ราชกิจจาฯเผยแพร่ หลักเกณฑ์ปิดประกาศ ติดแผ่นป้ายหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส.

ประกาศราชกิจจานุเบกษา-ราชกิจจาฯ ประกาศ

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ กกต. หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และสถานที่ติดแผ่นป้ายเลือกตั้ง ส.ส. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป

วันที่ 13 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ลงนามโดยนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง

สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำสถานที่ปิดประกาศเกี่ยวกับการเลือกตั้งและสถานที่ติดแผ่นป้ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ให้มีความสอดคล้องกับกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ส่วนประกาศฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นต้นไป)

ทั้งนี้ การจัดทำประกาศ การกำหนดสถานที่ และการจัดสถานที่ปิดประกาศ กำหนดให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง จัดทำประกาศมีขนาดกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร และขนาดความสูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดของประกาศ โดยผู้สมัครและพรรคการเมือง จัดทำประกาศได้ไม่เกินสองเท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น

การจัดทำประกาศสามารถระบุชื่อ รูปถ่าย หมายเลขประจำของตัวผู้สมัคร ชื่อของพรรคการเมือง สัญลักษณ์ของพรรคการเมือง นโยบายของพรรคการเมือง คติพจน์ คำขวัญหรือข้อมูลประวัติเฉพาะที่เกี่ยวกับตัวผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย หรือคิวอาร์โค้ด นอกจากภาพของผู้สมัครแล้ว สามารถใส่ภาพของผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองใดเท่านั้น

ส่วนวิธีปิดประกาศให้เป็นไปตามที่หัวหน้าหน่วยงานกำหนด โดยให้นายอำเภอกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่นกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานเขต แขวง หมู่บ้าน หรือชุมชน และหัวหน้าหน่วยงานกำหนดสถานที่ปิดประกาศ ณ ที่ตั้งของหน่วยงาน ทั้งนี้หากผู้สมัครหรือพรรคการเมืองปิดประกาศไม่ถูกต้อง ให้หัวหน้าหน่วยงานมีอำนาจสั่งผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแก้ไขภายใน 5 วัน

ประกาศ กกต.ฉบับนี้ยังกำหนด เรื่องการจัดทำแผ่นป้ายของผู้สมัครและพรรคการเมือง ต้องมีขนาดกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร และขนาดความยาวไม่เกิน 245 เซนติเมตร พร้อมระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้ว่าจ้าง ผู้ผลิต จำนวน และวันเดือนปีที่ผลิตไว้บริเวณที่เห็นได้ชัดเจนของแผ่นป้าย โดยผู้สมัครจัดทำได้ไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น ขณะที่พรรคการเมืองจัดทำแผ่นป้ายได้ไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในจังหวัดนั้น

การติดแผ่นป้ายจะต้องไม่ติดทับซ้อนหรือปิดบังแผ่นป้ายของผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองอื่น และให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประสาน หรือหารือกับหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เพื่อกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายและออกประกาศกำหนดสถานที่ติดแผ่นป้ายก่อนวันปิดสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งกรณีการที่ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองติดแผ่นป้ายไม่ถูกต้อง ให้ยึดตามการปิดประกาศ คือแจ้งแก้ไขภายใน 5 วัน

อย่างไรก็ตาม ผู้สมัครและพรรคการเมืองอาจติดแผ่นป้ายที่ทำการพรรค หรือสาขาพรรคการเมือง หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือศูนย์อำนวยการเลือกตั้งได้เขตเลือกตั้งละ 1 แผ่น ที่มีขนาดกว้างไม่เกิน 400 เซนติเมตร และยาวไม่เกิน 750 เซนติเมตร

ประกาศ กกต. ติดป้ายหาเสียง

ดูประกาศฉบับเต็มที่นี่