เปิดกฎเหล็ก รับเงินบริจาคต่างชาติ พลังประชารัฐจะถูกยุบพรรคได้หรือไม่

พรรคพลังประชารัฐ

พรรคพลังประชารัฐ หวาดเสียวที่จะถูกโดนเล่นงาน ถึงขั้นถูกยุบพรรค เมื่อปรากฏว่า “ชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์” เจ้าของผับดังย่านยานนาวา ที่มีคนจีน 100 กว่าคน เข้าไปมั่วสุมยาเสพติด

ชื่อของเขาอยู่ในบัญชีผู้บริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ 3 ล้านบาท และ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ ยอมรับเองว่า เจ้าของผับดังกล่าวเคยบริจาคเงินให้พรรคพลังประชารัฐ 3 ล้านบาท

ตรงกับข้อมูลเงินบริจาคบนเว็บไซต์ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พบว่า “ชัยณัฐร์” บริจาคเงินเข้าพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เป็นจำนวนเงิน 3 ล้านบาท

แต่ที่กลายเป็นประเด็นเพราะ “ชัยณัฐร์” เจ้าของผับดัง มิได้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ก่อนหน้าที่เขาจะได้รับสัญชาติไทย ชื่อเดิมของเขาคือ “หาวเจ๋อ ตู้”

ต่อมาได้รับสัญชาติไทยหลังจดทะเบียนสมรสกับหญิงไทย ข่าวที่ปรากฏตามรายงานของสื่อมวลชน ระบุว่า หญิงไทยคนดังกล่าวเป็นตำรวจหญิง มีศักดิ์เป็นหลานอดีตนายตำรวจยศชั้นนายพล และเป็นนักการเมืองรัฐบาลในอดีต

ปัญหาที่จะตามมาคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 มาตรา 74 (1) ระบุว่า ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

โยงกับมาตรา 92 (3) ของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ที่กำหนดว่า เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการฝ่าฝืนมาตรา 74 ให้ยื่นยุบพรรคการเมืองนั้น

อีกหนึ่งปัญหาคือ เงินที่พรรคพลังประชารัฐรับบริจาคมาเข้าข่าย “เงินสีเทา” หรือไม่ เนื่องจาก พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 มาตรา 72 กำหนดชัดเจนว่า ห้ามพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด “โดยรู้” หรือ “ควรจะรู้” ว่าได้มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ถ้าฝ่าฝืนมาตรา 72 โทษก็ไม่ต่างกันคือ ให้ กกต.ยื่นยุบพรรคการเมืองที่ทำผิด

กกต.จับผิด-ยื่นยุบพรรคได้เอง

“สมชัย ศรีสุทธิยากร” ประธานยุทธศาสตร์และนโยบายพรรคเสรีรวมไทย อดีต กกต.ผู้ซึ่งตรวจสอบรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง และ กฎหมายพรรคการเมืองทุกมาตราแบบทะลุปรุโปร่ง จึงเรียกร้องให้ กกต.ดำเนินการตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ

ถ้า กกต.รู้ร้อนรู้หนาว เกี่ยวกับกรณีเงินบริจาค 3 ล้านของ พปชร.ที่อาจจะเชื่อมโยงกับธุรกิจผิดกฎหมาย หรือผู้บริจาคอาจเป็นคนต่างชาติ

กกต.สามารถสั่งการให้นายทะเบียนพรรคการเมือง คือเลขาธิการ กกต. สอบข้อเท็จจริงได้ทันที โดยไม่ต้องมีผู้ร้อง

นายทะเบียนพรรคการเมืองสามารถตรวจหลักฐานเงินบริจาคของพรรคการเมืองได้ และขอตรวจสอบสัญชาติผู้บริจาคจากกระทรวงมหาดไทย และขอตรวจสอบเส้นทางทางการเงินจาก ปปง.

หากพบการกระทำผิดกฎหมาย ตามมาตรา 72 (รับเงินสีเทา) มาตรา 74 (รับเงินต่างชาติ) นายทะเบียนสามารถนำเรื่องเข้าที่ประชุม กกต.เพื่อมีมติ ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นด้วย สามารถมีคำวินิจฉัยยุบพรรค และตัดสิทธิสมัครเลือกตั้งตลอดชีวิตแก่กรรมการบริหารพรรคที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวได้ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (3)

“และสุดท้ายหาก กกต.ไม่รู้ร้อนรู้หนาว ก็อาจมีความผิดตามกฎหมายอาญามาตรา 157 และถูกร้องต่อ ป.ป.ช.ประเด็นจริยธรรมของ กกต.ได้” เป็นความเห็นของ “สมชัย”

กติกาห้ามรับเงินต่างชาติ

ต้องย้อนไปกฎหมายพรรคการเมืองฉบับแรก เป็นฉบับ 2489 ยุค จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ออกกฎหมายที่ห้ามบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทยบริจาคเงินให้พรรคการเมือง แต่ครั้งนั้นไม่มีโทษถึงขั้น “ยุบพรรค”

โดยปรากฏอยู่ในมาตรา 16 ระบุว่า

“บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยผู้ใด ให้เงินหรือทรัพย์สินแก่พรรคการเมืองก็ดี สมัครเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และให้ศาลสั่งให้ริบเงินหรือทรัพย์สินนั้นด้วย”

แต่การรับเงินต่างชาติมาทำพรรคการเมือง มีโทษถึงการ “เลิกพรรค” โดยศาลฎีกา ปรากฏในพระราชบัญญัติพรรคการเมืองในฉบับต่อมา ทั้ง

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2511 ในมาตรา 23 ยุคจอมพลถนอม กิตติขจร เปิดให้มีการเลือกตั้ง

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2517 ในมาตรา 28 ยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา

พระราชบัญญัติพรรคการเมือง 2524 ในมาตรา 40 ยุคที่ พล.อ.เปรม ตินสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามที่นำไปสู่การเลิกพรรค เรื่องห้ามพรรคมิให้พรรคการเมือง หรือสมาชิกผู้ใดรับเงิน ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อกระทำการ หรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดินหรือกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

ซึ่งสถานการณ์การเมืองขณะนั้นอยู่ในช่วงสงครามเย็น ผู้มีอำนาจหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ จึงบัญญัติข้อห้ามพรรคการเมืองดังกล่าวไว้ในพระราชบัญญัติพรรคการเมือง แต่ละฉบับมีถ้อยคำที่ต่างกันไป

จนข้ามมาถึงรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ “ยกเครื่องการเมือง” จาก พระราชบัญญัติพรรคการเมืองมาเป็น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง

และโทษจากการ “เลิกพรรคการเมือง” โดยคำวินิจฉัยของศาลฎีกา ก็มาสู่การ “ยุบพรรคการเมือง” โดยการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

ใน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2541 บัญญัติเรื่องการห้ามรับเงินต่างชาติไว้ทำนองเดียวกับพระราชบัญญัติพรรคการเมืองในฉบับก่อน ๆ

มาตรา 53 (1) ห้ามพรรคการเมืองหรือสมาชิกรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือดำเนินกิจการในทางการเมืองจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

เช่นเดียวกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2550 บัญญัติไว้ในมาตร 69 (1) ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับบริจาคเพื่อดำเนินกิจการของพรรคการเมืองจาก บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย

ขณะที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 หรือฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน จะบัญญัติเรื่องดังกล่าวไว้ในมาตรา 74 (1)

ทว่า มีสิ่งที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 extra ไปจากกฎหมายพรรคการเมืองในอดีต คือมาตรา 72  ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้ หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หรือให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า “ห้ามรับเงินสีเทา”

และมาตรา 72 นี่เองที่เป็นหนึ่งในชนวนยุบพรรคอนาคตใหม่ ปมเงินบริจาคของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

งานนี้พรรคพลังประชารัฐ ไม่หนาว ก็ต้องร้อน ชะตากรรมซ้ำรอยอนาคตใหม่หรือไม่