สมศักดิ์-สามมิตร รีเทิร์นเพื่อไทย 4 ทศวรรษ ตำนานไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน

สามมิตร

สมศักดิ์ เทพสุทิน-สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร เก็บข้าวของย้ายฝั่งจากพรรคพลังประชารัฐ ไปซบอกพรรคเพื่อไทย (อีกครั้ง) หลังจากส่งลูกน้องในสังกัดไปนั่งเป็น “ว่าที่ผู้สมัคร” ของพรรคหลายราย

“สมศักดิ์” ลั่นวาจาเอาไว้เมื่อวันที่ 7 มีนาคมว่า “ผมไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ในขณะที่เป็น ส.ส.”

เมื่อแนวโน้มทางการเมืองในวันข้างหน้าขมุกขมัว-หวยออกได้หลายหน้า กลุ่มสามมิตรจึงกระจายกำลังฝากเลี้ยงไว้ 3 พรรค ทั้งพรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ และแกนนำที่จะย้ายไปพรรคเพื่อไทย

หมากเกมนี้ สามมิตร วิน-วิน ทุกหน้า ตามแบบฉบับเส้นทางการเมือง 4 ทศวรรษที่ไม่เคยเป็นฝ่ายค้านของ “สมศักดิ์” เส้นทางการเมืองของ “สมศักดิ์” นับจากสวมเสื้อ “กิจสังคม” ไต่เต้าขึ้นมาจนก้าวเข้าสู่ตำแหน่งเลขาธิการพรรค สัมผัสตำแหน่งรัฐมนตรีมาในหลายยุค ทั้งยุคของ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ชวน หลีกภัย 1 และ 2) รัฐบาลพรรคความหวังใหม่ และรัฐบาลพรรคไทยรักไทย

ครองเก้าอี้ตั้งแต่รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข รมว.อุตสาหกรรม รมว.เกษตรและสหกรณ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมว.แรงงาน รมช.คมนาคม

พลันที่พรรคไทยรักไทย ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค “สมศักดิ์” ไปจับมือกับ “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ก่อกำเนิดพรรคมัชฌิมาธิปไตย พร้อมกับวางตัว “ประชัย” เป็นหัวหน้าพรรค แต่แล้วเกิดความวุ่นวายภายในพรรค

จนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีมติให้ “ประชัย” พ้นจากการเป็นหัวหน้าพรรค ก่อนที่ “อนงค์วรรณ เทพสุทิน” ภรรยาของ “สมศักดิ์” เป็นหัวหน้าพรรคแทน โดยมี “พรทิวา นาคาศัย” เป็นเลขาธิการพรรค

พรรคมัชฌิมาธิปไตยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน ในยุคที่มี “สมัคร สุนทรเวช” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้โควตา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอยู่ในการครอบครอง

แต่เมื่อสุดท้ายพรรคพลังประชาชนถูกยุบพรรค จากกรณีพิษใบแดงของ “ยงยุทธ ติยะไพรัช” ไม่ต่างจาก “พรรคมัชฌิมาธิปไตย” ก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคเช่นกัน เนื่องจากกระทำการผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การยุบพรรค “มัชฌิมาธิปไตย” ทำให้ “สมศักดิ์” ต้องหาทางรอด ด้วยการจับมือกับกลุ่มเพื่อนเนวิน ของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่แตกตัวจากพรรคเพื่อไทย มาร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์์

ก่อนตกผลึกร่วมกัน ก่อกำเนิดพรรคภูมิใจไทย ขึ้นมา และร่วมรัฐบาล “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เป็นเวลากว่า 2 ปี

กลุ่ม “มัชฌิมา” ได้ครองเก้าอี้ รมว.พาณิชย์ และ รมช.สาธารณสุข แต่ถูกหั่นโควตา เหลือ รมว.พาณิชย์ เพียงเก้าอี้เดียว ก่อนที่ “อภิสิทธิ์” จะประกาศยุบสภา ในวันที่ 9 พฤษภาคม

พลันเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 พรรคภูมิใจไทยได้เพียง 34 ที่นั่ง หลุดเป้าจากที่วางไว้ 70 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทยกลายเป็น “ฝ่ายค้าน” ร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์

ข่าว “สมศักดิ์” และพวก เรื่องการย้ายพรรคดังหนาหูขึ้นมาทันที ก่อนที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโหวตให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี

หลังจาก “ยิ่งลักษณ์” ตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ แม้กลุ่ม “มัชฌิมา” ของ “สมศักดิ์” ยังเป็นส่วนหนึ่งของพรรคภูมิใจไทยในฝ่ายค้าน แต่คำพูดของ “สมศักดิ์” ที่บอกว่า “ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ขณะที่เป็น ส.ส.” ก็เป็นเรื่องจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธ

เพราะระหว่างที่พรรคภูมิใจไทยเป็นฝ่ายค้าน “สมศักดิ์” ยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ติดกับดักบ้านเลขที่ 111 กรณีที่ยุบพรรคไทยรักไทย

ขณะที่กรรมการบริหารพรรคมัชฌิมาธิปไตย 29 คน ก็ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ติดกับดักบ้านเลขที่ 109 จากเหตุการณ์ยุบพรรคพร้อมกับพรรคพลังประชาชน 2 ธันวาคม 2551

แม้กลุ่มของสมศักดิ์มีแค่ 7 เสียงในสภาภายใต้พรรคภูมิใจไทย แต่ความสัมพันธ์ทางการเมือง เชื่อมต่อกับพรรคเพื่อไทย เป็นกึ่งเอกเทศจากพรรคภูมิใจไทย หลายครั้งที่กลุ่ม “สมศักดิ์” ยกมือสนับสนุนรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย

แล้วเมื่อ “สมศักดิ์” พ้นการตัดสิทธิการเมืองไปตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ลูกน้องติดบ้านเลขที่ 109 พ้นบ่วงในวันที่ 2 ธันวาคม 2556 ทุกอย่างไม่มีอะไรต้องปิดบัง กลุ่มของสมศักดิ์พร้อมอพยพไปอยู่กับพรรคเพื่อไทย

เป็นจังหวะเดียวกับที่ “ยิ่งลักษณ์” ประกาศยุบสภา จากพิษนิรโทษกรรมสุดซอย ทำให้ ส.ส.กลุ่มมัชฌิมาที่อยู่ในสภา ได้โอกาสลาออกจากพรรคภูมิใจไทย ในวันที่ 10 ธันวาคม 2556 โดยไม่ต้องคำนึงสถานะ ส.ส.

17 ธันวาคม 2556 คือวันดีเดย์ที่ “สมศักดิ์” นำทีมมัชฌิมา ซบอกพรรคเพื่อไทย โดยการต้อนรับของ “จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ” หัวหน้าพรรคเพื่อไทยขณะนั้น และ “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค

แต่ยังไม่ทันมีบทบาททางการเมืองในนามพรรคเพื่อไทย ก็เกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

เกือบ 10 ปีผ่านไป “สมศักดิ์” แอนด์เฟรนด์ในนาม “สามมิตร” จะกลับเข้าพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง