ประยุทธ์ มัดจำหัวคะแนน 4 แสนคน ลุ้นขึ้นเงินเดือน อบต.รับเลือกตั้ง66

พล.อ.ประยุทธ์

คำขอขึ้นเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง-เงินพิเศษ นายก อบต. 5,300 แห่ง กลายเป็นตำบลกระสุนตกลงกลางทำเนียบรัฐบาลจากคู่แข่ง พรรคการเมืองฝ่ายค้าน

เผือกร้อนใส่มือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สวมหมวกสมาชิกพรรค-ว่าที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีรวมไทยสร้างชาติ ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรคการเมืองเดียวกันนั่งอยู่บนห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า เพราะถูกตั้งคำถาม-คำครหา หาเสียงในฤดูเลือกตั้ง ซื้อใจหัวคะแนนท้องถิ่น-ทับซ้อนผลประโยชน์บ้านใหญ่

“งั้นก็ไม่ต้องทำอะไรเลยมั้ง ถ้าเขาทำได้แล้วมันผ่านหลักเกณฑ์ ผ่านกติกาถูกต้อง เขาก็ทำได้ งั้นก็กลายเป็นว่า ทุกอย่างไม่ต้องทำอะไรเลยดิ เลือกตั้งพฤษภาฯเลยล่ะมั้ง รักษาการ กว่าจะได้รัฐบาลอีกเท่าไหร่ ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย นั่งเฉย ๆ เอาไหมล่ะ ก็ทำเท่าที่ทำได้”

โรดแมปเพิ่มเงิน อบต.

เส้นเงินค่าตอบแทน อบต.เริ่มจากถนนซอยอารีย์ สำนักงานพรรครวมไทยสร้างชาติ วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 66 นายวิระศักดิ์ ฮาดดา นายกสมาคม อบต.แห่งประเทศไทย เข้าพบนายพีระพันธุ์ ติดตามความคืบหน้าข้อเรียกร้องขึ้นค่าตอบแทนในรอบ 15 ปี ให้นายก อบต. 5,300 แห่ง-สมาชิก อบต.ทั่วประเทศ 4 แสนคน

เป็นการเข้าพบก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย จะนั่งหัวโต๊ะคณะกรรมการกลั่นกรองกฎหมายในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 66

โดยในวันที่ 1-3 มีนาคม สมาคม อบต.เตรียมสัมมนาใหญ่ จ.อุดรธานี จัดอีเวนต์ให้ พล.อ.ประยุทธ์ไปเป็นประธาน-ขึ้นเวทีแถลงผลงานชิ้นโบแดง

“ไม่เคยสำเร็จจึงมารวมพลังยื่นครั้งสุดท้ายต่อ พล.อ.อนุพงษ์ ที่ จ.เชียงใหม่ เมื่อปีที่ผ่านมาเรื่องก็เงียบอีก ไม่รู้ด้วยเหตุผลใด จึงมาตามเรื่องกับนายพีระพันธ์อีกครั้งหนึ่ง รับปากแล้วทำให้เลย” นายกสมาคม อบต.แห่งชาติแบกหน้า-แบกความหวังสมาชิก อบต. 4 แสนชีวิต

ทั้งนี้ สำหรับบัญชีอัตราค่าตอบแทน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายก อบต. พ.ศ. 2554 ประกาศเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2554 นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รมว.มหาดไทย ลงนามมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2554 ดังนี้

เปิดบัญชีเงินค่าตอบแทน อบต.

รายได้เกิน 50 ล้านบาท นายก อบต. ค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ 22,080 บาท เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 2,000 บาท เงินตอบแทนพิเศษ เดือนละ 2,000 บาท รวมเดือนละ 26,080 บาท

รองนายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 12,140 บาท เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 1,000 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 1,000 บาท รวมเดือนละ 14,140 บาท

เงินค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ ของประธานสภา อบต. 12,140 บาท รองประธานสภา อบต. 9,930 บาท สมาชิกสภา อบต. 7,920 บาท เลขานุการนายก อบต. 7,920 บาท เลขานุการสภา อบต. 7,920 บาท

รายได้เกิน 25-50 ล้านบาท นายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 21,120 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,900 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 1,900 บาท รวมเดือนละ 24,920 บาท

รองนายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 11,610 บาท เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 950 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 950 บาท รวมเดือนละ 13,510 บาท

เงินค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ ของประธานสภา อบต. 11,610 บาท รองประธานสภา อบต. 9,500 บาท สมาชิกสภา อบต. 7,560 บาท เลขานุการนายก อบต. 7,560 บาท เลขานุการสภา อบต. 7,560 บาท

รายได้เกิน 10-25 ล้านบาท นายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 20,400 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,750 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 1,750 บาท รวมเดือนละ 23,900 บาท

รองนายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 11,220 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 880 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 880 บาท รวมเดือนละ 12,980 บาท

เงินค่าตอบแทนรายเดือน ของ ประธานสภา อบต. 11,220 บาท รองประธานสภา อบต. 9,180 บาท สมาชิกสภา อบต. 7,200 บาท เลขานุการนายก อบต. 7,200 บาท เลขานุการสภา อบต. 7,200 บาท

รายได้เกิน 5-10 ล้านบาท นายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 19,680 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,600 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 1,600 บาท รวมเดือนละ 22,880 บาท

รองนายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 10,820 บาท เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 800 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 800 บาท รวมเดือนละ 12,420 บาท

เงินค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ ของ ประธานสภา อบต. 10,820 บาท รองประธานสภา อบต. 8,850 บาท สมาชิกสภา อบต. 6,880 บาท เลขานุการนายก อบต. 6,880 บาท เลขานุการสภา อบต. 6,880 บาท

รายได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท นายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 18,960 บาท เงินประจำตำแหน่งเดือนละ 1,450 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 1,450 บาท รวมเดือนละ 21,860 บาท

รองนายก อบต. ค่าตอบแทนเดือนละ 10,420 บาท เงินประจำตำแหน่ง เดือนละ 730 บาท เงินตอบแทนพิเศษเดือนละ 730 บาท รวมเดือนละ 11,880 บาท

เงินค่าตอบแทนรายเดือน เดือนละ ของ ประธานสภา อบต. 10,420 บาท รองประธานสภา อบต. 8,530 บาท สมาชิกสภา อบต. 6,630 บาท เลขานุการนายก อบต. 6,630 บาท เลขานุการสภา อบต. 6,630 บาท

ปรับขึ้นเงิน อบต. ครั้งล่าสุด 2557

แต่ต่อมาการขึ้นเงินเดือน อบต.ล่าสุด ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทน อบต.ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557 ประกาศวันที่ 26 มิถุนายน 2557 นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทน รมว.มหาดไทยลงนาม ทั้งนี้ ให้ยกเลิกบัญชีอัตราเงินเดือน-ค่าตอบแทน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายก อบต.ฯ พ.ศ. 2554

และให้ใช้ตามความต่อไปนี้แทน ‘รายได้ของ อบต. หมายถึง รายได้ตามงบการเงินประจำปี (งบแสดงผลการดำเนินงานที่จ่ายจากเงินรายรับ) ของปีงบประมาณที่แล้วมา ทั้งนี้ ไม่รวมเงินกู้ เงินสะสม และเงินอุดหนุนทุกประเภท ใช้เป็นฐานในการคำนวณอัตราเงินเดือนและค่าตอบแทนในการจัดงบประมาณรายจ่ายประจำปีและการจ่ายเงินเดือนและค่าตอบแทน”

จากระบบค่าตอบแทนรายเดือน เงินประจำตำแหน่งต่าง ๆ ตายตัว เปลี่ยนมาเป็นรายได้เงินเดือนและค่าตอบแทน ขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต.นั้น ๆ

แหล่งข่าวในกระทรวงมหาดไทย ยกตัวอย่างข้อเรียกร้องของ อบต.ที่ต้องการปรับค่าตอบแทนคือ อบต.ต้องการให้มีรายได้ค่าตอบแทนเท่าเทศบาลตำบล ตัวอย่างเช่น อบต.แห่งหนึ่งมีรายได้ 200 ล้าน ก็ควรจะมีค่าตอบแทนเท่าเทศบาลตำบลที่มีรายได้ 200 ล้านเหมือนกัน เพราะก่อนหน้านี้ อบต.กับ เทศบาลตำบลที่บริหารเงินเท่ากัน แต่ค่าตอบแทนยังต่างกันอยู่ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยเตรียมปรับตามข้อเรียกร้อง

เคยขึ้นค่าตอบแทน อบต. 5 ครั้ง

ทำให้ที่ผ่านมาขึ้นค่าตอบแทนอย่างน้อย 5 ครั้ง ครั้งที่ 1 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทน อบต.ฯ พ.ศ. 2547 ครั้งที่ 2 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทนอบต.ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548

ครั้งที่ 3 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทน อบต.ฯ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2553 ครั้งที่ 4 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทน อบต. พ.ศ. 2554

และครั้งที่ 5 ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยเงินค่าตอบแทน อบต.ฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2557

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเงินๆ ของ อปท.ที่เป็นท่าไม้ตายในการใช้งบของรัฐบาล คือ การใช้เงินสะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างน้อย 3 ครั้งที่มีการพูดถึงการล้วงเงินสะสมของ อปท.

ครั้งแรก มติ ครม.เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2559 เห็นชอบหลักการมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายของ อปท. เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ อปท. นำเงินสะสมมาใช้จ่ายในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น

ครั้งที่สอง การประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท. เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่น

ครั้งที่สาม ศบค.ให้อำนาจกระทรวงมหาดไทยออกหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ มท 0808.2/ว 1608 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2563 เพื่อใช้จ่ายเงินสะสม หรือ ขอความตกลงกับผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อนำเงินทุนสำรองเงินสะสมมาใช้ซื้อวัคซีนโควิด-19

ลุ้นขึ้นเงินเดือนรับฤดูเลือกตั้ง 2566

ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง กลไกฝ่ายปกครองถือเป็น “อาวุธ” ของฝ่ายที่กุมอำนาจ ทั้ง กลไกกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ ผู้ว่าราชการจังหวัด

การอนุมัติขึ้นค่าตอบแทน อบต.จึงมีความหมายอย่างยิ่งในทางการเมือง

งานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เป็นกองหนุน ได้คะแนนจากฐานเสียง อบต.ไปเต็ม ๆ