คอลัมน์ : สามัญสำนึก ผู้เขียน : ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร
ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายสำหรับการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศกัมพูชา ในวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา ปรากฏพรรคประชาชนกัมพูชา หรือ CPP ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของสมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรี ได้ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย โดยมีการคาดการณ์ว่าจะได้ที่นั่งในสภาแห่งชาติ ถึง 120 ที่นั่ง โดยมีรายงานข่าวจากคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาเข้ามาว่า การเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้มีประชาชนออกมาใช้สิทธิราว 8 ล้าน 1 แสนคน หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ
ชัยชนะครั้งสำคัญของพรรค CPP ครั้งนี้มาจากข้อเท็จจริงที่ว่า พรรค CPP ไม่มีคู่แข่ง เนื่องจากพรรคแสงเทียน (Candlelight Party หรือ CP) ซึ่งถือเป็นพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่แปรสภาพมาจากพรรคฝ่ายค้านที่จะแข่งขันกับพรรค CPP ได้นั้น
ได้ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งกัมพูชาดำเนินการ “ตัดสิทธิ” ไม่ให้ลงทะเบียนสมัครรับเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่ว่าพรรค CP ยื่นเอกสารที่จำเป็นไม่ครบถ้วน ส่วนพรรคที่เหลืออีก 17 พรรคก็เป็นพรรคเล็ก ๆ ก็ไม่อาจเทียบกับพรรค CPP ได้ ทั้งทางด้านการเงินและกำลังคนที่จะสมัครรับเลือกตั้ง
ภายหลังชัยชนะของพรรค CPP สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในวัย 70 ปี ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมาอย่างยาวนาน หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นผู้นำทางการเมืองของกลุ่มประเทศอาเซียนเพียงคนเดียวที่อยู่ในอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน ได้แสดงท่าทีต่อสาธารณชนที่ว่า
พร้อมที่จะถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองให้กับ “ทายาท” คือ “ฮุน มาเนต” ลูกชายคนโตวัย 45 ปี หลังการประกาศว่า “จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป” โดยการประกาศวางมือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่สมเด็จฮุน เซน ปกครองประเทศมากว่า 38 ปี นับจากก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในปี 1985 ขณะมีอายุ 33 ปี
ตลอดการปกครองอันยาวนานของสมเด็จฮุน เซน กัมพูชาได้ผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง ในรอบ 20 ปี กล่าวคือปี 2003 ต่อ 2004 พรรค CPP ชนะเลือกตั้งไม่เด็ดขาด (ได้คะแนนเสียงไม่ถึง 2 ใน 3) จนต้องทำข้อตกลง พรรคฟุนซินเปก
ส่งผลให้ ฮุน เซน ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ปี 2008 พรรค CPP ชนะเลือกตั้งได้ที่นั่งเกือบทั้งหมด ปี 2013 นับเป็นปีแรกที่สร้างความกังวลให้กับพรรค CPP เมื่อพรรค CNRP ของ สม รังสี ได้ที่นั่งในสภาแห่งชาติไปถึง 55 ที่นั่ง จาก 123 ที่นั่ง ขณะที่พรรค CPP ได้ที่นั่ง 68 ที่นั่ง
พอมาถึงปี 2018 พรรค CNP ได้ที่นั่ง 125 ที่นั่ง หลังจากที่ศาลกัมพูชาสั่งยุบพรรค CNRP ตามมาด้วยการจับกุมหัวหน้าพรรค สมาชิกพรรคลี้ภัยออกไปต่างประเทศ รวมทั้ง สม รังสี อดีตหัวหน้าพรรค CNRP
เท่ากับเป็นการปิดฉากพรรคฝ่ายค้านพรรคนี้ไปอย่างถาวร จนมาถึงการเลือกตั้งครั้งปัจจุบัน ซึ่งซ้ำรอยเดิมที่พรรคแสงเทียนไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หรือไม่เปิดโอกาสให้เกิดการแข่งขันจากพรรคอื่น ๆ โดยใช้บทเรียนจากการเลือกตั้งในปี 2013 กรณีของพรรค CNRP
อย่างไรก็ตาม คำประกาศของ สมเด็จฮุน เซน ที่ว่า “จะไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป” นั้น มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมาว่า การถ่ายโอนอำนาจทางการเมืองไปสู่บุคคลในครอบครัว อาจจะไม่เกิดขึ้นเฉพาะตระกูลของท่านผู้นำฮุน เซน แต่เพียงตำแหน่งเดียว
แต่มันอาจจะขยายวงไปถึงผู้นำทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับสมเด็จฮุน เซน ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งกระทรวงสำคัญ ๆ ที่บุคคลผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในกระทรวงเหล่านั้น ซึ่งล้วนแล้วแต่นั่งอยู่ในเก้าอี้มาอย่างยาวนานเช่นกัน
หากความเคลื่อนไหวในการถ่ายโอนอำนาจในตำแหน่งสำคัญ ๆ เกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นการถ่ายโอนอำนาจในตระกูลหรือในครอบครัวก็ตาม แต่เท่ากับว่า การเมืองของกัมพูชากำลังจะเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
กล่าวคือจะเป็นยุคสมัยของคนหนุ่มในวัย 40 ขึ้นไปที่จะเข้ามาบริหารประเทศ สืบต่อจากกลุ่มผู้นำรุ่นเก่าที่จะต้องวางมือหรือถอยออกไป มีแต่ยังคงกำกับดูแลในช่วงของการเปลี่ยนผ่านอยู่เบื้องหลังไปอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้แน่ใจในกลุ่มลูกหลาน จะสามารถนำพาประเทศต่อไป โดยปราศจากการท้าทายของกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ในประเทศ