 รุ่นในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป เป็นฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก (5 ประตู) และฮอนด้า ซิตี้ อี:เอชอีวี (ไฮบริด) โดยคาดการณ์ว่าทั้ง 2 ตัวจะเป็นพระเอกของงาน เนื่องจากมีจุดขายที่ราคาไม่สูง แล้วยังประหยัดแบบสุด ๆ เพราะใช้เครื่องยนต์ขนาดเล็กแล้ว ยังมีมอเตอร์ไฟฟ้าเข้ามาเสริมอีกแรงด้วย

ค่ายเอ็มจียังเตรียมส่งรถยนต์ไฟฟ้า 100% อีกหนึ่งรุ่นลงตลาด โดยจับบอดี้เอ็มจี 5 ถอดเครื่องยนต์ออกติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่เข้าไปแทน ส่วนตระกูลปิกอัพ โดดเด่นสุด ๆ ไม่พ้นนิสสันโดยเฉพาะนาวารา โมเดลล่าสุดราคาเริ่มต้นไม่ถึงล้านบาท

ตามด้วยฟอร์ด ซึ่งปรับโฉมเรนเจอร์และเอเวอเรสต์ใหม่ ขณะที่ค่ายมิตซูบิชิ เพิ่มความสดใหม่ให้กับมิตซูบิชิ ไทรทัน แอทลีท จีที ใหม่ เพิ่มรุ่นย่อยขับเคลื่อน 2 ล้อ พร้อมดีไซน์สปอร์ตพรีเมี่ยม รวมทั้งไทรทันเมกะแค็บลิมิเต็ด เอดิชั่นใหม่ กระบะตัวเตี้ย หน้าดุ และทำเซอร์ไพรส์ด้วยมิตซูบิชิเอาท์แลนด์ พีเอชอีวี ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป และเปอโยต์ 2008 ราคาประมาณ 1 ล้านบาท

รถหรูแข่งกดราคาชิงยอด

ฝั่งค่ายรถหรูนั้น สุดยอดยนตรกรรมอย่าง โรลส์-รอยซ์ พร้อมเสิร์ฟ “นิว โกสต์” เจเนอเรชั่นที่ 2 ให้กับลูกค้ากระเป๋าหนัก ด้วยราคาเริ่มต้น 35.9 ล้านบาท ตามมาด้วย มาเซราติ กิบลี่ ไฮบริด และที่กำลังช่วงชิงความได้เปรียบว่าปีนี้ใครจะก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์ในตลาดรถหรู ระหว่างค่ายใบพัดสีฟ้าบีเอ็มดับเบิลยู หรือค่ายดาวสามแฉกเมอร์เซเดส-เบนซ์ ซึ่งขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดโดยเฉพาะการทำตลาดรถรุ่นเล็กที่ราคาจับต้องได้ง่าย อาทิ บีเอ็มดับเบิลยู 220i Gran Coupe M Sport ใหม่ ราคาไม่ถึง 2 ล้าน

และบีเอ็มดับเบิลยู X1 ขณะที่เมอร์เซเดส-เบนซ์ ส่ง 2 รุ่นใหม่ครอสโอเวอร์ไซซ์เล็ก GLA และเอคลาสโมเดลเชนจ์ 2 ล้านนิด ๆ ส่วนวอลโว่ก็จ้องเปิดตัว XC40 RechargeT5 PHEV และ S90 Recharge T8 AWD Inscription เช่นเดียวกับเลกซัสส่ง IS และ LS ใหม่ พร้อมทั้ง UX ไฮบริด ดึงกำลังซื้อกลับคืน ไม่ต่างจากกลุ่มซูเปอร์คาร์ค่ายเอเอเอส ออโต้ เซอร์วิส ส่งสปอร์ตซาลูน ปอร์เช่ พานาเมร่า ใหม่ ทำตลาด

มอเตอร์ไซค์คึกคักไม่แพ้กัน

สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ ค่ายใหญ่อย่าง เอ.พี. ฮอนด้า โหมส่งรุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รถมอเตอร์ไซค์ SUV รุ่นแรกของเมืองไทย New ADV150 ใหม่ และแอดเวนเจอร์ไบก์ CRF300L, CRF300Rally แอดเวนเจอร์ไบก์, All New Scoopy ค่ายไทรอัมพ์ ส่งไทรเดนท์ 660, บีเอ็มดับเบิลยู R18 First Edition, ยามาฮ่า T-15 BORN OF DARKNESS, เวสป้ามาพร้อมรุ่นพิเศษ “Vespa S 125 i-Get Monochrome Special Edition” และ Vespa S 125 i-Get Monochrome Special Edition, รอยัล เอนฟิลด์ ส่งเมทธีออร์ 350 ส่วนค่ายอื่น ๆ ก็พร้อมอวดโฉมมอเตอร์ไซค์ใหม่ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปด้วย

เดือดรับรถใหม่ล้นเวที

นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมหกรรมยานยนต์ หรือมอเตอร์เอ็กซ์โป เปิดเผยว่า ปีนี้การแข่งขันน่าจะคึกคักมาก เพราะมีค่ายรถยนต์และมอเตอร์ไซค์เข้าร่วมงานจำนวนมาก รวมแล้วกว่า 50 แบรนด์ ทุกค่ายพร้อมเรียกกำลังซื้อที่หดหายไปตั้งแต่ช่วงวิกฤตโควิด เป้าหมายการจัดงานปีนี้ตัวเลขอาจจะลดลง แต่มั่นใจว่ายอดจองรถน่าจะสูงถึง 25,000-30,000 คัน จำนวนเงินสะพัดน่าจะอยู่ที่ 35,000-37,000 ล้านบาท ส่วนผู้เข้าชมงานคาดว่าจะมีทั้งสิ้น 1 ล้านคนและจะได้คนจากช่องทางออนไลน์เข้ามาเสริมอีกราว 100,000-200,000คน

รถเก่าแลกรถใหม่กระตุ้นดีมานด์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากภาคเอกชนจะกระหน่ำทำตลาดกันอย่างดุเดือดแล้ว ในส่วนของภาครัฐเองก็มีความพยายามผลักดันและกระตุ้นความต้องการซื้อรถยนต์มาโดยตลอด โดยก่อนหน้านี้ สภาอุตสาหกรรมฯได้นำเสนอรัฐบาลเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบ 3 แนวทาง

  1. มาตรการช่วยเหลือเป็นเม็ดเงินสำหรับรถเก่าแลกรถใหม่
  2. มาตรการหักลดหย่อนภาษีกรณีซื้อรถใหม่
  3. มาตรการช่วยเหลือเป็นเม็ดเงิน

กรณีนำรถเครื่องยนต์สันดาปภายในแลกซื้อประเภทรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา ภายหลังการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ) หรือ ศบศ. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เห็นชอบให้ขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลาง และระยะยาว

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า 1 ใน 5 ข้อเสนอที่รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมการลงทุน คือ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด โดยมีคอนเซ็ปต์ความคิดเรื่อง “โครงการรถแลกแจกแถม หรือรถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน” และโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ และโครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนของ ขสมก. โดยการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า

สำหรับโครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่แสนคัน” นั้น รัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างดีมานด์และเพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ สนับสนุนการเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ซึ่งที่ผ่านมามีการหารือขอความคิดเห็นจากภาคเอกชนไปบ้างแล้ว ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว มีการยกตัวอย่างว่า อาจจะให้สิทธิผู้มีรถเก่าใช้แล้ว 7-10 ปี แลกรถใหม่ โดยใช้มาตรการทางภาษีร่วมด้วย

“หลังจาก ศบศ.มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันขับเคลื่อน จะมีการนัดหารือแนวทางการดำเนินการร่วมกันกับกระทรวงการคลัง เพราะต้องเกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษีด้วยคาดว่าจะได้ข้อสรุปรูปแบบของชุดมาตรการ เพื่อนำเสนอต่อ ศบศ.ได้ภายใน2 สัปดาห์” แหล่งข่าวกล่าว

เอกชนห่วงทำตลาดสะดุด

ด้านแหล่งข่าวจากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณี ศบศ.เตรียมกระตุ้นตลาด ด้วยการออกมาตรการรถเก่าแลกรถใหม่นั้นถือเป็นเรื่องที่ดี ส่วนรถยนต์นั่งนั้นมองว่าขณะนี้อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการดังกล่าวมากระตุ้นตลาดเหมือนช่วงที่ต้องเผชิญกับภาวะโควิด เนื่องจากขณะนี้บรรดาค่ายรถยนต์ต่าง ๆ ได้มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายค่อนข้างดุเดือดและตลาดรถยนต์ก็กลับเข้ามาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติแล้ว

ซึ่งสอดคล้องกับผู้บริหารค่ายรถยนต์รายใหญ่บางยี่ห้อที่ยอมรับว่า มาตรการหรือข้อกำหนดเรื่องดังกล่าวจากภาครัฐยังไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม ซึ่งเกรงว่าความไม่ชัดเจนอาจจะส่งผลเสียต่อดีมานด์ของตลาดแล้วกลับไปชะงักอีกครั้งหนึ่ง เพราะผู้บริโภคอาจจะชะลอการตัดสินใจรอจนกว่ามาตรการต่าง ๆ จะคลอดออกมาเป็นรูปธรรม เหมือนช่วงกลางปีที่มีกระแสดังกล่าวออกมาแล้วครั้งหนึ่ง และทำให้ตลาดชะงักไปช่วงหนึ่ง

รถเก่าแลกใหม่เป้าแสนคัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ศบศ.ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลังมาพิจารณาโครงการรถแลกแจกแถม หรือรถเก่าแลกรถใหม่ เป้าหมาย 1 แสนคัน ตามที่ภาคเอกชนนำเสนอว่า ในแง่มาตรการทางภาษียังไม่ได้ข้อสรุป ข้อเสนอจากเอกชนต้องการให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า
ทั้งรถยนต์ไฮบริด (HEV)รถยนต์ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ไปลดหย่อน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งคิดออกมาเป็นส่วนลดในการซื้อรถยนต์ใหม่ 3% ของราคารถสูงสุดไม่เกินคันละ 100,000 บาท โดยเอกชนจะสนับสนุนส่วนลด 2% และอุดหนุนค่ากำจัดซาก 1% ของราคาขายรถใหม่

“เอกชนเสนอให้นำรถที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไปมาแลกซื้อรถใหม่ แต่จากการหารือกันแล้ว อาจจะอยู่ที่ 7-10 ปี” แหล่งข่าวกล่าว


นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอเรื่องโครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ เพื่อสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้งานจำนวน 100,000 คันต่อปี เป็นเวลา 5 ปี โดยขอให้มีการยกเว้นหรือลดภาษีสรรพสามิตสำหรับแบตเตอรี่ SWAP ที่มีระบบการจัดการซาก และหักลดหย่อนภาษีนิติบุคคล สำหรับกิจการให้เช่ารถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ SWAP